อ้วน โรคอ้วน ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน

คู่มือป้องกัน อ้วน เฉพาะวัย ทำตามง่าย ได้ผลจริง

คู่มือป้องกัน อ้วน เฉพาะวัย ทำตามง่าย ได้ผลจริง

อ้วน โรคที่เกิดได้ทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันการดูแลสุขภาพมีแนวโน้มจะได้รับการใส่ใจมากขึ้นทั้งในระดับปัจเจกและในระดับสังคม โดยเฉพาะปัญหาพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค หรือที่ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต เรียกว่า “โรคที่ไม่ใช่โรค”

หนึ่งในนั้นคือโรค อ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ต่อการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนของคนไทยทั้งชายและหญิง

ชีวจิต ขอนำเสนอสาเหตุก่อโรค อ้วน ของคนแต่ละวัยพร้อมวิธีป้องกัน เพื่อให้ผู้อ่านใช้เป็นข้อมูลในการดูแลสุขภาพและช่วยสร้างหุ่นฟิตเฟิร์ม

ทั้งนี้จะขอแบ่งเป็น 4 ช่วงวัย คือ วัยเด็ก อายุ 0 – 12 ปี วัยรุ่น 13 – 19 ปี วัยทำงาน 20 – 59 ปี และวัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

 

วัยเด็ก

กินให้สมวัย เพื่อคุณค่าทางโภชนาการ

วัยเด็กคือช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 12 ปี เป็นวัยที่ต้องอาศัยการดูแลจากพ่อแม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแม่ที่เป็นคนเลี้ยงดูและควบคุมการกินอาหาร เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ซึ่งทำให้เด็กเจริญเติบโตและมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์

เหตุทำเด็กอ้วน

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อธิบายถึงสาเหตุสำคัญของโรคอ้วนในวัยเด็ก สรุปได้ดังนี้

  • เด็กกินอาหารมากเกินความจำเป็น (Overfeeding) โดยเฉพาะเด็กเล็กก่อนวัยเรียนที่กินอาหารเสริมหรือนมผงมากเกินไป จนได้รับพลังงานเกินความต้องการของร่างกาย
  • ทัศนคติของสังคมไทยชอบให้เด็กอ้วน สังคมไทยมองเด็กอ้วนจ้ำม่ำว่าเป็นเด็กน่ารัก เมื่อโตแล้วเด็กจะผอมเอง เราควรทำความเข้าใจและปรับทัศนคติดังกล่าวเสียใหม่ เพราะเด็กอ้วนมีโอกาสจะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนในอนาคต
  • การกินอาหารไม่มีประโยชน์ เด็กวัยเรียนต้องเผชิญกับสิ่งยั่วยุมากมาย โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณสูง อาหารที่มีไขมันและโซเดียมเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายมาก ส่งผลให้เด็กอ้วนง่าย
โรคอ้วนในวัยเด็ก
พ่อแม่ควรให้ความใส่ใจ ด้านโภชนาการของลูกน้อย เพื่อป้องกันก่อนเป็นโรคอ้วน

กินให้สมวัย

โรคอ้วนในเด็กเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วย ทั้งในระดับนโยบายของรัฐบาล โรงเรียน และชุมชน แต่ที่สำคัญที่สุดคือครอบครัว ที่จะเป็นหน่วยหลักในการสรรหาอาหารสุขภาพให้เด็ก รวมถึงควรทำกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กๆ ได้ใช้พลังงาน

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้แนะนำวิธีป้องกันโรคอ้วนในเด็กไว้ดังต่อไปนี้

  • ควรให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เกิดมา
  • ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน
  • ควรจำกัดอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลปริมาณสูงให้น้อยลง
  • กินผัก ผลไม้ เมล็ดถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสีเป็นประจำ
  • ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวันละ 60 นาที

นอกจากนี้ ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนคลินิก (เบาหวาน หัวใจ โรคกลุ่มเมตาบอลิก) ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำการให้เด็กๆ กินอาหารตามหลักธงโภชนาการ คือ กินอาหารให้เหมาะสมกับอายุ เพศ ขนาด รูปร่าง และการใช้พลังงานในแต่ละวัน โดยเน้นกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย เพื่อช่วยสร้างสุขภาพ เสริมภูมิต้านทาน และป้องกันโรค

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.