กัญชาทางการแพทย์

การใช้ กัญชาทางการแพทย์ เป็นไปในทิศทางที่ดี ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดร. ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า จากที่องค์การฯได้กระจายผลิตภัณฑ์ กัญชาทางการแพทย์ ให้กับระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ ผ่านโครงการวิจัยและคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลต่าง ๆ

ทั้งภาครัฐและเอกชน มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 โดยติดตามประสิทธิผลการใช้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้แก่แพทย์ผู้สั่งจ่าย กัญชาทางการแพทย์ ใช้ประกอบในการวินิจฉัย และให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นมาตรฐาน และเป็นแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยเอง

โรคลมชักรักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา

ล่าสุด ได้มีการรายงานผลการศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ขององค์การฯ โดยการศึกษาในกลุ่มโรค และภาวะที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ โดยสถาบันประสาทวิทยาและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ติดตามประสิทธิผล
การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา GPO THC : CBD (1:1) ในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักรักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (Intractable Epilepsy) 16 ราย ผลการศึกษาพบว่า สามารถควบคุมอาการชักในผู้ป่วย 10 ราย (62%) และผลการประเมินของผู้ดูแล คิดว่าอาการชักดีขึ้น โดยมีคะแนนประเมินเฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 6 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน

อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

สถาบันประสาทวิทยา ยังได้ติดตามประสิทธิผลการใช้ GPO THC : CBD (1:1) ในการรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน จำนวน 7 ราย จากการประเมินโดยแพทย์มีผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นจำนวน 5 ราย ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินโดยผู้ป่วยว่า อาการเกร็ง และอาการปวดดีขึ้นหลังได้รับสารสกัดกัญชา โดยมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 6 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน

โรคพาร์กินสัน

ในส่วนของการศึกษาผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคและภาวะที่น่าจะได้ประโยชน์ โรงพยาบาลสกลนคร ได้ดำเนินติดตามผลการรักษาและความปลอดภัยในผู้ป่วยพาร์กินสัน 16 ราย จากการประเมินความสามารถทางความคิด กิจวัตรประจำวัน และความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยหลังจากได้รับผลิตภัณฑ์ GPO THC : CBD (1:1) เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและส่วนใหญ่มีการนอนหลับและคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยไม่พบผลกระทบต่อความจำของผู้ป่วย แม้ว่าผลการศึกษาเบื้องต้นจะมีแนวโน้ม ในทางที่ดี แต่ควรมีการศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยพาร์กินสันในระยะยาวต่อไป

โรคมะเร็ง

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษขององค์การเภสัชกรรม ยังกล่าวว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ดำเนินโครงการ “การวิจัยเพื่อติดตามความปลอดภัย และประสิทธิผลกัญชาทางการแพทย์ ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย” โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 14 ราย และได้รับผลิตภัณฑ์ GPO THC : CBD (1:1) เฉลี่ยอยู่ที่ 1 – 3 หยดต่อวัน ต่อเนื่อง 3 เดือน พบว่า อาการปวดของผู้ป่วยดีขึ้น โดยมีระดับอาการ (Pain Score) ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จากตอนเริ่มต้น มีความอยากอาหารและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีอาการนอนหลับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งอย่างใกล้ชิด รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมในด้านประสิทธิผลและความคุ้มทุนของแต่ละสภาวะปัญหา

ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคและภาวะที่อาจจะได้ประโยชน์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ดำเนินการวิจัยประสิทธิผลของสารสกัดกัญชา ต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม พบว่า THC และ CBD มีผลต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งแตกต่างกัน และพบแนวโน้มว่า การใช้ THC ร่วมกับ CBD น่าจะให้ผลดีต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม ตับอ่อน และท่อน้ำดี จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีผลของคลินิกกัญชาทางแพทย์ของกรมการแพทย์ ที่ให้บริการสำหรับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยมีการใช้ GPO THC ขนาด 0.5-5 mg ต่อวัน ควบคู่ไปกับการใช้ยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่เดิมร่วมด้วยจากการประเมินในผู้ป่วย 42 รายที่มีการติดตามครบระยะเวลา 1 เดือน พบว่า อาการปวด เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับดีขึ้น แสดงให้เห็นว่าการใช้
THC ในขนาดต่ำมีความปลอดภัยและสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ และจากการติดตามผลการใช้กับผู้ป่วยที่มาใช้บริการของคลินิกกัญชาทางแพทย์ของสถานพยาบาลต่าง ๆ ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก และออรีจีน สหคลินิก พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาการข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง สับสน มึนงง ปวดศีรษะ ใจสั่น และคลื่นไส้อาเจียน

“อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่ได้รับรายงานมานั้น เป็นเพียงผลการศึกษาในขั้นต้นเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าผลการใช้เป็นไปในทิศทางที่ดี ช่วยลดและบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์องค์การเภสัชกรรม ซึ่งยังคงต้องดำเนินการศึกษาในจำนวนผ้ปู่วยที่เพิ่มมากขึ้น และติดตามประสิทธิผลการใช้ และความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

โดยทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมเป็นผลิตภัณฑ์เกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade ที่คำนึงถึงความปลอดภัย (Safety) มีสารสกัดที่มีสารออกฤทธิ์ของยาสม่ำเสมอ (Consistency) และมีประสิทธิภาพ (Efficiency)” ดร. ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว

เรื่อง กองบรรณาธิการ ภาพ iStock, องค์การเภสัชกรรม เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 529 – 22nd ANNIVERSARY

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 22 : 16 ตุลาคม 2563

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

5 ประสบการณ์ กระดูกพัง ด้วยพฤติกรรมประจำวันผิด ๆ

หยุดโรคร้ายได้เพราะหมั่นสังเกต มิ้นต์-ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง

ภารกิจสุดท้ายของป้าแจ๋ว

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.