“วิชาชีวิต” สอนโดยครูใหญ่บุปผาชาติแห่ง โรงเรียนวิชาวดี
เรื่อง อิสระพร บวรเกิด ภาพ อนุพงศ์ เจริญมิตร
เดือนฝนชุกเช่นนี้ สายน้ำน่านเชี่ยวเอาเรื่อง เรือลำหนึ่งค่อยๆ จอดเทียบท่าอย่างระมัดระวัง ผู้โดยสารเบียดกันขึ้นลงจ้าละหวั่น นายท้ายรอให้ผู้โดยสารนั่งประจำที่ จนมั่นใจว่าปลอดภัยทุกคนจึงแล่นเรือต่อไป
สิ้นเสียงเครื่องยนต์จากเรือลำเล็ก เรื่องราวของ “ครู” ผู้สอน “วิชาชีวิต” คนนี้จึงเปิดฉากขึ้น
บุปผาชาติ หมุนสา ดำรงตำแหน่งครูใหญ่แห่ง โรงเรียนวิชาวดีมาสิบกว่าปี แต่เธอสอนที่นี่มานานถึงสี่ทศวรรษ ส่งลูกศิษย์ขึ้นฝั่งมาแล้วหลายสิบรุ่น กล่าวได้ว่า ไม่มีใครรู้จักและเข้าใจเด็กๆ ในโรงเรียนเล็กๆ ริมแม่น้ำน่านแห่งจังหวัดนครสวรรค์นี้ได้ดีเท่าเธออีกแล้ว
“เด็กนักเรียนที่นี่ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนคนอื่น ผู้ปกครองมีความรู้น้อย หาเช้ากินค่ำ ทุนทรัพย์ก็ไม่มี เด็กบางคนครอบครัวมีปัญหา ถูกทำร้ายร่างกายบ่อยๆ ถูกจับโกนหัวบ้าง ถูกบุหรี่จี้ตามตัวบ้าง เมื่อเขามาเรียน โรงเรียนจึงเป็นทุกอย่างสำหรับเขาจะเรียกว่าเด็กคนหนึ่งฝากอนาคตไว้ที่นี่เลยก็ว่าได้”
ด้วยตระหนักในสถานภาพของลูกศิษย์ ครูใหญ่บุปผาชาติจึงมิได้สวมบทครูเพียงแค่หน้าชั้นเรียนเท่านั้น หากแต่ยังพยายามเติมเต็มสิ่งที่เด็กๆ ขาดหายอย่างสุดกำลัง ความที่ โรงเรียนวิชาวดีแห่งนี้เป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียนจากผู้ปกครองนักเรียนแม้แต่บาทเดียว หนำซ้ำยังได้รับงบประมาณค่าอาหารกลางวันจากรัฐแค่เพียงบางส่วน ภาระที่จะทำให้เด็กกินอิ่ม เรียนเก่ง จึงตกหนักอยู่ที่ครูใหญ่คนนี้
บ่ายแก่ๆ ในวันเสาร์ – อาทิตย์ ชาวบ้านละแวกนั้นจะเห็นผู้หญิงคนหนึ่งนำห่อหมกกระทงเล็กๆ มาวางขายในตลาด บางครั้งเธอฉายเดี่ยว แต่บางคราวก็มีเด็กๆ ติดสอยห้อยตามมาช่วยหยิบช่วยทอน
ว่ากันว่าห่อหมกของเธอรสเด็ดไม่แพ้ใคร แถมราคาย่อมเยาเพียงกระทงละสิบบาท
บางครั้งก็จะเห็นผู้หญิงคนเดียวกันนี้เดินเข้าเดินออกร้านรวงในตลาด หอบข้าวของพะรุงพะรัง ห่อขนมเอย ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาเอย กระปุกออมสินเอย ของเล่นเหล่านี้ช่างขัดกับวัยใกล้หกสิบของเธอเสียจริง
น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เมื่อเธอกลับไปถึงโรงเรียนริมน้ำ เงินทองข้าวของเหล่านี้จะแปรรูปเป็นรอยยิ้มที่มาจากความอิ่มท้องและอิ่มใจของเด็กๆ กว่าแปดสิบชีวิต
“ครูพอมีฝีมือทำอาหารอยู่บ้าง จึงทำห่อหมกไปขายเพื่อหารายได้มาสมทบค่าอาหารกลางวันให้เด็กๆ ได้มีกับข้าวกับปลาดีๆ กิน ส่วนโอกาสพิเศษ เช่น วันเด็ก ครูจะไปเดินขอของบริจาคตามร้านค้าในตลาดมาห่อของขวัญให้เด็กๆ จับฉลากกัน”
หลายคนเคยตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมครูใหญ่ต้องทุ่มเทเพื่อลูกศิษย์ต่างสายเลือดมากขนาดนี้ ทุกการกระทำของครูใหญ่เริ่มต้นจากตรรกะง่ายๆ คือความปรารถนาดีที่มนุษย์คนหนึ่งมีต่อมนุษย์อีกหลายสิบคน
