ดร.รชา เทพษร ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า อาหารไหว้เจ้าวันตรุษจีนที่นำมารับประทานหลังเสร็จพิธี อาจมีสารพิษอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ 2 สายพันธุ์หลักที่พบมากในอาหาร คือ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) ซึ่งเติบโตและแพร่กระจายในอาหารได้อย่างรวดเร็ว เมื่ออาหารมีอุณหภูมิระหว่าง 5-60 องศาเซลเซียส หรือช่วง โซนอุณหภูมิอันตราย (Temperature Danger Zone–TDZ)
หากต้องการรับประทานอาหารไหว้วันตรุษจีนที่ปล่อยค้างไว้นาน หรือเก็บรักษาให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ ดร.รชา แนะนำว่า สำหรับอาหารวันตรุษจีนคาวประเภทแห้งและเนื้อสัตว์ ควรนำไปอุ่นด้วยไมโครเวฟ กำลังไฟ 800 วัตต์ เป็นเวลา 2-3 นาที หรือเมื่อมีไอน้ำลอยขึ้นจากอาหาร สำหรับอาหารวันตรุษจีนคาวประเภทน้ำ ควรนำไปอุ่นบนเตาให้เดือด หรือใช้ไมโครเวฟด้วยกำลังไฟและระยะเวลาเท่ากับอาหารวันตรุษจีนคาวประเภทแห้ง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะและปริมาณอาหารด้วย ส่วนขนมต่างๆ สามารถรับประทานหลังเสร็จพิธีได้เลย
แต่หากต้องการเก็บอาไว้รับประทานภายหลัง ก่อน เก็บควรนำไปอุ่นให้ร้อนจนมีไอน้ำลอยขึ้นมาจากขนม จากนั้นทำให้อาหารวันตรุษจีนเย็นลงจนต่ำกว่าโซนอุณหภูมิอันตรายอย่างเร็วที่สุด และเก็บรักษาที่อุณภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม นอกจากเชื้อจุลินทรีย์แล้ว อาหารที่นำมาใช้ไหว้เจ้าในช่วงวันตรุษจีน ยังอาจมีสารเคมีอันตรายปนเปื้อนอื่นๆ อีก เช่น ฟอร์มาลีน ที่มักปนเปื้อนมาในผักสดและอาหารทะเล บอแรกซ์ อาจผสมอยู่ในลูกชิ้น หมูสับ ถั่วเคลือบน้ำตาล (ซกซา) และฟักเชื่อม (ตังกวยแฉะ) สารกันบูด มักอยู่ในอาหารหมักดอง และสารฟอกขาว ซึ่งใช้ในอาหารวัตถุดิบอาหารวันตรุษจีน เช่น ถั่วงอก ขิง เต้าหู้ หน่อไม้จีน เห็ดหูหนูขาว ประชาชนจึงควรเลือกซื้อและเลือกรับประทานอาหารอย่างมีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อป้องกันการป่วยไข้ และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุกๆ เทศกาล
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)