สังคม สิ่งแวดล้อม

สังคม สิ่งแวดล้อม สำคัญอย่างไรต่อผู้สูงอายุ?

สังคม สิ่งแวดล้อม สำคัญอย่างไรต่อผู้สูงอายุ?

ปัญหาสุขภาพจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหลักของผู้สูงอายุ โรคที่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุล้วนเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการเยียวยารักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการไปพบแพทย์รับยา เจาะเลือด หรือต้องรับการตรวจเพิ่มเติม โรคเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับความเสื่อมในระบบอื่นๆ ของร่างกายของผู้สูงอายุ อาทิ ตา,ฟัน, กระดูกและข้อ ซึ่งเกิดขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น และต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาของวัยสูงอายุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ยังพบว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นในผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง ที่มักจะมีความเหงา ความว้าเหว่ ความเครียด ความวิตกกังวล ที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุเอง รวมกับภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการเดินทางไปรับการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็น อาทิ อาหาร สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

ท่ามกลางการขยายตัวของสังคมอายุยืน ยังคงมีข้อเท็จจริงที่น่าห่วงใยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ จากการเปิดเผยข้อมูลการฆ่าตัวตายโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2561 พบว่าสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จในผู้สูงอายุ มีอัตราที่สูงขึ้นเป็นลำดับที่สอง รองจากวัยทำงาน โดยระบุว่าวัยทำงานที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมีสูงถึง ร้อยละ 74.7 รองลงมาคือผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 22.1 ซึ่งเหตุผลสำคัญของการตัดสินใจฆ่าตัวตายจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ ขาดคนดูแลเอาใจใส่ มีโรคประจำตัว เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือมีภาวะซึมเศร้า ที่น่าจะนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย เป็นปัจจัยโดยตรงจากภาวะจิตใจของผู้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ผลการวิจัย เรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือน ซึ่งมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลายในสังคมไทย” เพื่อประเมินความเข้มแข็งและประเมินความต้องการสนับสนุนของครัวเรือนโดย ผศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว และผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส คือผู้สูงอายุกลุ่มแรกๆ ที่จะต้องเฝ้าระวัง ในเรื่องการได้รับการดูแล มากกว่าผู้สูงอายุกลุ่มที่ยังคงมีลูกหลาน ญาติพี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกัน

อีกทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวจะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในเขตเมือง มากกว่าในเขตชนบท รูปแบบการอยู่อาศัยตามลำพังคนเดียวในสังคม ย่อมเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ผู้สูงอายุขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น อาจนำมาซึ่งความเหงา ความว้าเหว่ ความวิตกกังวลใจ อาจหมกมุ่น ใช้ความคิดกับปัญหาของตนเองมากเกินไป เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งส่งผลทำให้จิตใจเศร้าหมอง ขาดความสุข และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าได้

ผลการศึกษายังสะท้อนอีกด้วยว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง มีความต้องการให้เพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนมาเยี่ยมเยียน พบปะพูดคุยบ้าง เพื่อช่วยให้คลายความเหงา ลดความวิตกกังวลใจ สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ยังคงมีความวิตกกังวลเรื่องการเกิดอุบัติเหตุในบ้านโดยไม่มีใครรู้  อีกทั้ง “ปัญหากลัวตายตามลำพังคนเดียว” ก็เป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีความห่วงกังวล จึงต้องการให้สังคม ชุมชนรอบข้างที่หมายถึง เพื่อนบ้าน คนในชุมชนแวะเวียนมาหาและทักทายเป็นประจำ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว “การสนับสนุนทางสังคม” (Social Support) หรือการที่ผู้สูงอายุ มีเพื่อนบ้าน มีผู้แวะเวียน หมั่นมาเยี่ยมเยียน (โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มจะติดบ้าน การเดินทางไปร่วมกิจกรรมต่างๆ มีความยากลำบากมากขึ้น) จะเป็นการช่วยสร้างความสุขทางใจ สร้างความมั่นใจให้กับผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี งานอาสาสมัครต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในแต่ละชุมชน อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. จิตอาสาในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งในเขตเมืองและชนบท น่าจะเป็นคำตอบที่สามารถช่วยทำหน้าที่เกื้อหนุน ดูแล และออกเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุในชุมชนของตนเองได้เป็นอย่างดี กิจกรรมการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุเพื่อให้กำลังใจ สอดส่องดูแลทุกข์ สุขล้วนก่อให้เกิดความสุขใจให้กับผู้สูงอายุและผู้ที่มาเยี่ยมเยียน ตามครรลองวิถีปฏิบัติของสังคมไทย

นอกจากการหนุนเสริมจากชุมชนและสังคมรอบข้างแล้ว ต้องยอมรับว่า การมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปลอดภัย ได้แก่ บ้าน ที่พักอาศัย และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตประจำวันของตนเองได้อย่างอิสระ(Independent Living) รวมถึง โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพต่างๆ อาทิ ถนนหนทาง ยานพาหนะ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ ภายในอาคารสถานที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น การติดตั้งราวจับบันได ทางเดิน ห้องน้ำ สวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย ฯลฯ ที่มีการออกแบบและจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ทำให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางออกจากบ้านได้ด้วยตนเอง และมีความมั่นใจในการดำรงชีวิตประจำวัน สามารถออกไปทำธุระหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคมได้ด้วยตนเอง

อีกทั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ยังได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ประสบอุบัติเหตุ และเรียกใช้บริการสายด่วน 1669 ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา(ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562)  พบว่ามีผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุจำนวนมากถึง 141,895 ราย ในจำนวนดังกล่าว ลักษณะอุบัติเหตุที่พบมากที่สุดคือ การหกล้ม ซึ่งส่งผลให้ กระดูกสะโพกแตก/หัก และลำดับถัดมาคือ การที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือได้รับความกระทบกระเทือน7  ซึ่งเป็นสถิติที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงจนถึงเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ รวมถึงสูญเสียความสามารถ ทำให้ต้องพึ่งพาบุคคลอื่น และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของผู้สูงอายุ และสมาชิกครอบครัวรวมถึงผู้ดูแล

ที่มา: กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

สุขภาพจิตของผู้สูงวัย คือเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจ

การดูแลผู้สูงวัย มีอะไรบ้างคือสิ่งที่ผู้ดูแลควรต้องรู้!

แชร์เทคนิค “แก่” แบบมีคุณภาพ ด้วยการทำให้สุขภาพกาย ใจ และเงิน ดี!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.