การดูแลผู้สูงวัย ความเข้าใจและความร่วมมือคือสิ่งสำคัญ

สมัยก่อนคนไทยจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ การดูแลผู้สูงอายุในบ้านจึงเป็นอะไรที่ไม่หนักหนามากนัก เพราะมีลูกๆ หลานๆ หลายคนผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลอยู่ตลอดเวลา แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักจะแยกย้ายกันออกมาสร้างครอบครัวเดี่ยวของตนเอง บางคนก็ทำงานในเมือง ย้ายไปอยู่คอนโดใกล้ที่ทำงาน เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป การดูแลพวกท่านจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขบคิด

หลายคนยังมีความเข้าใจผิดๆ ว่า ผู้สูงอายุคือวัยที่มีความอ่อนแอ ใช้ชีวิตลำบาก จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือในทุกเรื่อง แต่ความจริงแล้วพวกท่านยังอยากใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข และไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน การดูแลผู้สูงอายุก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด หากเรารู้จักวางแผน เตรียมพร้อม เรียนรู้วิธีการ ที่สำคัญคือต้องเข้าใจถึงจิตใจและพฤติกรรมของผู้สูงอายุอย่างถ่องแท้ด้วย

ทางที่ดีลูกหลานและผู้ดูแลจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคเพื่อช่วยให้พวกท่านรู้สึกสบายขึ้น โดยเรียนรู้จากข้อแนะนำเหล่านี้ค่ะ

อย่ามัวแต่ทำหน้าที่ผู้ดูแลจนไม่ได้คุยกัน

การพูดคุยระหว่างผู้ดูแลกับผู้สูงอายุถือเป็นเคล็ดลับสำคัญ ที่จะช่วยให้การดูแลเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถลดความตึงเครียดระหว่างกัน เนื่องจากการอยู่ใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกเฉยชา และคิดว่าการดูแลเป็นการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีเท่านั้นพอ ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน และอาจลดความไว้เนื้อเชื่อใจลงได้ค่ะ

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าอยู่ๆ ผู้ดูแลเดินไปจับตัวผู้สูงอายุที่นอนป่วยอยู่บนเตียงแบบไม่รู้ตัว เขาย่อมตกใจและเกิดความรู้สึกไม่ดีขึ้นได้ อีกทั้งการถูกปฏิบัติโดยปราศจากการพูดคุยทำให้เข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นเพียงสิ่งของและหมดความสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจอันนำไปสู่อาการป่วยที่หนักขึ้นได้

ส่วนผู้ดูแลหากไม่เรียนรู้วิธีสื่อสารที่สร้างความเข้าใจกับผู้สูงอายุ เมื่อถึงยามคับขันหรือเกิดอุบัติเหตุอาจแก้ไขได้ยาก และส่งผลเสียมากกว่าที่คิดด้วย

ระวังการใช้น้ำเสียง จังหวะ ระดับเสียงและความเร็วเวลาพูด

ในมุมของผู้ดูแลที่ต้องรับภาระหลายอย่างอาจคิดว่า พยายามใช้คำพูดกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยอย่างสุภาพแล้ว แต่ดูเหมือนพวกท่านไม่เข้าใจบ้างเลย ช่างน่าปวดหัวเสียจริงๆ เราอยากให้ทุกคนลองกลับมาพิจารณาถึงระดับเสียง จังหวะ และความเร็วในการพูดของตัวเองดูว่าฟังเข้าใจยากหรือไม่

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการได้ยินก็ค่อยๆ ลดลง แม้ผู้ดูแลจะพยายามพูดด้วยความอ่อนน้อมและเข้าใจง่ายแล้ว แต่หากออกเสียงพูดอยู่ในลำคอ ผู้สูงอายุก็ฟังไม่รู้เรื่อง เช่นเดียวกับการพูดเสียงดังหรือเร็วเป็นจรวด โดยปกติคนเราจะพูดเร็วกว่าที่ตัวเองรู้สึกมาก หากเห็นว่าอีกฝ่ายฟังไม่เข้าใจ ให้ลองถามความรู้สึกของคนอื่นดูน่าจะดี

