ความดีและความยุติธรรม

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : เรายังเชื่อถือใน ความดีและความยุติธรรม ได้หรือไม่

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : เรายังเชื่อถือใน ความดีและความยุติธรรม ได้หรือไม่

ถาม : พระอาจารย์คะ ทำไมคนดีถึงถูกแกล้งจนอยู่ไม่ได้ ส่วนคนชั่วมีหน้ามีตา รวยเอา ๆ ตกลงว่าในเมื่อเป็นคนดีแล้วไม่มีที่อยู่ แบบนี้เรายังควรเชื่อถือในความดีอยู่ไหมคะ

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ  พระวิปัสสนาจารย์ที่เน้นสอนด้านการปฏิบัติ โดยสอนที่พุทธิกสมาคมฯ  ได้ตอบปัญหาเรื่อง “ความดีและความยุติธรรม” นี้ไว้ว่า

ตอบ : เชื่อสิ เรายังต้องเชื่อมั่นในความดีนะ เอาอย่างนี้ ถ้าอยากให้คนดีมีที่อยู่ เราก็ลงมือทำสิ ทำดีก็ทำไป ไม่ต้องทำดีเพื่อใคร กับใคร ความดีอย่างไรมันก็ดี เช้าสายบ่ายเย็นมันก็ดี ไม่ต้องรอให้ใครเห็น ถ้าได้ทำดีแล้ว อย่างน้อยก็ทำให้คุณงามความดีเกิดขึ้นในโลก ไม่ให้หมดไปจากโลก แค่นี้คนดีก็มีที่อยู่แล้ว คืออยู่บนโลก…

ถึงแม้อาจจะดูว่าคนดีมีเหลือน้อย แต่ก็ยังเหลืออยู่หนึ่ง คือเราแน่นอน หากทำได้อย่างนี้ จะได้รับผลทันที มีความสบายใจ โล่งใจว่าเราก็ได้ทำแล้ว ถึงข้างหน้าต่อให้มีใครมาทำไม่ดีอะไร เรายังคงต้องทำดีต่อไป เพราะเขาทำให้ความไม่ดีเกิดขึ้นแล้ว ตอนนั้นโลกขาดธรรมแล้ว ถ้าเราไปทำไม่ดีอีก โลกก็ไม่มีธรรม โลกคงระเบิดแน่ ทุกคนยิงกันตาย…นรกแตก แบบที่เขาเรียกว่า ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ ดังนั้น เรามีเพียงช้อยส์เดียวคือทำดีเท่านั้น the one and only ไม่มีทางเลือกอื่น!

ถาม : แล้วความยุติธรรมล่ะคะ ยังมีอยู่ในโลกหรือเปล่า ทำไมดูข่าวทีไรก็เจอแต่ความอยุติธรรม…

ตอบ : มีสิ ทำไมจะไม่มี แต่เพราะคนมันขาดธรรม ในใจคนไม่มีธรรม ความยุติธรรมถึงไม่มีในโลก…

อธิบายง่าย ๆ เลยนะ เราแบ่งระบบการตัดสินถูกผิดออกมาได้ 3 ระบบ คือ ระบบโลก ระบบกรรม และ ระบบธรรม ถ้าเป็นระบบโลกที่ไม่มีธรรม “ยุติ” ก็จะไม่เกิดขึ้น ส่วนระบบกรรมนั้นเป็นระบบการตัดสินที่เที่ยงตรงที่สุด ไม่มีใครหนีพ้นผลจากกรรมไปได้ ได้รับคุณรับโทษกันถ้วนหน้า จึงถือว่าเป็นระบบตัดสินที่ยุติธรรมมาก ๆ ส่วนอีกระบบที่เหลือที่เราจะพูดถึงคือ ระบบธรรม ธรรมไม่เคยหายไปไหน ความถูกต้องดีงามยังมีอยู่ตลอด แต่คนต่างหากที่ไม่มีธรรมประจำใจ โลกถึงขาดธรรม พอคนขาดธรรม ก็ต้องมาพูดคำว่า ความยุติธรรมไม่มีในโลก เวลาเกิดปัญหา พอใช้ธรรมแก้ ทุกอย่างจะ “ยุติ” ความยุติธรรมถึงจะบังเกิดขึ้นบนโลก

