แชร์เทคนิค “แก่” แบบมีคุณภาพ ด้วยการทำให้สุขภาพกาย ใจ และเงิน ดี!

เมื่อพูดถึงคำว่า “แก่” คงไม่มีใครชอบคำนี้สักเท่าไรนัก เพราะมักจะคิดว่าแก่แล้วชราภาพ ความสวยงามที่เคยมีเมื่อตอนวัยรุ่นจะหายไป การเคลื่อนไหนของร่างกายก็ช้าลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และถึงแม้บางคนจะบอกว่าเรื่องแก่เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอเพราะเป็นสัจธรรม แต่เชื่อเถอะค่ะว่าไม่มีใครอยากแก่ ไม่อยากให้ตัวเองแก่แน่นอน แต่เราก็ไม่สามารถที่จะหยุดเวลาเอาไว้ได้ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือการเตรียมตัว เพื่อที่วันนั้นมาถึงจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขมากที่สุด

และการทำให้ความแก่เป็นเรื่องเล็กๆ ด้วยการทำตัวเป็นวัยเก๋าที่หัวใจไม่ยอมแก่ เป็นสิ่งที่อยากให้ทุกคนลองทำกันดู เราจะใช้ชีวิตยังไงให้มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด การทำให้หัวใจไม่แก่อาจเป็นทางออกที่ดีได้ ทำตัวให้หัวใจไม่แก่ไม่ใช่เรื่องที่ยาก ซึ่งใครๆ ก็ทำ ได้ ด้วยการเริ่มที่ตัวเองที่ต้องมีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี และสิ่งสำคัญคือการมีสุขภาพการเงินดีนั่นเองค่ะ

เริ่มต้นที่ตวรต้องมี “สุขภาพกายดี”

สุขภาพกาย หมายถึงสภาวะของร่างกายที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง เจริญเติบโตอย่างปกติ ระบบต่างๆ ของร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพ ร่างกายมีความต้านทานโรคได้ดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและความทุพพลภาพ รวมถึงการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติก็คือ การทำให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ จิตใจมีความสุข ความพอใจ ความสมหวังทั้งตนเองและผู้อื่น

การออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงลดการเจ็บป่วยเล็กน้อย และต้องออกกำลังกายควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เหมาะสมกับร่างกาย ช่วงอายุเช่น ห้ามทานอาหารที่มีไขมันสูง ผลไม้หวานจัด เป็นต้น

โดยปัญหาด้านโภชนาการ ถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่ทำ ให้กลุ่มคนในวัยนี้เจ็บป่วยได้ ซึ่งนอกจากต้องใส่ใจการรับประทานอาหารแล้ว ยังสามารถเลือกอาหารเสริมให้กับร่างกาย เช่น โปรตีน แคลเซียม วิตามินบี12 วิตามินเอ ธาตุเหล็ก เป็นต้น และต้องไม่ลืมตรวจเช็คสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ เพราะอายุยิ่งมากยิ่งมีความเสื่อมของร่างกายมากตามไปด้วย เมื่อมีการตรวจเช็คและรู้อาการของแต่ละส่วนของร่างกายไวเท่าไรยิ่งช่วยชะลอหรือรักษาความเสื่อมเหล่านั้นได้

ลักษณะของผู้มีภาวะสุขภาพกายที่ดี

  1. สภาพร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรง
  2. อวัยวะต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ
  3. ร่างกาย ไม่ทุพพลภาพ
  4. ความเจริญทางด้านร่างกายเป็นไปตามปกติ
  5. ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

ตามมาด้วยการมี “สุขภาพจิตดี”

สุขภาพจิต หมายถึงสภาวะของจิตใจที่มีความสดชื่น แจ่มใส สามารถควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงเป็นปกติ สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ดี สามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และปราศจากความขัดแย้งหรือความสับสนภายในจิตใจ

เมื่อมีสุขภาพกายดีแล้วสุขภาพจิตต้องดีตามด้วย ซึ่งหลายคนอาจปรับตัวกับชีวิตวัยเกษียณได้ยาก จากที่ต้องตื่นเช้าไปทำงาน แต่กลับต้องตื่นเช้ามาแล้วไม่มีงานทำการว่างงานจะเป็นตัวกระตุ้นให้กลุ่มวัยเกษียณมีความวิตกกังวลทั้งความกังวลเรื่องสุขภาพ กังวลเรื่องเงิน กังวลเรื่องครอบครัว ยิ่งว่างมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีเวลาคิดที่ทำให้เกิดความเครียดมากขึ้นไปอีก ทางออกที่จะเห็นผลได้ชัดเจน คือการเข้าสังคม หางานอดิเรกทำและการหาสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน

กลุ่มวัยเกษียณต้องเข้าสังคมเพื่อช่วยลดเวลาว่าง หาเพื่อนที่มีความชื่นชอบในแบบเดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เต้นลีลาศ ท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบันมีบริษัทนำเที่ยวที่จัดทัวร์เฉพาะกลุ่มวัยเกษียณโดยเฉพาะ และเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตเนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564

