รู้จัก ยาไมเกรน ตัวที่ใช้อยู่ ให้ดีกว่าที่เคย
คนในยุคนี้เป็นไมเกรนกันเยอะ ทั้งจากความเครียด การใช้ชีวิต ทำให้หลายคนมักต้องพก ยาไมเกรน ติดตัว เอาไว้ บ้างก็เป็นยาแก้ปวดรุนแรง บางคนก็อาจเป็นยาหลายๆ ตัวที่ทำงานกับระบบสมองและประสาท ซึ่งก็มีหลากหลายแบบ หลายข้อบ่งใช้ แต่ละตัวเป็นอะไรบ้างนั้น ต้องศึกษาเป็นอย่างดีนะคะ แต่ก่อนไปทำความรู้จักกับไมเกรนกันก่อนค่ะ
รู้จักอาการปวดไมเกรน
คนที่ปวดศีรษะไมเกรนมักจะมีอาการปวดศีรษะแบบ ตุบ ๆ เป็นจังหวะ มักจะเกิดข้างเดียว แต่ก็สามารถเป็นทั้งสองข้าง หรือสลับกันเป็น ได้ โดย อาการปวดในช่วงแรกมักมี ความรุนแรงเพียงเล็กน้อย และจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่นมากขึ้น
ปัจจัยกระตุ้นไมเกรน
เมื่อมีอาการปวดไมเกรน หลายคนมักจะมองหายาแก้ปวดไมเกรนประจำตัวกันก่อนเลย แต่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อามิต แชคเดฟ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ลดอาหาร ปรับพฤติกรรม รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงอาการปวดศีรษะไมเกรน
โดยอาหารที่คุณหมอแนะนำให้ควรหลีกเลี่ยงคือ
- อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารที่มีรสเค็ม เบเกอรี่ ขนมกรุบกรอบ อาหารกระป๋อง เพราะโซเดียมทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ส่งผลต่อเส้นเลือดในสมอง
- สารให้ความหวาน เช่น แอสปาแตม พบว่าทำให้ระดับเซโรโทนินลดลง
- ยาเม็ดคุมกำเนิด เพราะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลงในช่วงก่อนมีรอบเดือน
- อาหารมัน ของทอด
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย โดยแต่ละคนอาจต้องจดจำว่าตัวเองนั้น ถูกกระตุ้นไมเกรน ด้วยสาเหตุอะไร อย่างของแอดนอกจากที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีเรื่องของแสงวิววับ เสียงดังกระทันหัน รวมไปถึงอาหารที่มีผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น
ว่าด้วย ยาไมเกรน
ยาที่ใช้ในไมเกรนอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
- ยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน (abortive drugs)
- ยาที่ใช้ป้องกันการเกิดไมเกรน (preventive drugs)
ซึ่งยาที่พบว่ามีการใช้บ่อยและมีข้อควรระวังในการใช้ยาค่อนข้างมาก คือ ยา ergotamine ซึ่งเป็นยาประเภทที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน
ยากลุ่มเออร์กอทามาย
Ergotamine เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ออกฤทธิ์ในการรักษาอาการปวดศีรษะโดยการกระตุ้นตัวรับของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (serotonin) ชนิด 1B และ 1D (5-HT1B และ 5-HT1D) ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดที่ขยายตัวผิดปกติเกิดการหดตัวลงและทำให้อาการปวดศีรษะหายไปในที่สุด นอกจากนี้ ergotamine ยังสามารถกระตุ้นตัวรับอื่นๆ ได้ ได้แก่ α-1 และ dopamine-2 (D2) ซึ่งการกระตุ้นตัวรับเหล่านี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา ergotamine (รายละเอียดจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ ข้อควรระวังในการรับประทานยา ergotamine )
ในประเทศไทยยา ergotamine มีชื่อทางการค้า เช่น Cafergot®, Avamigran® Tofago® หรือ Poligot-CF® ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม ผสมอยู่กับ caffeine 100 มิลลิกร้ม ส่วน Ergosia®จะประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เป็นยาที่ต้องใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น ห้ามใช้ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนเด็ดขาด ขนาดการรับประทานยาที่เหมาะสม คือ รับประทานเมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในครั้งแรก 1 หรือ 2 เม็ด จากนั้นทุกๆ ครึ่งชั่วโมงหากอาการไม่ดีขึ้นสามารถรับประทานซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ด แต่ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และห้ามรับประทานยาเกิน 10 เม็ด ต่อสัปดาห์ เนื่องจากหากรับประทาน ergotamine ในปริมาณที่มากกว่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น นำไปสู่หลอดเลือดในสมองแตก หรือหัวใจวายได้
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมี
พาราเซตามอล
เป็นยาแก้ปวดที่เราคุ้นเคยกันดี เหมาะกับอาการปวดไมเกรนแบบไม่รุนแรง
NSAIDs
เป็นยาบรรเทาอาการอักเสบ ที่ไม่ใส่สเตียรอยด์ เช่น naproxen, ibuprofen เป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว จึงทำให้กระเพาะอาการระคายเคือง จึงควรกินหลังอาหารทันที หรือกินพร้อมอาหาร นอกจากนั้นยังมีผลต่อตับไต จึงไม่ควรกินเดือนละ 4-10 เม็ด
ยากลุ่มทริปแทน (Triptan)
เช่น eletriptan, sumatriptan มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาในกลุ่ม NSAIDs ช่วยทำให้หลอดเลือดในสมองหดตัว แต่ก็เป็นยาที่ควรใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์ เว้นระยะกินอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และไม่ควรกินเกินเดือนละ 10 เม็ด และผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือดควรใช้อย่างระมัดระวัง
กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า
เป็นยาในกลุ่ม Tricyclic antidepressants เช่น amitriptyline, nortriptyline ลดความถี่ในการเกิดไมเกรน ช่วยให้นอนหลับ นอกจากนั้นยังลดอาการปวดออฟฟิศซินโดรมได้ด้วย
กลุ่มยากันชัก
ยาในกลุ่ม Anticonvulsant เช่น topiramate ช่วยลดความถี่ในการเกิดไมเกรนช่วงที่มีประจำเดือนได้ประมาณ 33% แต่ตัวยาทำให้มีอาการมึนงง เกิดอาการชา
กลุ่มยาลดความดัน
เช่นยา propranolol เป็นยาที่ป้องกันการปวดไมเกรนได้น้อย เพียง 25% เท่านั้น แต่เป็นตัวยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง
กลุ่มยา anti CGRP
CGRP เป็นสารเคมีในระบบประสาท ที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว จากการวิจัยพบว่าขณะที่เกิดอาการปวดไมเกรนนั้นมักมมีสารตัวนี้หลั่งออกมามาก ยา anti CGRP จะเข้าไปทำหยุดการทำงานของสารเคมีตัวดังกล่าว โดยจะเป็นยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มักฉีดเดือนละครั้ง สำหรับผู้ป่วยไมเกรนเรื้อรัง และผู้ที่ไม่สามารถกินยาแก้ไมเกรนตัวอื่นๆ ได้
ข้อมูล
- คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- โรงพยาบาลพระราม 9
ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ปวดไมเกรน รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?
อาหารใดกินเข้าไปแล้ว เสี่ยงปวดไมเกรน