โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia)
โรคกลัวการเข้าสังคม ใครบอกเรื่องเล่น อีกหนึ่งอุปสรรคของการใช้ชีวิตที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น โดยเฉพาะการต้องเข้าสังคมการเรียน การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้ป่วย
โรคกลัวการเข้าสังคม คืออะไร?
โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia) เป็นความผิดปกติทางจิตใจรูปแบบหนึ่ง ที่ส่งผลให้รู้สึกวิตกกังวล หรือกลัวที่ต้องเข้าสังคมหรือพบปะผู้คนที่ไม่คุ้นเคย ผู้ที่มีอาการนี้จึงพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ และมักพบในวัยรุ่น ซึ่งผู้ที่มีอาการกลัวการเข้าสังคมจะรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเมื่อเข้าเรียน ทำงาน หรือทำความรู้จักคนใหม่ ๆ โดยอาการจะเป็นต่อเนื่องในระยะยาว
สาเหตุเกิดจาก
โรคกลัวการเข้าสังคม อาจคล้ายกับภาวะความผิดปกติทางจิตใจอื่น ๆ โดยสาเหตุเกิดจากปัจจัยภายในของแต่ละบุคคลรวมกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ความผิดปกติของโครงสร้างของสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งทำหน้าที่ตอบสนองต่อความกลัว
- สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู เพราะสภาพแวดล้อมนั้นมีผลต่อการเข้าสังคมมาก ๆ
อาการเป็นแบบไหน?
ผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคมแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งอาการได้เป็นสองกลุ่ม ดังนี้
อาการทางร่างกาย
- ตัวสั่น
- หน้าแดง
- รู้สึกมวนท้อง คลื่นไส้
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- พูดติดขัด คิดอะไรไม่ออก
- เวียนศีรษะ หน้ามืด
- กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
- เหงื่อออกมาก
- หายใจไม่ทัน
อาการทางจิตใจ
- วิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม เช่น การพูดคุยกับคนแปลกหน้า การเข้าร่วมงานเลี้ยงหรือการสบตากับผู้อื่น
- กังวลว่าตนเองจะทำเรื่องน่าอายต่อหน้าผู้อื่น
- กังวลล่วงหน้าแม้เหตุการณ์จะยังไม่เกิดขึ้น
- กังวลว่าผู้อื่นจะสังเกตเห็นความเครียดหรือความกังวลของตนเอง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม ไม่ให้เป็นจุดสนใจ
- พึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม
- ขาดเรียนหรือขาดงาน
ผู้ป่วยบางรายอาการอาจค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่ส่วนมากมักต้องเข้ารับการรักษาเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ
ขอบคุณข้อมูลจาก : POBPAD