“ที่ครูดิ้นรนจัดกิจกรรมวันเด็ก ทั้งที่งบประมาณของโรงเรียนก็ไม่มี ต้องไปขอบริจาคของขวัญตามร้านค้า เพราะครูรู้ดีว่าเด็กที่นี่ไม่มีผู้ปกครองพาไปเที่ยวงานวันเด็กเหมือนคนอื่น
“ครูอยากให้พวกเขารู้ว่า ถึงหนูไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าหนูไม่มีความสำคัญ ของขวัญที่ครูหามาจะสอนให้เขาเป็นผู้ให้จากการเป็นผู้รับ วันนี้หนูเป็นผู้รับ วันหนึ่งหนูโตขึ้น หนูต้องเป็นผู้ให้บ้าง ครูสอนเขาว่า หนูต้องช่วยครูผูกห่วงโซ่การให้ต่อไปเรื่อยๆ”
ครูใหญ่บุปผาชาติเป็นหัวเรือใหญ่ดูแลโรงเรียนวิชาวดีตั้งแต่นโยบายการบริหาร ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ กระทั่งเมนูอาหารกลางวันของเด็กๆ ทุกวันนี้ครูใหญ่ยังจ่ายตลาดซื้อผักซื้อปลามาให้แม่ครัวด้วยตนเอง
“เคยมีคนสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมต้องเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ สู้เอางบประมาณตรงนี้มาเน้นด้านวิชาการไม่ดีกว่าหรือ เมื่อสิบกว่าปีก่อนครูก็คิดอย่างนี้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเที่ยงวันหนึ่งได้หยุดความคิดครูไว้”
เที่ยงวันนั้นครูให้สัญญาณพักเที่ยงตามปกติ สิ้นเสียงระฆังเด็กก็กรูกันออกจากห้องเรียนมายังโรงอาหาร ขณะที่ทุกคนกำลังท่องอาขยาน “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้างเป็นของมีค่า” ก็มีเสียงเด็กคนหนึ่งดังแทรกขึ้นมา
“ครูใหญ่ครับ ข้าวหายไปจานหนึ่งครับ”
ครู ใหญ่เค้นเท่าไรก็ไม่มีใครตอบได้ว่าข้าวจานนั้นหายไปไหน เที่ยงนั้นครูใหญ่จึงต้องนำอาหารสำรองมาขัดตาทัพให้เด็กๆ ได้กินกันครบทุกคน ก่อนจะรู้คำตอบในช่วงบ่าย
ข้าวจานหนึ่งวางนิ่งอยู่ใต้โต๊ะของเด็ก หญิงคนหนึ่ง เมื่อถูกจับได้ เด็กหญิงบอกเหตุผลที่ทำให้เธอต้องกลายเป็น “ขโมย”ในสายตาเพื่อนๆ ว่า
“เมื่อคืนแม่หนูปวดท้องมาก แต่ที่บ้านไม่มีข้าวเหลือเลยหนูขอข้าวจานนี้ไปให้แม่กินได้ไหมคะ”
เด็กหญิงพูดยังไม่ทันจบ น้ำจากดวงตาเล็กๆ ก็เริ่มไหลรินน้ำตาหยาดนั้นกระทบใจครูใหญ่บุปผาชาติเข้าอย่างจัง’
“จากเหตุการณ์ครั้งนั้นครูบอกตัวเองเลยว่า ถึงโรงเรียนจะขาดแคลนงบประมาณสักเพียงไหน ก็ต้องเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ ให้ได้”
ครูใหญ่ยอมรับว่าก่อนหน้านั้นเคยคิดเหมือนกันว่า ต้องมุ่งมั่นพัฒนาความรู้ด้านวิชาการให้เด็กๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้ทัดเทียมมาตรฐานโรงเรียนเอกชนด้วยกัน ถึงขนาดสั่งตำรามาขายจนเข้าเนื้อตนเอง ครูใหญ่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายก็ยังเคย
แต่เมื่อสัมผัสกับลูกศิษย์ในมิติที่ลึกกว่านั้น เธอจึงพบว่า วิชาที่น่าจะกวดขันพวกเขาให้เชี่ยวชาญกลับเป็นวิชาที่เรียกว่า “วิชาชีวิต”
“เราต้องอยู่กับความจริงว่า โอกาสที่เด็กของเราจะสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม ครูจึงเบนเข็มมาเน้นให้เขามีอาชีพไว้เลี้ยงตัว สอนทำน้ำยาล้างจาน สอนตัดขากางเกง สอนปลูกผัก สอนเขาทำห่อหมกขาย
