เป็น คุณแม่ลูกอ่อน แต่ต้องทำงานไปด้วย สุขภาพจะทรุดโทรมไหม
มีคำกล่าวว่า ” คุณแม่ลูกอ่อน ต้องว่องไว ” เห็นด้วยเป็นที่สุดค่ะเพราะเด็กทารกนั้นต้องการการดูแลเอาใจใส่ตลอดเวลา และเมื่อต้องกลับไปทำงาน ปัญหาต่างๆของคุณแม่ลูกอ่อนจึงเพิ่มขึ้น คุณหมอชัญวลี ศรีสุโข คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิตอธิบายปัญหาสุขภาพของคุณแม่ลูกอ่อนไว้ดังนี้
ความสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ
“ผู้หญิงทำงานมีลูกอ่อน โดยเฉพาะที่ยังให้กินนมแม่อยู่นั้น ต้องระวังเรื่องความเครียดและความเหน็ดเหนื่อย เราทราบกันดีว่า การให้ลูกกินนมแม่เกิน 6 เดือนนั้นมีประโยชน์หลายทาง คือ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ และช่วยกระชับสายสัมพันธ์แม่ลูก แต่ขณะเดียวกันหากเกิดปัญหาว่า คุณแม่สุขภาพไม่แข็งแรง เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานและเลี้ยงลูก เพราะไม่มีคนช่วย อาจทำให้ไม่มีน้ำนม คุณแม่ทำงานก็ไม่ควรเครียด และไม่ควรมีใครตราหน้าว่าเธอเป็นคนบาปที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ เพราะจะยิ่งสร้างความเครียดให้แก่คุณแม่ทำงาน”
ดังนั้นคุณพ่อหรือคนใกล้ชิด ควรมีส่วนช่วยในการดูแลลูก เพื่อลดความเหน็ดเหนื่อยและความเครียดของคุณแม่ลูกอ่อนลง นอกจากนี้ คุณหมอชัญวลียังแนะนำให้ผู้หญิงทำงานที่มีลูกอ่อนเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพระบบสืบพันธุ์ของตนเอง
“แม่ลูกอ่อนต้องระวังปัญหาการอักเสบติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่า มีอาการปวดท้อง เป็นไข้ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นหรือไม่ ซึ่งแสดงว่า มดลูกเกิดการอักเสบ เต้านมปวดบวม หัวนมเป็นแผลอักเสบหรือไม่ หากมีต้องรีบไปพบแพทย์ทันที”
นอกจากนี้คุณหมอชัญวลียังอธิบายว่า คุณแม่ลูกอ่อนอาจพบปัญหาไม่มีความต้องการทางเพศ เนื่องจากขณะให้ลูกกินนมแม่ จะทำให้ฮอร์โมนจากรังไข่ไม่ทำงาน จึงอาจเกิดอาการเจ็บและแสบช่องคลอดหรือไม่มีความต้องการทางเพศได้ รวมถึงคุณแม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดอย่างเหมาะสมเพราะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้แม้ขณะให้นมลูก ซึ่งการตั้งครรภ์ติดกันมีผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์