ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ไขมันพอกตับ เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง

ไขมันพอกตับ เกิดขึ้นได้อย่างไร นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาชวนสงสัย เพราะหลายคนก็ดูผอมหุ่นไม่ตุ้ย แต่กลับมีไขมันพอกตับ ซึ่งเราควรจะดูแลร่างกายอย่างไร เพื่อไม่ให้ไขมันมาเกาะตับ และอะไรคือสัญญาณเตือนให่เราต้องระวังตัว วันนี้ชีวจิตจะมาไขข้อข้องใจให้ค่ะ

“ไม่ดื่ม ก็ไม่ต้องกลัวโรคตับ” หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดทำนองนี้ แนะนำให้อ่านชีวจิตก่อน แล้วจะรู้ว่า “ใครก็เสี่ยงโรคตับได้”

เพียงแค่มีพฤติกรรมการกินที่เน้นของกินอร่อยปาก ให้พลังงานล้น ๆ ไม่ว่าจะของมัน ของทอด ของหวาน อาหารปิ้งย่าง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารแปรรูป ชอบเยียวยาตัวเองด้วยยาชุด สมุนไพรต้ม อาหารเสริม การมีพฤติกรรมทางเพศที่สุมเสี่ยง แม้กระทั่งเป็นผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 ขึ้นไปก็เสี่ยงโรคตับได้

เพราะอะไรผลพวงจากพฤติกรรมเหล่านี้จึงไปลงเอยที่ตับของเรา อีกทั้งยังก่อให้เกิดโรคตับหลายประเภทตามมา ไม่ว่าจะไขมันพอกตับ ไวรัสตับอักเสบ ตับอักเสบ และมะเร็งตับ ไม่ใช่แค่ตับแข็งแบบ ที่คุ้นเคยกันอย่างเดียวเท่านั้น มาหาคำตอบไปด้วยกันนะคะ

ชีวจิตได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วัชรศักดิ์ โชติยะปุตตะ สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาค วิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้เกี่ยวกับตับและโรคตับแบบอินไชด์มาบอกต่อค่ะ

โรค ไขมันพอกตับ เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง

โรคไขมันพอกตับ หรือเรียกว่าไขมันเกาะตับ หรือไขมันแทรกในตับ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease) พบได้ใน คนทุกเพศทุกวัย โดยทั่ว ๆ ไปเกิดจากการมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สะสมอยู่ในตับมากเกินไป (มากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์) จนตับเริ่มกลายเป็นสีเหลืองและมีอาการตับอักเสบตามมา

กลุ่มเสี่ยงป่วยโรคไขมันพอกตับที่พบบ่อย ได้แก่ ผู้ป่วย เบาหวาน และผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (Overweight) หรือมีค่าดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 23 (เกณฑ์สำหรับคนไทย) หรืออ้วนลงพุง สองกลุ่มนี้จะพบโรคไขมันพอกตับได้มากถึง 70- 80 เปอร์เซ็นต์ ทีเดียว รวมทั้งผู้ชื่นชอบการรับประทานอาหารให้พลังงานสูงเป็นประจำ เช่น ของมัน ของทอด ของหวาน แต่ไม่ชอบออกกำลังกาย

การมีไขมันพอกตับไม่ได้เกี่ยวกับไขมันในเลือดสูง แม้จะมีสาเหตุจากไขมันเหมือนกัน แต่ก็เป็นคนละโรคกัน ที่สำคัญการมีระดับคอเลสเตอรอลสูง ไขมันชนิด LDL สูง และไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่ามีโรคไขมันพอกตับ คนผอมก็อาจจะมีไขมันในเลือดสูง แต่อาจไม่ได้มีไขมันพอกตับก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคไขมันพอกตับได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ๆ เป็นประจำ (เกิดขึ้นได้ไม่กี่วันหลังการดื่มต่อเนื่อง) ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยาสเตียรอยด์

สำหรับสัญญาณเตือน หรืออาการของโรคไขมันพอกตับก็เช่นเดียวกับโรคตับอักเสบอื่น ๆ ที่โดยทั่วไป 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ ในระยะแรกไม่มีอาการเลย จะมีอาการก็ต่อเมื่อตับอักเสบมาก หรือเริ่มอักเสบเรื้อรังแล้ว เช่น อาการปวดจุก ๆ ตรงซี่โครงขวาเล็กน้อย อ่อนเพลีย หากยังไม่ได้รับการรักษา เชลล์ตับจะถูกทำลายมากจนตับไม่สามารถทำงานได้และตับแข็งในที่สุด

รู้หรือไม่?

ปัจจุบันสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติประกาศให้ประชาชนทั่วไปที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 ที่ใช้สิทธิ “บัตรทอง” สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีได้ที่โรงพยาบาสรัฐทุกแห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ได้ฟรี 1 ครั้งตลอดชีวิต

สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์ กับชาย บุคลากรสาธารณสุข และผู้ต้องขัง จะได้รับสิทธิการตรวจคัดกรองซ้ำทุก 1 ปี ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถรับสิทธิตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ในส่วน “สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค” ได้ฟรี 1 ครั้ง เช่นเดียวกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มที่จะได้รับสิทธิตรวจคัดกรองซ้ำทุก 1 ปี ด้วยเงื่อนไขเดียวกับกลุ่มบัตรทอง

ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 593

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ท่าออกกำลังกายปรับบุคลิกภาพ ทำง่าย หายหลังค่อม

แนะวิธีจับคู่ สมุนไพรรักษาโรค บำรุงเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.