“ล่าสุดครูขอสนับสนุนเครื่องทำน้ำเต้าหู้จากรายการ ‘คนละไม้คนละมือ’ เพื่อเด็กๆ จะได้มีน้ำเต้าหู้ดื่มแทนนม แถมครูยังได้สอนให้เขาทำน้ำเต้าหู้ขายเป็นอาชีพเสริมด้วย”
จะกล่าวว่าโรงเรียนวิชาวดีแห่งนี้ประสิทธิ์ประสาทวิชาชีวิตให้แก่เด็กเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากวิชาชีพต่างๆ ที่ครูใหญ่ครูน้อยระดมกำลังสอนแล้ว ทุกวันอาทิตย์โรงเรียนยังมีโครงการให้เด็กๆ ได้เรียนจริยธรรม วิชาที่จะสอนให้เขาเป็นคนดีของสังคมอีกด้วย
“ครูสอนลูกศิษย์เสมอว่า ‘อาชีพและความดี’ เพียงสองอย่างนี้เท่านั้นที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้”
เด็กแปดสิบกว่าคนวิ่งเล่นกันอยู่ที่สนามหน้าโรงเรียน เด็กอนุบาลตัวน้อยแปรงฟันหลังอาหารเสร็จก็เริ่มเรียงแถวเข้าห้องนอนกลางวัน พี่ ป.6 ตัวโตหน่อยจับกลุ่มคุยกันใต้ร่มไม้ นัยว่าคอยดูแลน้องๆ ป.3 – ป.4 ไม่ให้เล่นซนจนเกินขอบเขต โรงเรียนเล็กๆ ที่ด้านหน้าเป็นสถานีรถไฟ ส่วนด้านหลังขนาบด้วยแม่น้ำใหญ่เช่นนี้ ครูใหญ่ต้องอาศัยเด็กช่วยกันดูแลความปลอดภัยเป็นพิเศษ
ครูใหญ่บุปผาชาติทอดสายตามองลูกศิษย์ตัวจิ๊บตัวจ้อยแล้วเอ่ยขึ้นเบาๆ
“การดูแลเด็กๆ แปดสิบคนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะครูไม่ได้ดูแลแค่ร่างกายหรือสติปัญญาของเขาเท่านั้น ต้องดูแลความรู้สึกของเขาด้วย
“เพราะฉะนั้นเวลาครูออกไปขายห่อหมกหรือไปเดินขอบริจาคของ ครูจึงถอดภาพครูใหญ่ออกได้โดยไม่อาย เหงื่อออกก็เช็ดเหงื่อ ของหนักก็พักก่อนแล้วค่อยเดินต่อ เรื่องหน้าตาภาพลักษณ์ครูไม่เคยกังวล เพราะครูรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่และทำเพื่ออะไร”
ครูใหญ่บุปผาชาติอายุครบเกษียณแล้วในปีนี้ แต่ตราบใดที่ยังมีลูกศิษย์ให้เธอสอน เรือจ้างลำนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจอดลงง่ายๆ
“ครูยังอยากอยู่ดูแลเด็กๆ ที่นี่ต่อไป ถึงครูจะเหนื่อยบ้าง ล้าบ้าง แต่ครูเชื่อว่า ถึงที่สุดแล้วความดีจะทำงานด้วยตัวของมันเอง ใครมองว่าความพยายามของครูเกินกว่าเหตุหรือสูญเปล่า แต่ครูว่าไม่เลย ครูได้สิ่งตอบแทนกลับมาแล้ว ได้กลับมามากมายมหาศาลด้วย”
ใต้ต้นมะขามหน้าโรงเรียน เด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นตี่จับอย่างสนุกสนาน ลองเอ่ยถามเล่นๆ ว่า “เคยชิมห่อหมกฝีมือครูใหญ่ไหม” ทุกคนพยักหน้าพร้อมเพรียงพอถามว่า “อร่อยไหม” คราวนี้เสียงเริ่มแตก บ้างว่า “อร่อยมาก” บ้างว่า “อร่อยที่สุดในโลก”
แต่พอถามว่า “รักครูใหญ่มากแค่ไหน” เสียงตอบกลับมาเป็นเอกฉันท์อีกครั้งว่า “รักเท่าพ่อเท่าแม่เลยค่ะ / ครับ” ก็เป็นอันหมดข้อสงสัยว่า “สิ่งตอบแทน” ที่ครูใหญ่ว่ามหาศาลนั้นคืออะไร
มองไปยังสีขุ่นๆ ของแม่น้ำน่าน เรือลำเดิมเข้าจอดเทียบท่าอีกครั้ง ผู้โดยสารเบียดกันขึ้นลงเหมือนอย่างเคย สำหรับบางคนเมื่อเหยียบฝั่งก็ถึงจุดหมาย แต่สำหรับบางคนท่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทาง นายท้ายรอให้ผู้โดยสารขึ้นลงเรียบร้อยจึงแล่นเรือออกจากท่า
ผู้โดยสารเปลี่ยนหน้าไปไม่ซ้ำกันในแต่ละเที่ยว แต่คนกุมหางเสือเรือจ้างลำนี้…ยังเป็นคนเดิม