รักษาโควิด-19 ด้วยการนอนคว่ำ ช่วยผู้ป่วยได้อย่างไร

รักษาโควิด-19 ด้วยการนอนคว่ำ ช่วยผู้ป่วยได้อย่างไร

รักษาโควิด-19 ด้วยการนอนคว่ำ เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งต่อผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างมากเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยด้วยการนอนคว่ำ

แท้จริงแล้วการรักษาในรูปแบบนี้เป็นวิธีการใหม่หรือไม่? และเพราะเหตุใดจึงต้องให้ผู้ป่วยนอนในลักษณะนี้ ผศ.(พิเศษ)พญ.ณับผลิกา กองพลพรหม แพทย์สาขาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจแก่ผู้อ่าน

ผศ.(พิเศษ)พญ.ณับผลิกา อธิบายถึงการรักษาผู้ป่วยด้วยการให้นอนคว่ำว่าเป็นวิธีที่ใช้แพร่หลายทางการแพทย์มากว่า 20 ปีแล้ว โดยใช้ในผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน หรือ ARDS (Acute Respiratory Distress Syndrome) เช่น
ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบหรือโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่วิธีการรักษาแบบใหม่ แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการนอนคว่ำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจโดยตรงทั้งนี้ ได้มีการจำแนกผู้ป่วยออกเป็น 2 ระยะ คือ

  1. ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ยังสามารถหายใจได้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะออกซิเจนต่ำ มีการใช้ออกซิเจนในอัตราไหลสูง หรือการใช้เครื่องช่วยหายใจที่ยังไม่ถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แพทย์จะทำการรักษาโดยให้ผู้ป่วยนอนคว่ำหน้า ซึ่งเรียกว่าท่า Awakening Prone เป็นเวลา 30 นาที – 2 ชั่วโมง และสังเกตการตอบสนองของผู้ป่วย จากนั้นให้ผู้ป่วยพลิกตัวเปลี่ยนท่าตะแคงซ้ายหรือขวา หรือนอนยกศีรษะขึ้นสูงเพื่อป้องกันแผลกดทับ การที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 นอนคว่ำแล้วอาการดีขึ้น เนื่องจากพยาธิสภาพในปอดของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะอยู่ที่ปอดบริเวณด้านข้าง (Periphery) และด้านหลังเป็นส่วนใหญ่
    ประโยชน์ต่อผู้ป่วย :
    • เนื้อปอดส่วนหลังที่ถูกหัวใจกดทับขยายได้ดีขึ้น
    • ความยืดหยุ่นของปอดหรือการขยายตัวของถุงลมปอดแต่ละส่วนดีกว่า
    การนอนหงาย
    • การแลกเปลี่ยนแก๊สของปอดดีขึ้น
    • การระบายเสมหะดีขึ้น
  2. ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจระดับสูง หรือหากปรับเครื่องช่วยหายใจด้วยวิธีมาตรฐานแล้ว ผู้ป่วยยังไม่มีการตอบสนองที่ดีก็จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ รวมถึงต้องให้ยาระงับความรู้สึกตัว (Sedatives) เพื่อให้ผู้ป่วยนอนหลับลึกและนอนได้เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากการรักษาจะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้ป่วยนอนคว่ำเป็นเวลาอย่างน้อย 16 ชั่วโมง
    ประโยชน์ต่อผู้ป่วย :
    • ช่วยลดการบาดเจ็บหรืออักเสบของปอดจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ
    • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนแก๊สของปอดตามกลไกเดียวกันกับ
    Awakening Prone
    • เป็นการรักษาเพื่อประคับประคองรอให้ปอดฟื้นตัวดีขึ้นจากการรักษาเฉพาะ

ข้อมูลจาก : ผศ.(พิเศษ)พญ.ณับผลิกา กองพลพรหม แพทย์สาขาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

บทความอื่นที่น่าสนใจ

หัวใจโต ไม่ใช่โรค แต่อันตรายถึงตายได้

โรคโควิด-19 กับอาการทางผิวหนัง ที่ไม่ควรมองข้าม (ตอนที่ 2) ผื่นหลังวัคซีน

เหงื่อออกที่มือ สัญญาณผิดปกติที่ควรเช็ก พร้อมแนะนำวิธีรักษา

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.