สำหรับครอบครัวก็เป็นอีกหนึ่งสังคมที่ช่วยให้กลุ่มวัยเกษียณลดความเหงา มีสุขภาพจิตดีขึ้นได้และนับว่าเป็นตัวช่วยที่สำคัญ จึงควรให้ความใส่ใจและหาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกัน

สัตว์เลี้ยง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้กลุ่มวัยเกษียณคลายเหงาได้ซึ่งมีผลการวิจัยของ MarianR. Banks & William A. Banks ได้สรุปมาว่า สัตว์เลี้ยงจะช่วยบำบัดคลายความเหงาให้กับผู้สูงอายุ และยังช่วยบรรเทาอาการโรคอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี

การมีงานอดิเรกก็ช่วยคลายความกังวลได้ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังผลักดันออกร่างกฎหมายให้ขยายการเกษียณอายุราชการจาก 60 ปีเป็น 63 ปีซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีกฎหมายให้บริษัทเอกชนสนับสนุนการจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน ซึ่งบริษัทเอกชนสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 100% ของเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างสูงอายุตามที่ปรากฎในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2560

และขอยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่ได้เตรียมพร้อมสังคมสูงวัยได้อย่างรอบด้าน ทั้งออกกฎหมายให้จ้างแรงงานสูงอายุ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ นับได้ว่าประเทศสิงคโปร์เป็นต้นแบบการจัดการสังคมสูงวัยอย่างรอบด้าน

การมีงานอดิเรกทำนอกจากช่วยคลายความกังวลคลายความเหงาให้กับกลุ่มผู้เกษียณแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้เสริมที่นอกเหนือจากรายได้ที่ได้รับหลังเกษียณด้วย และส่งผลให้สุขภาพการเงินดีได้

 ที่สำคัญต้อง “สุขภาพการเงินดี”

เรื่องการเงินถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้คนเรานั้น อยู่ในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีความสุขและอยู่ต่อได้แบบมีคุณภาพ ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการเช็คตัวเองก่อนว่ามีสุขภาพการเงินเป็นแบบไหน ประเมินตัวเองว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่ปีและเงินเก็บที่มีเพียงพอกับช่วงอายุที่เหลือหรือไม่ แต่ยังมีปัจจัยที่จะทำให้สุขภาพการเงินแย่ลงได้ คือการมีหนี้สินทางเลือกด้วยการตัดหนี้สินหรือทำให้หนี้สินหมดเร็ว จะยิ่งทำให้มีสุขภาพการเงินดี

คงไม่มีใครอยากเจอกับปัญหา “เงินใช้วัยเกษียณไม่เพียงพอ” ซึ่งสถาบันการเงิน ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ออกมารองรับกับสังคมสูงวัย เช่น ประกันบำนาญ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้

โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage เป็นผลิตภัณฑ์การเงินในรูปแบบใหม่ที่คนไทยอาจยังไม่คุ้นชิน ซึ่งเป็นการนำบ้านที่อยู่อาศัยนำไปเป็นหลักประกันกับธนาคาร เสมือนการกู้เงินซึ่งธนาคารจะจ่ายเงินกู้เป็นรายเดือนให้กับผู้กู้ จากการกู้ปกติที่จะได้รับเงินเป็นก้อนซึ่งสินเชื่อตัวนี้จะเหมาะกับบุคคลที่ไม่มีลูกหลาน หรือมีเงินใช้ในวัยเกษียณไม่เพียงพอ

ส่วนประกันบำนาญอาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่ซ่ะทีเดียว แค่คนไทยยังไม่ตื่นตัวกับการเตรียมตัวในวัยเกษียณ ซึ่งประกันบำนาญจะเป็นการทยอยซื้อเบี้ยประกันเพื่อให้ได้รับเงินคืนในช่วงวัยเกษียณอายุ โดยส่วนใหญ่บริษัทประกันจะการันตีผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อประกัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า ณ วันเกษียณจะได้รับเงินคืน และมีผลตอบแทนจากการซื้อเบี้ยประกัน

ทุกคนสามารถเป็นคนกลุ่มสูงวัยหัวใจไม่แก่ได้แต่ใครจะถึงเป้าหมายนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมของตัวเอง วัยเกษียณไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว เพราะเวลามักหมุนเร็วเกินกว่าที่เราจะคาดคิด อย่าปล่อยให้เมื่อเกษียณแล้วมานั่งเครียดกับเงินไม่พอใช้ สุขภาพร่างกายไม่ดี และยังทำให้สุขภาพจิตไม่ดีอีกด้วยนั่นเองค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

แชร์เคล็ดลับเตรียมตัวก่อนวัยเกษียณ อยากเป็นแบบไหนเลือกเลย!

ความมสุขที่แท้จริงของผู้สูงวัย คือการยอมรับและทำใจกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น!!

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ที่อาจก่อให้เกิด “ภาวะเปราะบาง” ในผู้สูงอายุ?

 

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.