บ้างาน

บ้างาน มากๆ อาจเสี่ยงป่วย โรคซึมเศร้า

ผู้เชี่ยวชาญชี้ บ้างาน เสี่ยงป่วย โรคซึมเศร้า เป็น 2 เท่า

ผลการศึกษาล่าสุด พบว่าคนที่ทุ่มเทกับงานมาก หรือมีลักษณะ บ้างาน อาจเสี่ยงต่อการเป็น โรคซึมเศร้า ได้ในอนาคต รายงานจาก International Journal of Environmental Research and Public Health ระบุว่าคนบ้างาน หรือ Workaholic มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า รวมถึงยังส่งผลต่อคุณภาพการนอนที่แย่อีกด้วย

สถิติคน บ้างาน ป่วยหนัก

จากการสังเกตพฤติกรรมการทำงานของคนฝรั่งเศสจำนวน 187 คน พบว่าคนที่เรียกร้องขอทำงาน มีแนวโน้มที่จะเป็นคนเสพติดการทำงานเพิ่มขึ้น 5 เท่า โดยกลุ่มคนทำงานที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ โดยทั่วไปจะมีการทำงานมากกว่ากลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำประมาณ 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีลักษณะเป็นส่วนร่วมในแต่ละส่วนของงานที่มากเกินความจำเป็น แม้ไม่ได้ถูกขอร้องให้ทำ

ผลการศึกษาพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเสพติดการทำงานมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า

ผลที่ตามมาคือ บรรดาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเสพติดการทำงาน ยังมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเป็น 2 เท่า ส่วนคนที่มีความเสี่ยงที่จะเสพติดงานน้อยกว่า อาจแสดงอาการออกมาในลักษณะความวิตกกังวล นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่ากลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงยังมีคุณภาพการนอนที่ต่ำด้วย

เช็กอาการ บ้างาน หรือเปล่านะ

แอดเชื่อว่าทุกคนรู้จักคำว่า Woke – Life Balance กันเป็นอย่างดี นั้นก็คือการจัดการชีวิตอย่างสมดุล ทั้งในด้านการทำงน และการใช้ชีวิต แต่ด้วยความเร่งรีบ และการแข่งขันของโลกการทำงาน จึงอาจทำให้หลายคนกลายเป็นคนบ้างานไปโดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้อีกทีก็ถลำลึกจนป่วยไปแล้วไม่ว่าจะทางกาย หรือทางใจ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เรามาเช็กกันก่อนดีกว่า ว่าเราบ้างานหรือเปล่า เพื่อที่ว่าจะได้ปรับตัวเข้าหาสมดุลได้อย่างทันท่วงทีนะคะ

1.นอนไม่หลับ เฝ้าคิดวนเวียนแต่เรื่องงาน

แม้จะทำงานหนักจนเหนื่อยล้าอ่อนแรงแค่ไหน แต่เมื่อกลับไปถึงบ้านก็ยังไม่สามารถตัดงานออกจากความคิดได้ นั่งคิดนอนคิดเรื่องงานไปจนนอนไม่หลับ สุดท้ายก็เกิดความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรปล่อยวางเรื่องงานบ้าง แบ่งเวลาพักผ่อนกับเวลางานออกจากกันให้เด็ดขาด ในเวลางานทุ่มเททำอย่างเต็มที่นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าจะดีที่สุดเมื่อถึงเวลาพักก็พักอย่างเต็มที่ด้วย

บ้างาน

2.หลงลืมเรื่องราวนอกเนื้อจากงานบ่อยๆ สมองเบลอ

มัวแต่คิดเรื่องงานจนลืมเรื่องราวรอบกาย ทำให้กลายเป็นคนหลงลืมเรื่องใกล้ตัวอยู่บ่อยๆ เช่น ลืมกุญแจบ้าน กุญแจรถ แบบนี้อาจเป็นสัญญาณจากสมองที่บ่งบอกว่ากำลังอ่อนล้า เพราะมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องงาน จนไม่สนใจเรื่องอื่นในชีวิต ลองหาทางปลดปล่อยความเครียด ด้วยการแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อคลายเครียดก็ดีเหมือนกันนะ

3.ปวดคอ หลัง บ่า ไหล่ ไมเกรนก็ถามหา

หากเริ่มมีอาการปวดคอ หลัง บ่า ไหล่ ตามแบบฉบับออฟฟิศซินโดรม หรือปวดกระบอกตาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปจนเป็นไมเกรน เหล่านี้คือสัญญาณที่บอกว่าเราทำงานหนักจนร่างกายส่งสัญญาณมาเตือนแล้วว่าให้พักผ่อนเสียบ้าง ก่อนที่โรคร้ายอื่นๆ จะมาเยือน

4.หงุดหงิด โมโหง่าย

หัวร้อนง่าย เอะอะก็โมโห ใครพูดอะไรไม่เข้าหูหน่อยก็มีอารมณ์ฉุนเฉียว อาจเกี่ยวกับการทำงานที่มากเกินไปจนทำให้เกิดความกดดันและความเครียด ลองหันกลับมาดูแลกายและใจตัวเอง รวมถึงดูแลความสัมพันธ์กับคนรอบตัวบ้าง เพราะงานที่กำลังทำมันอยู่กำลังส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราเอง รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบๆ ตัวเราด้วย

5.กินอาหารไม่เป็นเวลา

มัวแต่ทำงานวุ่นจนลืมเวลาและลืมหาข้าวปลารับประทาน บางคนลืมกินข้าวทั้งวันพอตกดึกก็หิวโซซัดอาหารแบบไม่ยั้ง ส่งผลให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคอ้วน โรคกระเพาะ โรคกรดไหลย้อน รวมถึงอาจเกิดอาการหน้ามืดไม่มีแรง เพราะร่างกายขาดสารอาหารเป็นเวลานานด้วย

