มอง ชีวิตตามความเป็นจริง ด้วยอริยสัจ 4
เพื่อไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง
หลักการของพระพุทธศาสนานั้นชัดเจนว่าท่านมุ่งสอนให้รู้จักโลกและ ชีวิตตามความเป็นจริง เกิดจากองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่ไม่เที่ยง คือไม่คงที่ เกิดขึ้นแล้วดับไป ๆ สืบเนื่องไปเรื่อย ๆ คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ คือถูกปัจจัยต่าง ๆ ที่ขัดแย้งบีบคั้นให้แปรปรวนไปตลอดเวลา และไม่ใช่ตัวตน คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยโดยไม่มีตัวตนที่เป็นเจ้าของหรือผู้ที่บงการให้เป็นไปตามความปรารถนา
เรียกตามแบบว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อรวมว่าไตรลักษณ์ คำเด่นที่สะดุดความรู้สึกของคนจำนวนมากคือคำว่าทุกขัง ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่าเป็นทุกข์ คำว่า “ทุกข์” นี้นอกจากเป็นหนึ่งในไตรลักษณ์นี้แล้ว ยังปรากฏในหลักธรรมที่สำคัญยิ่ง ซึ่งหัวใจหรือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาคือข้อแรกในอริยสัจ 4
หลายคนมองเห็นหลักธรรมเหล่านี้แล้วไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้งลงไป ก็เกิดความรู้สึกว่าพระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย เห็นโลกและชีวิตเป็นทุกข์ แต่เมื่อมองดูหลักการปฏิบัติในพระพุทธศาสนากลับมองเห็นแต่การดำเนินก้าวหน้าไปด้วยความสุข สู่จุดหมายที่เป็นบรมสุข ตั้งแต่หลักทั่วไปของการปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็ถือว่าความสุขสามารถเข้าถึงได้ด้วยความสุข คือคนสามารถบรรลุถึงความสุขด้วยวิธีปฏิบัติที่เป็นสุข อันต่างจากลัทธิศาสนาบางพวกที่ถือว่าความสุขจะบรรลุถึงได้ด้วยความทุกข์
เครื่องทดสอบความถูกต้องอย่างหนึ่งของการปฏิบัติธรรมก็คือ การได้ความสุขที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัตินั้น ไม่เฉพาะในฌานต่าง ๆ เท่านั้นที่มีความสุขเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการปฏิบัติทั่วไป ตัวตัดสินความถูกต้องก็มีความสุขเป็นองค์ธรรมสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นด้วย
กล่าวคือ ในกระบวนการปฏิบัติที่ถูกต้อง ได้ผลก้าวหน้าไปสู่จุดหมายนั้น ท่านจะกล่าวอยู่เสมอถึงองค์ธรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดตามกันมาเป็นชุด ได้แก่ เกิดความแช่มชื่นเบิกบาน (ปราโมทย์) แล้วก็เอิบอิ่มใจ (ปีติ) จากนั้นกาย-ใจก็ผ่อนคลาย (ปัสสัทธิ) ความสุขก็เกิดตามมา (สุข) แล้วจิตก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว (สมาธิ) ต่อแต่นั้นก็สามารถเกิดญาณทัศนะ ตลอดจนไปถึงวิมุตติคือความหลุดพ้นในที่สุด
พระเจ้าปเสนทิโกศลเคยกราบทูลพระพุทธเจ้า แสดงความเสื่อมใสในพระรัตนตรัยว่า พระองค์เสด็จไปในที่ต่าง ๆ เห็นนักบวชบางพวกซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ไม่ชวนตาให้อยากมอง แต่พระภิกษุทั้งหลายในพระพุทธศาสนานี้สดชื่นร่าเริง มีใจเบิกบาน มีอากัปกิริยาน่ายินดี มีอินทรีย์เอิบอิ่ม ไม่วุ่นวาย มีลักษณะความสงบจิตมั่นใจ
ข้อความสองตอนข้างต้นดูคล้ายขัดกัน เป็นทำนองว่าทฤษฎีว่าทุกข์ แต่ปฏิบัติสุข แต่ความจริงไม่ขัดกันเลย หากสอดคล้องกันดี และเสริมกันด้วยซ้ำ พูดตามหลักอริยสัจว่า มองอริยสัจข้อ 1 เห็นทุกข์ ทำตามอริยสัจข้อ 4 เป็นสุข
พระพุทธศาสนามิใช่มองโลกและชีวิตในแง่ร้าย แต่มองโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เมื่อความทุกข์มีอยู่จริง พระพุทธศาสนาก็สอนให้เผชิญหน้ากับความทุกข์นั้น ไม่เสี่ยงหนี แต่ให้มองดูทุกข์นั้นด้วยความรู้เท่าทัน และด้วยความรู้เท่าทันความทุกข์นั้นเองจึงทำให้จิตใจปลอดโปร่ง อิสระด้วยปัญญา ไม่ถูกทุกข์บีบคั้น เข้าทำนองว่า “รู้ว่าชีวิตเป็นทุกข์ แต่มีชีวิตเป็นสุข” หรือ ถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่านั้น “รู้เท่าทันความทุกข์ จึงมีความสุขที่สมบูรณ์”
ที่มา :
ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ภาพ :
บทความน่าสนใจ
จงเห็นทุกข์ แต่อย่าเป็น ทุกข์ ธรรมะ โดย พระอาจารย์ มานพ อุปสโม
บ่อเกิด แห่ง ความทุกข์ ธรรมะโดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม
รักษาจิต อย่างเดียว พ้นทุกข์ ได้
สูตรยา ระงับ สรรพทุกข์ สร้างสรรค์ สูตรโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
ใช้ทุกข์ ดับทุกข์ สัมผัส นิพพานสุข…ที่นี่และ เดี๋ยวนี้ โดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม