ทั้งที่นิพพานเป็นอุดมคติของชาวพุทธ แต่ชาวพุทธจำนวนมากก็ละทิ้งอุดมคตินี้ไป หวังแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า หวังแต่ความสุขในชีวิตนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นหลักประกันที่ยั่งยืนเลย มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ก็ใช่ว่าจะไม่ทุกข์ อายุร้อยปีก็ยังทุกข์ ทุกข์เพราะลูก ทุกข์เพราะหลาน ร่ำรวยเป็นหมื่นล้านก็ยังกลุ้มใจ หวาดกลัวความตายอยู่นั่นเอง
แม้อายุ วรรณะ สุขะ พละ จะไม่ได้เป็นหลักประกันความสุขที่แท้จริง แต่ชาวพุทธไทยเราก็หวังแค่นี้ ทั้งที่มนุษย์เราสามารถที่จะไปให้ไกลกว่านั้นได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “โลกุตรธรรมอันประเสริฐเป็นทรัพย์ประจำตัวของทุกคน” พูดง่าย ๆ ว่าเราทุกคนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงโลกุตรธรรมได้ แต่เรากลับปฏิเสธ เราละเลยที่จะใช้ศักยภาพนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพนี้อยู่ และที่สำคัญคือเราไม่คิดว่าความสุขระดับโลกุตระสำคัญกว่าความสุขแบบโลก ๆ หรือกามสุข “จะให้ทิ้งความสุขทางวัตถุเพื่อไปนิพพานน่ะหรือ…ฉันไม่อยากไปหรอก” ทั้งที่รู้ว่านิพพานประเสริฐ แต่เรายังติดในรสชาติความสุขทางกามอยู่ เมื่อใจไม่คล้อยไปทางนิพพานก็เลยไม่เห็นคุณค่า เมื่อไม่เห็นคุณค่าก็ไม่ตั้งไว้เป็นอุดมคติของชีวิต
เช่นนี้นับว่าผิดจากในอดีต ชาวพุทธแต่ไหนแต่ไรมานั้นถือว่านิพพานเป็นอุดมคติของชีวิต ปู่ย่าตายายของเราเวลาทำบุญเสร็จเขาไม่ขออะไรมาก เขาขอแค่ว่า “นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ” (ขอให้ผลบุญนี้จงเป็นปัจจัยเพื่อบรรลุนิพพาน) หรืออย่างน้อยก็ขอให้ได้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ เพื่อจะได้ไปนิพพาน
แม้อาตมาจะไม่ค่อยแน่ใจว่า นิพพานของคนเฒ่าคนแก่นั้นหมายถึงอะไร อาจหมายถึงเมืองแก้วหรือสวรรค์ชั้นสูงสุด หรือหมายถึงภาวะที่อยู่เหนือสวรรค์ก็ได้ แต่คำอธิษฐานนั้นก็แสดงให้เห็นว่าเขาไม่เห็นว่าความสุขทางวัตถุหรือความสุขแบบโลก ๆ เป็นความสุขที่แท้ แต่เห็นว่ามีความสุขที่ประเสริฐกว่านั้น เป็นความสุขสงบเย็นทางใจ ซึ่งเขาห็นว่ามีความสำคัญกว่า และดังนั้น จึงยึดถือเป็นอุดมคติของชีวิต
อาตมาว่าปู่ย่าตายายของเราฉลาดนะ เขารู้ว่าชีวิตนี้ให้อะไรได้มากกว่าเงินทองหรือความมั่งมี แต่คนสมัยนี้กลับมองประโยชน์จากชีวิตนี้ด้วยสายตาที่สั้น เราคิดว่ามีความร่ำรวย มีอำนาจวาสนาเท่านี้ก็พอแล้ว เปรียบเหมือนคนที่สามารถเรียนต่อถึงปริญญาเอกได้ แต่จบแค่ ป.6 ก็เลิกเรียนแล้ว พอจะทำมาหากินได้แล้วจะไปเรียนปริญญาตรี ปริญญาเอกไปทำไม…เสียเวลา เหนื่อยเปล่า
คิดแบบนี้เรียกว่าคิดสั้น…แต่นี่คือสิ่งที่คนสมัยนี้คิดกัน เราคิดกันแบบแคบ ๆ สั้น ๆ ไหว้พระทำบุญแค่หวังอยากจะรวย ไม่ได้ปรารถนานิพพานหรือความสุขที่จริงแท้ไปกว่านั้น
ที่มา นิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้ โดย 4 พระผู้นำทางปัญญาแห่งยุคสมัย สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