จริง ๆ แล้ว จิตทั้งหมดมาจากธรรม ธรรมคือธรรมชาติ คือความถูกต้องดีงาม ดังนั้น ถ้าใช้ธรรมในการแก้ปัญหา ลึก ๆ จิตทุกดวงจะรับได้ เรื่องก็จบอย่างสงบร่มเย็น แต่ถ้า “ทำ” ให้ “ยุติ” เรื่องจะจบก็เหมือนไม่จบ ดังนั้น กระทรวงที่ทำเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรม จึงตั้งชื่อว่า “กระทรวงยุติธรรม” คือให้ “ยุติ” โดยใช้ “ธรรม” ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาแบบไม่จบไม่สิ้น

ดังนั้นตามหลักแล้ว ผู้พิพากษาหรือคนที่มีหน้าที่ตัดสินชี้ถูกชี้ผิด อย่างน้อยจึงควรเป็นพระโสดาบัน เพราะตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไปจะสามารถละความลำเอียงหรือละอคติ 4 ได้ อคติ 4 คือ 1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะการรักใคร่ชอบพอกัน 2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะความโกรธ แค้น เคือง ไม่ชอบขี้หน้ากัน 3. ภยาคติ ลำเอียงเพราะเกิดความหวาดกลัว อาทิ โดนกดดันจากพวกมีอำนาจบาตรใหญ่บ้าง พ่อแม่หรือลูกถูกจับเป็นตัวประกันบ้าง 4. โมหาคติ คือลำเอียงเพราะเกิดความโง่เขลาเบาปัญญา ความสะเพร่า ไม่ละเอียดถี่ถ้วน ไม่ได้ใช้สติปัญญา ดังนั้น ถ้าจิตของผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินไม่ทรงไว้ซึ่งธรรม ก็มีโอกาสที่จะเข้าข้างใดข้างหนึ่งทำให้มีผลต่อการตัดสินคดีความแน่นอน

ถาม : ถ้าความถูกต้องของเขากับของเราไม่เหมือนกันล่ะคะ จะเอาอะไรมาตัดสินว่าใครถูกผิด

ตอบ : ตัดสินไม่ได้หรอก เพราะความถูกต้องไม่มีของใคร เป็นของสากลของจักรวาล ไม่ขึ้นกับนาย ก. นาย ข. ไม่ขึ้นกับกาลเทศะ สถานที่ เพราะธรรมไม่ขึ้นกับบุคคล ไม่มีล้าสมัย ส่วนที่ทำกันอยู่นี้ เป็นแค่ระดับสมมุติ ระดับความดี ความถูกต้องของเราหรือของเขา แต่บางทียังไม่ใช่ธรรมแท้ ๆ ธรรมแท้ ๆ จะไม่ทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ เรียกว่ารับประกันความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเราพอใจเพียงฝ่ายเดียว เขาไม่พึงพอใจ แบบนี้ยังไม่ถูกต้องตามธรรม

 

Photo by Alex Knight on Unsplash

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความที่น่าสนใจ :

ศีลธรรมและกฎหมาย

ทำความดีต้อง “ใช้ใจนำ”และ “ใช้ใจทำ” ของ อเล็กซ์ เรนเดลล์

ความดีที่ผันแปร – พระไพศาล วิสาโล

อานุภาพแห่งความดี – พระไพศาล วิสาโล

เต้ย จรินทร์พร จุนเกียรติ กับ “ความดี” ที่ใครๆ ก็ทำได้ “ง่าย” นิดเดียว

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.