ปัญหาสายตาผิดปกติ

เทคโนโลยีน่าทึ่ง แก้ไข ปัญหาสายตาผิดปกติ ของคนยุคนี้

ปัญหาสายตาผิดปกติ ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน จะมีเพิ่มขึ้น จนวงการสาธารณสุขทั่วโลกออกมาให้ความสำคัญ กับการหาวิธีการที่เหมาะสม เพื่อรับมือ

แต่ถึงอย่างนั้น “ปัญหาสายตาผิดปกติ” (Refractive Error) ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น (Myopia) สายตายาว (Hyperopia) หรือสายตาเอียง (Astigmatism) รวมถึงปัญหาสายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia) ก็ยังมีการให้ความสำคัญและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหา

จากนี้ขอนำเสนอ 3 เทคโนโลยีแก้ไข “ปัญหาสายตาผิดปกติ” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยใหม่ ๆ ของผู้ประสบปัญหาสายตาในยุคนี้

เทคโนโลยีแว่นตา

“เลนส์ไร้รอยต่อ” เพื่อการมองชัดทุกระยะ แว่นตาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาสายตารุ่นแรก ๆ ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาใช้ และจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแว่นสายตาสำหรับผู้สูงอายุ ที่เปลี่ยนผ่านจากแว่นเลนส์ชั้นเดียวที่มองชัดเพียงระยะใกล้ สู่แว่นเลนส์สองชั้นที่มองได้ชัดทั้งใกล้ไกล แต่ดูอย่างไรก็บ่งบอกอายุ ต่อมาจึงมีการพัฒนาเลนส์หลายชั้นไร้รอยต่อ (Progressive Addition Lense: PAL) ขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้

คุณหมอจุฑาไลอธิบายถึงนวัตกรรมดังกล่าวว่า “แว่นที่มีเลนส์หลายชั้นไร้รอยต่อ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า แว่นโปรเกรสซีฟ เป็นนวัตกรรมแว่นสายตาที่พัฒนาให้มองชัดทุกระยะ โดยส่วนบนแก้ไขปัญหาการมองไกล ขณะที่ส่วนล่างช่วยให้มองใกล้หรืออ่านหนังสือได้ชัดขึ้น โดยที่เลนส์ยังดูเป็นเนื้อเดียวกันไม่แบ่งเป็นชั้น จึงไม่บ่งบอกอายุหรือไม่ทำให้เกิดการมองสับสน”

“ถึงอย่างนั้นภาพก็จะมีความคมชัดเฉพาะเมื่อมองแนวตรง แต่เมื่อมองด้านข้าง ส่วนใหญ่ยังพบจุดบิดเบี้ยวที่ทำให้มองไม่สบายตาอยู่ จึงมีการพยายามพัฒนาแว่นโปรเกรสซีฟรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องค่ะ”

นอกจากนี้ เทคโนโลยีแว่นยุคใหม่ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเคลือบเลนส์ที่ช่วยในการตัดแสงสะท้อน หรือเปลี่ยนสีเลนส์ได้เมื่อเจอแสงจ้าอีกด้วย

เทคโนโลยีการผ่าตัด

ไม่ใช่ทุกกรณีที่จะสามารถแก้ไขปัญหาสายตาด้วยเลสิกและรีเลกซ์ได้ วิธีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาจึงยังคงอยู่ แต่พัฒนาให้ทันสมัยขึ้น ดังนี้

  1. การใส่เลนส์เสริมหน้าเลนส์ตา
    คุณหมอจุฑาไลอธิบายว่า
    “ความโค้งของกระจกตายิ่งมาก ภาวะสายตาสั้นก็จะมากตามไปด้วย หากใส่แว่นก็ต้องใช้เลนส์หนา น้ำหนักมาก อีกทั้งใส่แล้วยังมีปัญหาภาพบางส่วนบิดเบี้ยวไม่สบายตาอีกด้วย นอกจากนี้ความโค้งที่มากไป หรือในบางกรณีผู้ป่วยมีกระจกตาบางไป การเลเซอร์ลดความโค้งของกระจกตา อาจทำให้กระจกตาทะลุหรือโป่งย้วยได้ จึงต้องใช้วิธีการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมหน้าเลนส์ตา (Phakic Intraocular Lens) เพื่อช่วยถ่างแสงให้ตกกระทบที่จอรับภาพพอดีค่ะ”

2. การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
คุณหมอจุฑาไลอธิบายว่า การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตามีความจำเป็นใน 2 กรณี ดังนี้
“การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาใช้ในกรณีที่เกิดภาวะ ‘กระจกตาขุ่น’ และ ‘กระจกตา
ย้วย’ ไม่ว่าจากกรณีใดก็ตามค่ะ
“โรคที่ทำให้กระจกตาขุ่นมีมากมาย อาทิ กระจกตาขุ่นจากแผลติดเชื้อ เช่น ใช้คอนแท็คท์เลนส์ที่ไม่สะอาด ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ทำให้กระจกตาเป็นรอย
ตาแตก หรือภาวะขุ่นหลังจากผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ ขณะที่กระจกตาย้วย
เกิดจากโรคทางพันธุกรรม แม้พบได้ไม่เยอะแต่ก็มีให้เห็นค่ะ”
นี่เป็นเพียงบางส่วนของเทคโนโลยีการแก้ไขปัญหาสายตาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเชื่อว่า ในอนาคตจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ชีวิตของผู้มีปัญหาสายตาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องค่ะ

เทคโนโลยีเลเซอร์

สาเหตุหลักของสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง เกิดจากการที่แสงตกกระทบไม่พอดี
กับตำแหน่งจอรับภาพ ปัจจุบันจึงมีการนำแสงเลเซอร์ (Laser) เข้ามาแก้ไขปัญหาสายตา โดยการยิงแสงเพื่อปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา ให้การหักเหของแสงตกกระทบพอดีกับจอรับภาพ
นวัตกรรมดังกล่าวเริ่มต้นจากพีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy: PRK) คือ การใช้แสงเลเซอร์ยิงตรงลงบนกระจกตา ซึ่งมีผลข้างเคียงให้เคืองตามากหลังทำ พักฟื้นนาน อีกทั้งค่าสายตาที่แก้ไขได้ยังไม่แม่นยำมากนักปัจจุบันจึงมีการพัฒนา 2 นวัตกรรมใหม่ในการ
ใช้เลเซอร์แก้ไขสายตา คือ

  1. เลซิก
    คุณหมอจุฑาไลอธิบายถึงนวัตกรรมการทำเลซิกว่า
    “เลซิก (Laser in Situ Keratomileusis : LASIK) เริ่มจากการฝานกระจกตาด้านบนเป็นชั้นบาง ๆ รูปวงกลมแต่ไม่ขาดออกจากกัน จากนั้นพลิกชั้นดังกล่าวขึ้นแล้วใช้เลเซอร์ตัดความโค้งของกระจกตาให้น้อยลง แล้วจึงปิดชั้นกระจกตาดังกล่าวลง วิธีนี้มีอาการเคืองตาน้อยและได้ค่าสายตาที่แม่นยำกว่าพีอาร์เคค่ะ”
    ถึงอย่างนั้นเลสิกก็ยังมีข้อเสีย คือ ทำได้กับผู้มีสายตาสั้นไม่เกิน 1,000 (- 10 Diopter)
    อีกทั้งหากขยี้ตาแรง ๆ ในช่วงปีแรก ๆ หลังทำเลสิก ชั้นกระจกตาที่ปิดไว้อาจเลื่อนหลุดได้ จึงมีการคิดนวัตกรรมใหม่ขึ้น

2. รีเลกซ์
คุณหมอจุฑาไลอธิบายถึงนวัตกรรมรีเลกซ์ (Refractive Lenticule Extraction: ReLEx) ว่า “วิธีการของรีเลกซ์คล้ายกับเลซิก คือการยิง เลเซอร์เข้าไปปรับความโค้งของกระจกตา ต่างกันตรงที่ไม่ต้องมีการฝานชั้นกระจกตาออก เพียงเปิดเป็นรูเล็ก ๆ เพื่อระบายส่วนกระจกตาที่ถูกเลเซอร์สลายแล้วออกมา แผลจึงเล็กกว่า อาการเคืองตาน้อยกว่า อีกทั้งสามารถทำได้กับผู้ที่มีสายตาสั้นมากกว่า 1,000 ค่ะ
“แต่นวัตกรรมนี้เพิ่งคิดค้นขึ้นมาไม่นาน การเก็บข้อมูลด้านผลต่อเนื่องระยะยาวจึงยังมีน้อย อีกทั้งราคาสูง ในบ้านเราจึงยังไม่มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย”

เรื่อง ศุภรา ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 458 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 พฤศจิกายน 2560

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เช็ก 7 สัญญาณ ชี้ ปัญหาดวงตา ที่คุณควรทำอะไรสักอย่างก่อนจะแย่กว่านี้

วิธีป้องกัน ดวงตาแห้ง ปัญหาสุขภาพตา ที่มากับหน้าหนาว

รู้หรือไม่ “แสงแดด” ทำร้ายดวงตาได้มากกว่าที่คุณคิด

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.