เช็กอาการโรคซึมเศร้า

เชื่อว่าหลายคนอาจตกใจ และเริ่มผวาว่าหากเราบ้างานแล้ว เราจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า วันนี้แอดมีวิธีสังเกตโรคซึมเศร้า เพื่อที่เราจะได้ใช้สังเกตตัวเอง หรือบางทีลองเช็กกับคนคนใกล้ชิดว่าเขาคนนั้นมีความเสี่ยงหรือไม่ เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงจะได้ช่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งหากมีอาการต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่าก็อาจมีความเสี่ยง

  1. มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
  2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
  4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
  5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
  6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่า
  8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
  9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

*ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ

*ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่ และหากว่าใครรู้สึกไม่สบายใจ ก็สามารถโทรศัพท์ปรึกษาที่หมายเลข 1323 ของกรมสุขภาพจิต ได้ตลอด 24 ชม.

บ้างาน

กำหนดลมหายใจ กระตุ้นความสุข ต้านซึมเศร้า

สำหรับใครที่รู้สึกว่า ไม่มีสมาธิ อารมณ์ไม่คงที่ แอดก็มีวิธีดีๆ ที่จะช่วยกระตุ้นความสุข ลดโอกาสเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้า ได้ ด้วย การกำหนดลมหายใจ แนะนำโดย อาจารย์ดร.ธรรมวัฒน์ อุปวงษาพัฒน์ อาจารย์ประจําภาควิชาสุขศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสะกดจิตบำบัดทางการแพทย์ และจิตวิทยาให้คำปรึกษา รวมทั้งเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมการสั่งจิตบําบัดทางการแพทย์ และทันตกรรมนานาชาติสหรัฐอเมริกา (IMDHA) อธิบายว่า

“ในทางการแพทย์พบว่า หากอยากมีอายุยืนยาวแข็งแรง และมีความสุข ให้กระตุ้นระบบประสาทส่วนพาราซิมพาเทติก (PNS) หรือประสาทส่วนผ่อนคลายเป็นหลัก เพราะระบบประสาทส่วนนี้จะช่วยปลดปล่อยฮอร์โมนดี ได้แก่ เอนดอร์ฟิน เซโรโทนิน ออกซิโทซิน โกรทฮอร์โมน โดพามีน ซึ่งฮอร์โมนทั้งหมดมีผลให้ร่างกายผ่อนคลาย มีความสุข เยียวยาอาการเจ็บปวด

“แล้วให้ใช้ประสาทส่วนซิมพาเทติก (SNS) หรือประสาทส่วนเร่งเร้าเพียงอ่อนๆ พอมีชีวิตชีวาเป็นบางครั้งคราวเมื่อยามภัยคุกคามเข้ามาเท่านั้น เพราะประสาทฝั่งเร่งเร้านำมาซึ่งสารแห่งความทุกข์มากมาย เช่น คอร์ติซอล อะดรีนาลิน แลกเทต เป็นต้น จึงพูดได้ว่า ระบบประสาทส่วนพาราซิมพาเทติกเป็นระบบประสาทแห่งความสุข ส่วนประสาทส่วนซิมพาเทติกเป็นระบบประสาทแห่งความทุกข์”

ซึ่งอาจารย์ดร.ธรรมวัฒน์มีวิธีการง่ายๆที่จะช่วยกระตุ้นร่างกายให้หลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาเยียวยาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจดังนี้ค่ะ

ขั้นตอนกำหนดลมหายใจ

วิธีที่ 1 หายใจเข้าลึกจนท้องป่อง แล้วหายใจออกให้ยาวจนรู้สึกสบาย 10 ครั้ง วิธีนี้ไม่เพียงกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติกเท่านั้น ยังช่วยปรับคลื่นสมองให้อยู่ในโหมดคลื่นอัลฟ่าด้วย ซึ่งช่วยส่งเสริมความจำ การคิด การมองโลกในแง่ดี คุณจะสงบเร็วขึ้น มีสติ ตัดสินใจแก้ไขปัญหาและสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีขึ้น

วิธีที่ 2 การเคาะตามแนวเส้นเมอริเดียนหรือจุดรวมประสาทของร่างกาย เช่น การเคาะที่ศีรษะ ใบหน้า และหู จะช่วยกระตุ้นระบบประสาท ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
โดยคุณหมอกฤตชญากล่าวเสริมถึงคุณประโยชน์ของการฝึกลมหายใจว่า

“Breathing Exercise หรือการฝึกลมหายใจเข้าลึกออกยาว ช่วยคลายเครียดได้ตั้งแต่คนที่ยังไม่เป็นโรคเครียด ไปจนถึงคนที่มีภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ทำให้จิตใจผ่อนคลาย ได้พักจากความคิดบางอย่างที่วนเวียนอยู่ในหัว แล้วกลับมาอยู่กับร่างกายของตัวเอง

“อาจทำก่อนนอนจนกระทั่งหลับไป  หรือขณะทำงานระหว่างวันเพื่อผ่อนคลายความเครียด  และบู๊สต์พลังให้กับตัวเองค่ะ”

ข้อมูลจาก

  • International Journal of Environmental Research and Public Health
  • กรมสุขภาพจิต
  • นิตยสารชีวจิต

บทความอื่นที่น่าสนใจ

10 แหล่งโอเมก้า-3 บำรุงสมอง หัวใจ ป้องกันซึมเศร้า

10 สารอาหาร ห่างไกล โรคซึมเศร้า แค่กินเป็น ก็มีความสุข

6 ถั่วมหัศจรรย์ ยิ่งกินยิ่งอายุยืน

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.