“ความดันต่ำ” ภัยเงียบที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว
ความดันต่ำ คำนี้ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่ชื่อโรคแต่เป็นอาการ ด้วยเพราะลักษณะอาการที่ไม่ได้พัฒนาไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆ แต่มักแสดงอาการออกมาอย่างเฉียบพลัน เช่น หน้ามืด เวียนหัว อ่อนเพลีย รวมถึงอาการใจสั่นร่วมด้วยได้ ซึ่งนอกจากอาการแสดงที่กล่าวมาแล้วนั้น เราสามารถเช็กได้ว่าตนเองมีภาวะความดันต่ำหรือไม่ topbankinfo.ru
หลายคนคงเคยมีอาการหน้ามืด เวียนหัวบ่อย เป็นเพราะพักผ่อนน้อยหรือว่าเพราะความดันต่ำ ภาวะความดันต่ำ (Hypotension) คือภาวะค่าความดันภายในเลือดที่ต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานของค่าความดันภายในเลือดปกติ ภาวะความดันต่ำจึงเป็นอีกหนึ่งอาการเฉียบพลันที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ขึ้นอยู่กับความอ่อนไหวของร่างกายในขณะนั้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับโรคความดันโลหิตสูงมากกว่า เนื่องจากคิดว่าอันตรายกว่า แต่รู้หรือไม่ว่าความดันต่ำเป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงและอันตรายไม่แพ้ความดันโลหิตสูงเลยทีเดียว
ความดันต่ำ เกิดจากอะไร ?
จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีความดันโลหิตต่ำหรือไม่ ก็ดูได้จากการตรวจวัดความดันโลหิตผ่านค่าตัวเลขความดันโลหิตตัวบน หรือแรงดันขณะหัวใจกำลังบีบตัว และความดันโลหิตตัวล่าง หรือแรงดันขณะหัวใจกำลังคลายตัว ซึ่งหากมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท จะเท่ากับภาวะความดันต่ำนั่นเอง ส่วนสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ภาวะความดันต่ำได้นั้น ได้แก่
-ภาวะความดันต่ำ เกิดจากอิริยาบถของร่างกาย หลายครั้งที่การลุก นั่ง แบบกะทันหัน หรือการก้ม-เงยศีรษะอย่างรวดเร็วจะทำให้เรารู้สึกเวียนหัวขึ้นมาได้ นั่นเพราะความดันเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างรวดเร็ว จากความเร็วของอิริยาบถของร่างกาย บวกกับจังหวะการหายใจและสภาพร่างกายในขณะนั้นร่วมด้วย
-ภาวะความดันต่ำ เกิดจากเลือดในสมองไม่พอ อีกหนึ่งเหตุผลที่มีความเครียดเป็นเหตุ เพราะระดับความเครียดมีผลโดยตรงต่อระดับความดันในร่างกาย รวมถึงการขาดสารอาหารประเภทโปรตีน วิตามินซี และวิตามินบี ที่ช่วยให้เนื้อเยื่อโดยรอบผนังหลอดเลือดแดงแข็งแรงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะความดันต่ำในเวลาต่อมาได้
-ภาวะความดันต่ำ เกิดจากการใช้ยาหรือโรคประจำตัว เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ ยากล่อมประสาท และยาต้านเศร้า รวมถึงโรคประจำตัว หรือภาวะบางอย่างที่มีผลต่อระดับความดันในร่างกาย เช่น ภาวะตั้งครรภ์ อาการแพ้ โรคโลหิตจาง โรคหัวใจ และโรคพาร์กินสัน เป็นต้น
-ภาวะความดันต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะความดันต่ำที่เกิดจากพันธุกรรม หรือลักษณะรูปร่างที่บอบบางและผอมจนเกินไป ทำให้มีภาวะความดันต่ำเกิดขึ้นได้ รวมถึงการสะสมปัจจัยระหว่างทางจนทำให้เข้าสู่ภาวะความดันต่ำในอนาคตต่อไปได้
สังเกตอาการความดันต่ำ ต้องระวัง
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ มักจะไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆ ในบางรายอาจมีอาการหูอื้อ ปวดศีรษะ ตาลาย มือเท้าเย็น อ่อนเพลีย ปฏิกิริยาเชื่องช้า ไม่กระปรี้กระเปร่า ระบบการย่อยอาหารไม่ดี ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก มักจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ เวียนศีรษะในท่ายืน หายใจลำบาก
