ยารักษาสิว ตัวเลือกดีๆ เพื่อคนมีสิวเพราะหน้ากากอนามัย

ยารักษาสิว ตัวเลือกดีๆ เพื่อคนมีสิวเพราะหน้ากากอนามัยที่ต้องใส่เป็นประจำ

ยาทาสิว ตัวไหนดี จะช่วยให้สิวยุบมั้ย จะช่วยให้สิวที่เกิดจากการใส่หน้ากากอนามัยหาย หรือลดลงหรือเปล่า วันนี้ เรามีเรื่องเกี่ยวกับยาแก้สิวมาบอกต่อค่ะ

ผศ. นพ.วาสนภ วชิรมน หน่วยผิวหนังและเลเซอร์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การรักษาสิวที่จัดเป็นการรักษาหลัก ได้แก่ การใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทา หรือรับประทาน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของสิว

ยาทาสำหรับสิว จะออกฤทธิ์ที่การลดสิวอุดตัน ฆ่าเชื้อสิวและลดการอักเสบ ส่วนมากต้องใช้ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีและลดโอกาสการดื้อยายาที่นิยมใช้เช่น ยาทาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซัยลิคซึ่งจะซึมเข้าสู่รูขุมขน ช่วยให้สิวอุดตันที่มีอยู่ค่อยๆ หลุดออก หากใช้ในความเข้มข้นสูงอาจทำให้ผิวลอกได้ยาทาที่มีตัว ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ครีมเจล โลชั่น และมีหลายความเข้มข้น มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสิว เมื่อทายาไว้บนผิวหนัง ปริมาณเชื้อและไขมันบนผิวหนังจะลดลง ยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ในระยะแรกของการใช้ยาอาจจะทำให้ผิวหนังแดงอักเสบจึงควรจะเริ่มใช้ยาในขนาดความเข้มข้นต่ำๆยากลุ่มนี้มีข้อควรระวังคืออาจทำให้สีเสื้อ หรือที่นอนจางลง หรือเปลี่ยนสีได้

ยาทาที่มีตัวยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดามัยซิน อีรีโทรมัยซิน ช่วยฆ่าเชื้อสิว มีทั้งรูปแบบ เจลและน้ำ ยาทาที่มีส่วนผสมของวิตามินเอและอนุพันธ์เช่น เตตริโนอิน ไอโซเตตริโนอิน อะดาพาลีน ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังลอกหลุดเร็วขึ้น สิวอุดตันนิ่มลงและหลุดออกจากผิว ทำให้ปริมาณหัวสิวลดลง และยาทาที่มีส่วนผสมของอะเซเลอิค แอซิด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสิว ข้อดีคือช่วยลดการสร้างเม็ดสีทำให้รอยสิวจางลง

ส่วน ยารับประทาน นั้น ต้องบอกว่าการรับประทานยาสิวไม่ว่าจะเป็นยาตัวใดก็ตาม ควรรับประทานติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 3 เดือน หากหยุดยาเร็วสิวจะกลับมาเป็นใหม่ได้ง่ายยาที่นิยมใช้คือ ยากลุ่มปฏิชีวนะ ยากลุ่มฮอร์โมน และยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ กลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้บ่อย ได้แก่ ยากลุ่มเตตร้าไซคลิน ด็อกซี่ไซคลิน มิโนไซคลินอีรีโทรมัยซิน ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสิวและลดการอักเสบ บางตัวอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้อาเจียน อาจปวดท้องได้หากรับประทานขณะท้องว่าง

สำหรับสุภาพสตรีที่มีสิวบางประเภท อาจใช้ยากลุ่มฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน และยาที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน เช่น ไซโปรทีโรน อะซีเตท ยากลุ่มนี้เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นสิวจากฮอร์โมน มีผลข้างเคียงคือคัดตึงเต้านมและน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้และยาอีกกลุ่มคือ ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ได้แก่ ไอโซเตตริโนอิน เป็นยารักษาสิวเป็นยาที่ใช้ได้ผลสำหรับสิวที่เป็นมากหรือสิวที่ดื้อต่อยาหรือการรักษาอื่น เหมาะสำหรับสิวอักเสบมากและสิวหัวช้าง ยากลุ่มนี้จะทำให้ไขมันและเชื้อลดลงจึงไม่เกิดสิว แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ผิวแห้งแตกผมร่วง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อสหรับผู้ที่รับประทานยาขณะตั้งครรภ์ก็อาจจะทำให้ทารกเกิดมาพิการได้ ดังนั้น การใช้ยานี้ต้องมีการคุมกำเนิดร่วมด้วยและหากต้องการตั้งครรภ์ต้องหยุดยานี้1เดือน (ตามข้อมูลขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา) ไม่ใช่หยุดยาเป็นปีตามที่มีการกล่าวอ้างทางอินเตอร์เน็ต

ข้อมูลจาก : ผศ. นพ.วาสนภ วชิรมน หน่วยผิวหนังและเลเซอร์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความอื่นที่น่าสนใจ

5 เทคนิคดูแลผิว สำหรับคน เป็นสิวบ่อย เป็นสิวเรื้อรัง ขึ้นซ้ำๆ ไม่หายสักที

โรคสิวเห่อ สิวอักเสบ เกิดจากการนอนไม่พอ นอนดึกจริงหรือ?

สิวขึ้นง่าย ผิวอ่อนแอ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.