อย่าสัมผัสตัวมากเกินไป

ขณะที่ผู้ดูแลบอกถึงสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำหรือทิศทางให้ผู้สูงอายุทราบ การแตะแขนหรือขาเบาๆ ช่วยให้การสื่อสารระหว่างกันดีขึ้น แต่อาจให้ผลตรงข้ามหากอีกฝ่ายเป็นเพศตรงข้าม และมีการสัมผัสเนื้อตัวมากเกินไป เพราะผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ หรือเป็นกังวลได้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีความเป็นส่วนตัวสูง เช่น การอาบน้ำ ขับถ่าย หรือเปลี่ยนเสื้อผ้า

แม้จะเป็นการดูแลกันเองของคนในครอบครัว แต่ก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยด้วย หากคิดว่าการสัมผัสเนื้อตัวแสดงถึงความสนิทสนม แต่อีกฝ่ายอาจไม่คิดเช่นนั้น

พูดอธิบายซ้ำหลายครั้งจนกว่าผู้สูงอายุจะเข้าใจ

ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม พิการทางสายตาและการได้ยิน หรือโรคซึมเศร้า อาจเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่ผู้ดูแลอธิบายได้ไม่ดีนัก จนทำให้การสื่อสารบกพร่องและดูแลรักษาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น การพูดกับพวกท่านด้วยอารมณ์โมโหหรือหงุดหงิด เช่น พูดว่า “บอกไปตั้งหลายครั้งแล้ว ทำไมไม่ทำตาม” แบบนี้เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่งค่ะ

แม้ผู้ป่วยจะไม่เข้าใจ แต่ความรู้สึกเชิงลบที่แสดงออกผ่านน้ำเสียงทำให้พวกท่านรู้สึกเสียใจ หดหู่ และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ทั้งที่ต้องการทำตามความต้องการของอีกฝ่ายก็ตาม แต่เมื่อมาเจอคำพูดกดดันแบบนี้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายกลับแย่ลง ฉะนั้นการพูดซ้ำหลายครั้ง หรือพูดย้ำเพราะต้องการให้ผู้สูงอายุทำตามในทันทีวิ่งที่จำเป็นเลย หากไม่อยากทำตาม ผู้ดูแลควรทำใจให้เย็นลง หายใจเข้าออกลึกๆ แล้วค่อยพูดอีกครั้ง

อย่าทำเหมือนผู้สูงอายุเป็นเด็ก

แม้การดูแลกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของผู้สูงอายุ ทั้งกินข้าว อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า และขับถ่าย คล้ายกับการดูแลเด็ก แต่พวกท่านเป็นผู้ใหญ่และอายุมากกว่าผู้ดูแล ซึ่งควรให้ความเคารพ ฉะนั้นการเรียกชื่อเล่น หรือการตักเตือนราวกับเด็กๆ ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความไม่พอใจ หรืออาจไม่ปฏิบัติตามคำพูดของอีกฝ่ายด้วย

ฉะนั้น ควรหลีกเลียงการใช้คำพูดที่ทำให้รู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ หรือแม้แต่ตัวเองก็ไม่อยากฟังมาพูดกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเป็นอันขาดเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย และนำไปสู่การดูแลที่มีประสิทธิภาพด้วย

คำแนะนำทั้ง 5 ข้อที่เราเอามาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งคู่มือการดูแลผู้สูงอายุด้านร่างกายและจิตใจที่สามารถนำไปปรับใช้กับคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยายที่สูงอายุ เพื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอันดี และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสมวัยของผู้สูงอายุได้ค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

รวมวิธีสร้างสุขภาพที่ดีด้วยตัวเอง เพื่อผู้การมีร่างกายที่แข็งแรงรับปีใหม่

ผู้สูงอายุต้องกินให้เป็น…เพราะอาหารที่ดีจะไปสร้างร่างกายที่ดี

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธี

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.