ภาวะความดันโลหิตต่ำย่อมส่งผลร้ายต่อร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนช้าลงเลือดไปล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ซึ่งง่ายต่อการเกิดลิ่มเลือดทำให้หลอดเลือดอุดตัน และภาวะความดันโลหิตต่ำ ยังอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้ หากมีอาการขั้นรุนแรง
เรื่องต้องระวัง ที่คนความดันต่ำต้องหมั่นใส่ใจ
จะเห็นว่าภาวะความดันต่ำนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แม้แต่การทำกิจกรรมปกติในช่วงที่ร่างกายพักผ่อนน้อย ก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์หน้ามืดเพราะความดันต่ำกะทันหันขึ้นมาได้ ซึ่งการเกิดภาวะความดันต่ำแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ภาวะความดันต่ำชนิดเฉียบพลัน จากการเปลี่ยนท่าทางกะทันหัน การพักผ่อนหรือการทำกิจกรรมต่างๆ และภาวะความดันต่ำชนิดเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภาวะความดันต่ำเป็นปกติอยู่แล้ว ที่ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะความดันต่ำในผู้สูงวัย ยิ่งต้องใส่ใจร่างกายมากเป็นพิเศษ ดังนี้
อาบน้ำอุ่นช่วยคงอุณหภูมิร่างกาย เพราะน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นจะมีผลต่อการขยายตัวของหลอดเลือด ผู้ที่มีภาวะความดันต่ำจึงควรอาบน้ำอุ่น เพื่อคงระดับความดันและรักษาอุณหภูมิให้ร่างกายไว้
เช็กสุขภาพร่างกายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันต่ำได้ง่าย ผู้ที่ดื่มน้ำน้อยจนมีผลให้เกิดอาการเวียนหัว และหน้ามืดได้บ่อยกว่าปกติ
เฝ้าระวังอุบัติเหตุรุนแรง จากความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น การล้มหมดสติ รวมถึงภาวะสมองขาดออกซิเจนชั่วคราวจากภาวะความดันต่ำที่มีอยู่เดิม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ตลอดจนการทำงานของสมองและหัวใจร่วมด้วย
เปลี่ยนอิริยาบถอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างที่เราทราบกันดีว่าการลุก-นั่ง ก้ม-เงยแบบเร็วๆ เป็นท่าทางที่ทำให้เราหน้ามืด เวียนหัวได้ง่าย การชะลอความเร็วเมื่อต้องขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น จากนอนเป็นนั่งแล้วค่อยปรับเป็นการยืน รวมถึงการยกศีรษะสูงในขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและช่วยลดโอกาสของภาวะความดันต่ำได้เป็นอย่างดี
ป้องกันความดันต่ำ ต้องเน้นย้ำความแข็งแรง !
นอกจากการป้องกันเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะความดันต่ำซ้ำๆ ให้เกิดน้อยที่สุดแล้ว การใส่ใจไลฟ์สไตล์ใกล้ตัว เช่น การเพิ่มคุณภาพการนอนให้ดี พยายามดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หลีกเลี่ยงความเครียดและการเปลี่ยนท่าทางที่รวดเร็ว อย่าหลุดโฟกัสอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ผักใบเขียวและผลไม้ให้มาก เพราะผู้ที่มีภาวะความดันต่ำอยู่เดิม หากไม่เติมสารอาหารจำเป็นให้ครบ อาจทำให้ความดันลดต่ำลงได้อีก
ข้อมูลประกอบจาก: โรงพยาบาลศิครินทร์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แนะนำ 6 จุด นวดลดความดัน สไตล์แพทย์แผนจีน
6 วิธี ลดความดัน ง่ายๆ ทำได้ด้วยตนเอง
ความดันต่ำ ถึงไม่ใช่โรคแต่ก็ไม่ควรละเลย