สุขภาพจิตของผู้สูงวัย

สุขภาพจิตของผู้สูงวัย คือเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจ

สุขภาพจิตของผู้สูงวัย คือเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจ

อายุที่เพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งความเสื่อมของร่างกายและจิตใจ ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น การเกษียณอายุ ทำให้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดและ บุคคลที่เคยร่วมงานกันมา แตกต่างจากที่เคยเป็นและเคยชิน การคิดถึงความตายที่คืบคลานเข้ามาใกล้มีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้การดูแลรักษาสุขภาพทางจิตของผู้สูงอายุมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลสุขภาพทางกาย

การดูแลสุขภาพทางกาย เช่น เรื่องอาหารการกิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานโปรตีนจำพวกปลา รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น อาหารควรเป็นอาหารสด สะอาดและไม่ใส่สารกันบูด ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะอย่างที่รู้ว่าการออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่าง ๆ ไม่ติดขัด ระบบไหลเวียนโลหิตและทางเดินหายใจทำงานสะดวกขึ้น การออกกำลังกายตามสวนสาธารณะยังทำให้ได้พบปะผู้คน ได้พูดคุยสังสรรค์ ทำให้จิตใจสดชื่น ไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตนเอง ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง

อย่าให้ผู้สูงวัยรู้สึกด้อยคุณค่า

นอกจากนี้อยากให้เน้นไปในเรื่องของการดูแล “สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ” เนื่องจากสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ อันประกอบด้วยปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ลูก กลายมาเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยว มีเพียงลำพังพ่อแม่ลูก ทำให้ผู้สูงอายุขาดความรักและการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน ช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผู้สูงอายุบางคนคือช่วงเวลาหลังเกษียณ บางคนยังไม่พร้อมจะเกษียณเพราะคิดว่าตนเองยังสามารถทำงานได้และทำได้ดีเหมือนเดิม แต่ลูกหลานเป็นห่วงไม่อยากให้ทำงานอีก ต้องการให้พักผ่อนเพราะได้ทำงานหนักมานานแล้ว

การที่ไม่ได้ทำงานที่เป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกด้อยคุณค่า เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เสียใจ เบื่อหน่าย และแยกตัวออกจากสังคม แต่ถ้าพยายามมองในด้านบวก จะเห็นว่าช่วงเวลาหลังเกษียณเป็นโอกาสที่เราจะได้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ทำงาน DIY (do it yourself) เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือทำในสิ่งที่อยากทำเสมอมาแต่ไม่เคยมีเวลาทำเนื่องจากมีภาระหน้าที่การงาน ผู้ที่ไม่มีงานอดิเรก ไม่มีสิ่งที่ทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจใดๆ ในชีวิต ไม่เคยสนใจอะไรเลยนอกจากหน้าที่การงาน จะปรับตัวได้ลำบากเมื่อเกษียณ

ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ

ภาวะเครียดในผู้สูงอายุ เป็นอีกปัจจัยสำคัญซึ่งส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ นำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร ฯลฯ ภาวะเครียดในผู้สูงอายุอาจเกิดจากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงพอที่จะปฏิบัติภาระกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง มีความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ เนื่องจากลูกหลานแยกย้ายกันไปมีครอบครัว มีปัญหาด้านการเงิน จากการที่เคยเป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำให้กับผู้อื่น เคยเป็นที่ยอมรับและยกย่องในสังคมหรือในแวดวงธุระกิจการงาน กลับกลายมาเป็นภาระของครอบครัวและของผู้อื่น สมอง ความคิด ความจำที่เคยแจ่มใสเริ่มมีอาการเสื่อม เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดเริ่มล้มหายตายจากกันไป เหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล จนอาจกลายเป็นความท้อแท้ สิ้นหวัง และซึมเศร้าในที่สุด

ผู้สูงอายุสามารถเผชิญกับภาวะเครียดได้ โดยการยอมรับความเป็นจริงและปลงให้ตก การมองชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปว่าชีวิตย่อมมีขึ้นมีลง ยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ รอบตัว มีความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิต ไม่เข้มงวดกับตัวเองหรือกับผู้อื่นมากจนเกินไป มองชีวิตอย่างมีอารมณ์ขันมากขึ้น ปฏิบัติกิจกรรมที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจอย่างสม่ำเสมอ เช่น อ่านหนังสือธรรมะ การทำสมาธิ ไปทัศนศึกษา เล่นกีฬาเบาๆ เป็นต้น

สังคมควรตระหนักและมองเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ ไม่มองว่าเป็นคนแก่ที่จู้จี้ ขี้บ่น เลอะเลือน หลงๆ ลืมๆ หรือมองคนแก่เป็นคนที่มีความคิดแบบไดโนเสาร์เต่าล้านปี ไม่มีประโยชน์อันใดต่อสังคม สังคมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ โดยเริ่มต้นจากการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อผู้สูงอายุ ควรกระตุ้นเตือนให้เกิดความสนใจในเรื่องของผู้สูงอายุ จัดให้มีกิจกรรมในสังคมร่วมกัน จัดให้มีบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนการเตรียมแผนการในชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และทางด้านการเงิน จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ตามสมควร

ควรวางแผนไว้สำหรับชีวิตในวัยสูงอายุ

ในปัจจุบันมีหน่วยงานและบริษัทห้างร้านหลายแห่ง เริ่มมีการจ้างผู้ที่เกษียณแล้วที่มีสุขภาพดี ยังสามารถทำงานได้อยู่ เข้าทำงานชนิดที่ไม่ใช้กำลังมากนัก เช่น งานขายของหน้าร้าน งานในร้านหนังสือ งานดูแลเด็กและผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุเกิดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่น มีความเป็นอิสระ จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง จัดให้มีการดูแลผู้สูงอายุให้สมกับที่ได้ทำงานหนักมาแล้วตลอดชีวิต ให้ผู้สูงอายุได้รับการยกย่องในฐานะบุคคลที่ควรเชิดชูบูชาอย่างแท้จริง

เมื่ออยู่ในวัยหนุ่มสาว น้อยคนที่จะเตรียมตัวหรือวางแผนไว้สำหรับชีวิตในวัยสูงอายุ คนในวัยหนุ่มสาวควรเรียนรู้ที่จะใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์ มีงานอดิเรก มีความสนใจพิเศษหรือมีกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ นอกเหนือไปจากหน้าที่การงานประจำ จะทำให้ปรับตัวได้ง่ายขึ้นเมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องเกษียณ การจัดเตรียมกำหนดแผนในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการเงินและรายได้ต่างๆ การประเมินค่าใช้จ่ายในเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการรักษาพยาบาล ควรจะจัดเตรียมการไว้เพื่อให้การใช้ชีวิตในบั้นปลายไม่เกิดความขัดสนลำบาก

เช่นเดียวกับคนในวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว ผู้สูงอายุย่อมปรารถนาให้ผู้อื่นเห็นความสำคัญและคุณค่าของตนเอง ผู้สูงอายุได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์มาเป็นเวลายาวนาน ย่อมเป็นคลังความรู้ที่จะถ่ายทอดสู่คนในวัยอื่นๆ ที่สังคมไม่ควรมองข้ามหรือละเลย

ที่มา: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

วิธี “ปรับตัว ปรับใจพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงวัย”

กิจกรรมดีๆ กับ “ดนตรีเพิ่มสุข บำบัดทุกข์ สู้ภัยวิกฤต” เพื่อผู้สูงวัย

เทคนิคเตรียมตัวใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.