เครื่องวัดความดันโลหิต ไอเทมที่ควรมีติดบ้านตายาย
โรคความดันโลหิตนับเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ไม่สามารถตรวจพบสาเหตุโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ผู้สูงอายุอาจไม่ได้รับการรักษาที่ตรงจุด หรือปล่อยปะละเลยกับการใส่ใจสุขภาพในทุก ๆ วัน
จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี ค.ศ.2013 พบว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุการตายทั่วโลกสูงถึง 7.5 ล้านคน โดยสองในสามจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และแน่นอนว่ารวมไปถึงประเทศไทยที่มียอดผู้ป่วยความดันโลหิตเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายน้อย บริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือและไขมันสูง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
รวมไปถึงการแปรผันกับอายุที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกับโรคความดันโลหิตสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากร่างกายมีความเสื่อมถอยของหลอดเลือด ผนังหลอดเลือดแดงจะหนาทำให้มีความแข็งมากขึ้น ความยืดหยุ่นน้อยลง มักเกิดร่วมกับการสะสมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและไขมันในผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ
วันนี้ ชีวจิต จึงขอพาคุณตาคุณยายมาทำความรู้จักกับเครื่องวัดความดันโลหิตแต่ละประเภท และวิธีเลือกเครื่องวัดความดันโลหิตสำหรับใช้งานที่บ้านกันค่ะ
3 ประเภทเครื่องวัดความดันโลหิต
การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน (HBPM) เป็นการที่คุณตาคุณยาย หรือบุคคลในครอบครัวที่ได้รับการแนะนำวิธีและเทคนิคในการวัดความดันโลหิตจากแพทย์ เพื่อที่จะสามารถวัดความดันในทุก ๆ วันขณะอยู่บ้าน โดยเริ่มจากการรู้จักเครื่องวัดความดันโลหิตแต่ละประเภทก่อนเลือกใช้ให้เหมาะสม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แบ่งประเภทเครื่องวัดความดันหลัก ๆ ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอท เป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับวัดความดันโลหิต วัดง่ายไม่ต้องมีการปรับแต่ง ที่สำคัญให้ผลที่แม่นยำ แต่ยังไม่เหมาะสำหรับซื้อใช้งานที่บ้าน เพราะอาจเกิดอันตรายจากสารปรอท และมีความลำบากในการใช้งาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีสายตาไม่ดีจะอ่านตัวเลขลำบาก หรือร่างกายอ่อนแรงไม่สามารถบีบลมให้ได้ค่าที่แม่นยำ
2.เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดขดลวด ราคาไม่แพง มีน้ำหนักเบา และพกพาสะดวก มีการใช้งานคล้ายกับชนิดปรอท แต่ตัวเครื่องมือมีกลไกลซับซ้อนมากกว่า ต้องปรับเครื่องมือโดยเทียบกับเครื่องมือชนิดปรอทอย่างน้อยปีละครั้งหรือเมื่อมีการทำตก
3.เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องมีหูฟังหรือลูกยางสำหรับบีบลมทำให้สะดวกในการใช้งาน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุแม้ว่าจะมีสายตาไม่ดีหรือการได้ยินไม่ชัดก็ตาม มีหน้าจอแสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจที่ชัดเจน เมื่อใช้งานไม่ควรขยับร่างกาย เพราะจะทำให้เกิดการผิดพลาดของการวัดได้ง่าย
Trips เลือกเครื่องวัดความดันโลหิต
คุณตาคุณยายที่กำลังเลือกซื้อเครื่องวัดความดันโลหิต อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจไปนะคะ เพราะเครื่องวัดความดันโลหิตมีหลายรูปแบบ ความยากง่ายในการใช้ง่ายแตกต่างกันไป ควรเลือกให้เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด โดย Blood Pressure UK หรือองค์กรการกุศล เพื่อป้องกันความพิการและการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตของประเทศอังกฤษ ได้แนะนำวิธีการเลือกเครื่องวัดความดันโลหิตด้วยตนเองง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
-ตรวจสอบจอภาพให้ถูกต้อง เลือกเครื่องวัดที่ผ่านการตรวจสอบทางการแพทย์ มีจอภาพที่อ่านค่าได้ชัดเจน ข้อมูลครบถ้วน และคุณตาคุณยายต้องสามารถมองเห็นตัวเลขได้ชัด
-ผ้าพันแขนมีขนาดที่เหมาะสม หากใช้ผ้าพันแขนที่มีขนาดไม่พอดี การอ่านค่าความดันโลหิตก็จะไม่ถูกต้อง ให้วัดรอบต้นแขนของคุณตาคุณยายที่จุดกึ่งกลางระหว่างหัวไหล่และข้อศอกแล้วเลือกขนาดผ้าพันแขนให้เหมาะสมกับขนาดที่วัดได้
-เลือกรูปแบบให้เหมาะสมกับงบประมาณ ราคาของเครื่องวัดความดันโลหิตมักจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติพิเศษที่จอภาพดิจิทัลแสดงผล เช่น มีหน่วยความจำภายใน แม้ว่าบางคุณสมบัติพิเศษจะมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะจำเป็นทั้งหมด เพียงแค่มีค่าตัวเลขความดันตัวบนและค่าความดันตัวล่าง ก็เพียงพอสำหรับคนที่มีงบจำกัด
-ทำการทดสอบเทียบค่า เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตมีความแม่นยำ ควรทดลองใช้แล้วเปรียบเทียบค่ากับเครื่องหลาย ๆ รูปแบบ โดยวัด 2 – 3 ครั้งในคราวเดียว เพื่อดูว่าค่าที่แสดงออกมามีความแม่นยำแค่ไหน ถ้ามีความแม่นยำ ค่าความดันที่ได้จะเท่ากัน หรือไม่แตกต่างกันมากนัก
คุณตาคุณยายที่เลือกใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิทัล จำเป็นต้องเทียบค่าอย่างน้อยทุก ๆ สองปี เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ และตัวคุณตาคุณยายเองก็อย่าลืมตรวจวัดความดันโลหิตทุกวันกันด้วยนะคะ
ที่มา: นิตยสารชีวจิต ฉบับ 521
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
10 โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ลูกหลานควรดูแลอย่างใกล้ชิด
เครื่องชั่งน้ำหนักแบบไหน เหมาะกับผู้สูงวัยที่เรารักมากที่สุด
“NEW NORMAL ” ชีวิตวิถีใหม่ของ สว. ที่จะเปลี่ยนไปในหลายๆ ด้าน