ปวดข้อ– ปวดเข่า รู้จักดี รับมือได้

ข้อเข่า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อสะโพก หรือข้อต่อกระดูกสันหลัง… จะข้อส่วนก็มีอาการปวดได้ทั้งสิ้น

วันนี้เราจึงรวบรวมและสรุปสารพัดอาการปวดที่เกิดกับข้อออกมาเป็น 3 ลักษณะอาการสำคัญ ที่คุณควรรู้จัก และเตรียมรับมืออย่างเหมาะสมเมื่อเกิดอาการค่ะ

…ไปรู้จักพร้อมๆ กันเลย

อาการปวดข้อ 3 ลักษณะ

  1. ปวดข้อจากอาการอักเสบ

อาการปวดข้อจากการอักเสบ มักเกิดจากโรคที่พบบ่อยอย่าง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นการอักเสบของถุงน้ำหุ้มข้อ ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิกิริยาไวของร่างกาย ทำให้ข้อเกิดอาการบวมแดง ร้อน และปวดมาก อีกทั้งบางครั้งยังมีเนื้อเยื่อส่วนเกินเกิดขึ้นมาในข้อด้วย

อีกโรคหนึ่งที่มักพบว่ามีอาการปวดข้อร่วมด้วย คือ โรคข้อลูปัส เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจำเซลล์ตัวเองไม่ได้ จึงส่งสารโปรตีนที่เรียกว่า แอนติบอดี้ ร่วมกับเม็ดเลือดขาว ไปทำลายอวัยวะต่างๆ รวมถึงข้อด้วย จึงทำให้มีอาการปวดตามมานั่นเอง

  1. ข้ออักเสบจากการเสื่อมตามวัย

อาการข้ออักเสบจากวัยที่มากขึ้น มีสาเหตุมาจากความเสื่อมของร่างกายตามวัย แต่ส่วนใหญ่มักจะเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อมีอายุเลย 35 ปีขึ้นไป หรือขึ้นอยู่กับลักษณะงานและการใช้ข้อของแต่ละบุคคล โดยอาการปวดจะเริ่มเกิดขึ้นตามข้อ อีกทั้งมีอาการขยับเขยื้อน เคลื่อนไหวร่างกายลำบาง บางครั้งมีเสียงกรอบแกรบเมื่อเคลื่อนไหว ข้อที่มักเกิดปัญหาคือข้อที่ใช้บ่อย เข่น ข้อเข่า ข้อสะโพก และข้อนิ้วมือ นั่นเอง

  1. ปวดข้อจากการติดเชื้อ

อาการปวดข้อจากการติดเชื้อ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อกามโรคบางชนิดที่เมื่อเชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว จะทำให้มีอาการปวดตามข้อต่างๆ ตามมาได้ เป็นอาการปวดที่ก่อความรำคาญและความทรมานพอควร

ปัญหาสำคัญของอาการปวดข้อคือ “ภาวะข้ออักเสบเรื้อรัง” เนื่องจากอาการดังกล่าวโดนละเลย หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ทำให้อาการที่เป็นมากขึ้นและรักษายากขึ้นนั่นเอง

แต่ก็ไม่ต้องตกใจไปค่ะ พอจะมีทางป้องกันหรือรับมือได้ในเบื้องต้น แถมวิธีการก็ไม่ยุ่งยากอีกด้วย

เทคนิคป้องกันโรคปวดข้อมาเยือน

  1. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมเนื่องจากสรีระของคนส่วนใหญ่ เราใช้เวลากับการยืนมากในแต่ละวัน น้ำหนักที่จะถ่ายเทสู่กระดูกสันหลัง สะโพก และเข่าตลอดเวลา หากน้ำหนักตัวมาก ข้อต่างๆ เหล่านี้จะรับน้ำหนักเยอะ และมีอาการปวดตามมาในที่สุด

ขณะเดียวกัน การมีน้ำหนักตัวผอมเกินไปก็ทำให้กระดูกบางลง และอาจมีอาการกระดูกเปราะตามมา …ดังนั้นน้ำหนักตัวที่เหมาะสม (ดัชนีมวลกาย (BMI)อยู่ที่ 18.5 – 23)จึงดีที่สุด

  1. เล่นกีฬาให้ถูกวิธี เพราะคนที่มีปัญหาปวดข้อส่วนหนึ่งมาจากการเล่นกีฬาด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งแม้เกิดอาการปวดแล้วก็จำเป็นต้องเล่นกีฬาต่อ เพราะการออกกำลังนั้นดีต่อสุขภาพ อีกทั้งหากกีฬานั้นช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกและข้อด้วย ก็จะยิ่งแก้อาการปวดทีเกิดขึ้นได้

เพียงแต่จะออกกำลังก็ต้องรู้ท่าทางที่เหมาะสมของกีฬาแต่ละชนิด โดยกีฬาที่เหมาะกับผู้มีอาการปวดข้อ (รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ) คือกีฬาที่ลดแรงกดของข้อ เช่นกีฬาในน้ำ ทั้งว่ายน้ำ และแอโรบิคในน้ำ เพื่อให้น้ำช่วยพยุงน้ำหนัก และลดภาระของข้อระหว่างออกกำลังกายได้

  1. กินอาหารเสริมข้อ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีสารแคโรทีนอยด์สูง อันได้แก่ผักผลไม้สีส้มเหลือง เช่น ส้ม มะละกอสุก สับปะรด ฟักทอง แครอท เนื่องจากสารแคโรทีนอยด์ดังกล่าวจะช่วยชะลอการอักเสบ และภาวะข้อเสื่อมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การกินข้าวซ้อมมือ และธัญพืชต่างๆ ก็ช่วยได้ลดภาวะข้อเสื่อมได้ดีเช่นกัน เป็นต้น
  2. เมื่อเกิดอาการปวดข้อรุนแรงควรรีบพบแพทย์เนื่องจากอาการปวดข้อหลายประเภทจำเป็นต้องใช้ยา หรือรับการบำบัด ฝึกกายภาพ หรือปรับพฤติกรรมอย่างถูกต้อง การเตรียมการรับมือหรือตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันอย่างถูกวิธีไม่ให้ถูกทำลายจากการอักเสบเรื้อรังจึงเจ็บเป็นที่สุด

 

…หวังว่าจากนี้สุขภาพข้อของคุณจะแข็งแรง และมีอาการปวดน้อยลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขมากขึ้นค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก นายแพทย์ฮิโรชิ จันทาภากุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อมูลจากคอลัมน์น่ารู้ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 160

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.