หมู เนื้อหมู

ด่วน! โรคPRRS ระบาดในหมู ผู้เชี่ยวชาญชี้ “เนื้อหมู” ยังกินได้หรือไม่?

ด่วน! ไวรัสพีอาร์อาร์เอส ระบาดในหมู ผู้เชี่ยวชาญชี้ “เนื้อหมู” ยังกินได้หรือไม่?

ได้ติดตามข่าวการแพร่ระบาดของ ไวรัสพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ที่กำลังระบาดในหมูใน จังหวัดสระแก้ว ทำให้ทางปศุสัตว์ต้องประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวใน 2 หมู่บ้านของ ต.หนองหว้า อ.เขาฉกรรจ์ และเตรียมประกาศเพิ่มใน อ.เมืองสระแก้ว หลังพบหมูติดไวรัส PRRS ต้องทำลายแล้ว 600 ตัว ได้ยินอย่างนี้ก็อดกลัวไม่ได้ และเกิดความสงสัยว่าแล้วเราจะยังคงบริโภคเนื้อหมูกันได้อยู่หรือเปล่า

ในแนวทางชีวจิตเอง เราไม่แนะนำให้บริโภคเนื้อหมูกันอยู่แล้ว แต่ก็นั่นแหละค่ะ ก็ยังคงมีคนที่ยังตัดใจจากการกินเนื้อหมูยังไม่ได้ เราเลยต้องให้ข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคให้ทั่วถึง และวันนี้เราจะมาพูดเรื่องเจ้าไวรัส PRRS กันค่ะ

โรคพีอาร์อารเอส (PRRS: Porcine reproductive and respiratory syndrome) เป็นโรคหรือกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร มีสาเหตุ มาจากเชื้อไวรัส PRRS virus (PRRSV) มีการระบาดมากในสุกรก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรมาโดยตลอด เริ่มพบการระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2530 พบในญี่ปุ่นปี พ.ศ. 2531 ในยุโรปปี พ.ศ. 2533 และในประเทศไทยเกิดการพบมากเมื่อประมาณช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2563

การค้นพบเชื้อนี้ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจาก ปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้มอบหมายให้กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปศุสัตว์อำเภอสบเมย ด่านกักกันสัตว์แม่ฮ่องสอน พร้อมเจ้าหน้าที่ อบต.แม่สามแลบ ลงพื้นที่ บ้านสิวาเดอ และบ้านกลอเซโล ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ขอความร่วมมือเกษตรกรดำเนินการทำลายซากสุกร หลังผลการตรวจโรคพบว่าเป็นโรค PRRS โดยพบสุกรตายจำนวน 5 ตัว จากนั้นจึงได้สั่งทำลายสุกรในพื้นที่ 25 ตัว รวมทั้งหมด 30 ตัว

และณ วันนี้ ล่าสุด ทางปศุสัตว์ จ.สระแก้ว ได้ประกาศว่าเชื้อ PRRS กำลังระบาดในพื้นที่ โดยได้เข้าฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณหลุมฝังกลบหมูที่ถูกทำลาย หลังพบการติดเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ซึ่งทำให้หมูป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและมีอาการแท้งลูก ซึ่งในรอบ 2 สัปดาห์มานี้มีหมูใน อ.เขาฉกรรจ์ และ อ.เมืองสระแก้ว ถูกทำลายโดยการฝังกลบแล้ว 600 ตัว หลังจากพบการระบาดของโรค

ฟาร์มหมู

ขณะที่ปศุสัตว์ จ.สระแก้ว ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ครอบคลุมพื้นที่บ้านโคกข้าวเหนียว และบ้านหนองคล้า ต.หนองหว้า อ.เขาฉกรรจ์ โดยห้ามเคลื่อนย้ายหมูและซากหมู รวมถึงหมูป่า และให้ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถทุกคันที่เข้าไปในพื้นที่ซึ่งพบการระบาดของโรค ส่วนในพื้นที่ อ.เมืองสระแก้ว ซึ่งพบหมูติดเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสในฟาร์ม 2-3 แห่ง เจ้าหน้าที่เตรียมจะประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ ปศุสัตว์ จ.สระแก้ว ยังแจ้งเตือนให้ผู้เลี้ยงหมูเฝ้าระวัง หากพบหมูตายผิดสังเกต ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุทันที โดยห้ามเคลื่อนย้ายหรือทำลายซากหมูเอง หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในส่วนของผู้บริโภคที่เกิดความกลัวว่าเนื้อหมูที่เราซื้อมากินกันนี้จะมีความปลอดภัยหรือไม่ แล้วกินไปจะเกิดอันตรายต่อร่างกายคนแค่ไหน  ทาง อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเอาไว้ในเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ว่า การค้นพบการระบาดของโรค PRRS ในสุกรนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าโรคนี้ติดต่อสู่คน

อาจารย์เจษฎ์ บอกว่ามีคนถามมาเยอะมากว่า จากการระบาดของโรคนี้ให้งดกินลาบหมู หรือเนื้อหมู เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคระบาดจริงๆ แล้ว มีการระบาดของโรคไวรัสในสุกร ที่ชื่อว่า พีอาร์อาร์เอส PRRS ช่วงนี้จริง แต่ยังไม่ไปสู่คน และเจ้าไวรัส PRRS นั้น เมื่อเข้าสู่ร่างกายของสุกร จะเข้าไปสู่ระบบน้ำเหลือง และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ร่างกายไม่แข็งแรง ติดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้ง่าย

ฟาร์มสุกร

เคยพบไวรัส PRRS ในเป็ดหัวเขียว แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าติดต่อมายังคนหรือในสัตว์อื่น จึงไม่จัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน  แต่เนื่องจากไวรัส PRRS เป็นไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมได้ง่าย จึงควรระมัดระวังการติดเชื้อไวรัสมาสู่คน โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วย รวมถึงอุจจาระและสารคัดหลั่งจากสัตว์ป่วยตาย ป้องกันการสัมผัสสัตว์โดยตรงโดยใช้ถุงมือและผ้าปิดปาก และไม่แนะนำให้นำสุกรที่ป่วยตายมารับประทาน

ส่วนการบริโภคเนื้อหมูนั้น ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก ยังรับประทานได้ตามปกติ (ยกเว้นเนื้อหมูที่ป่วยตายจากโรคนี้ หรือโรคอื่นๆ ห้ามนำมาปรุงอาหาร) และควรจะปรุงให้สุกเสียก่อน เพื่อลดโอกาสของการได้รับเชื้อโรคต่างๆ

สรุปก็คือยังบริโภคได้นะคะ แต่การจะกินต้องทำให้สุก และขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เมื่อพบความผิดปกติของหมูที่เลี้ยงอยู่ ก็แจ้งปศุสัตว์ประจำจังหวัดให้มาทำการตรวจเช็กและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อความปลอดภัยของเราทุกคนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: ThaiPBS และเพจ: อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ผู้ป่วย G6PD หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มียาบางตัวที่ไม่สามารถใช้รักษาได้!!

ใคร PANIC กับสถานการณ์ไวรัสต้องอ่าน … เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ประสบการณ์โลกออนไลน์ : เสี่ยงติด HIV เพราะเข็มเล่มเดียว ซ้ำแพ้ยาต้านไวรัสหนักมาก

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.