คำว่า “ความรัก : LOVE” เป็นคำสั้นๆ ที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนาน ทุกๆ คนต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรัก ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น รักแฟน รักแรกพบ รักเค้าข้างเดียว รักเล่นๆ รักจริงหวังแต่ง คำถามที่น่าสนใจคือแล้วคำว่าความรักเนี่ยมันเป็นยังไงกันแน่ ทำไมเราเจอคนบางคนที่เราชอบแล้วถึงใจสั่น ประหม่า พูดผิดพูดถูก หรือทำไมคู่แต่งงานหลายต่อหลายคู่ที่อยู่ด้วยกันมานานแต่ก็ยังรักกันหวานชื่น จริงๆแล้วมีความลับอะไรซ่อนอยู่ในคำง่ายๆคำนี้ “LOVE” กันแน่ วันนี้รพ.กรุงเทพมีคำตอบมาฝาก
นพ.สุริยา ธีรธรรมากุล แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ในทางการแพทย์นั้น ได้มีความพยายามในการหาคำอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์เมื่อเกิดความรัก จนได้พบว่าในร่างกายมีฮอร์โมนหลายต่อหลายตัวทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบในแต่ละขั้นตอนของความรัก ไม่ว่าจะเป็นอะดรีนาลีน (Adrenalin) ทำให้ใจเต้นเร็ว หน้าแดง ฮอร์โมนเพศทั้ง เทสโทสเทอโรนและเอสโตรเจน (Testosterone & Estrogen) ทำให้เกิดตัณหาและความอยาก ฮอร์โมนซีโรโตนีน (Serotonin) ทำให้เกิดอารมณ์ซึม เศร้า เหงา แต่ฮอร์โมนที่ถือเป็นพระเอกของความรักจนได้ชื่อว่า LOVE HORMONE นั้นต้องยกให้กับ ออกซิโตซิน (Oxytocin) เนื่องจากฮอร์โมนตัวอื่นๆนั้นทำหน้าที่ในช่วงแรกๆที่เรามีอาการเพ้อ ฝัน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ละเมอถึงคนที่เรารัก แต่ฮอร์โมนที่ทำให้เราเกิดความผูกพัน อยากอยู่ร่วมกับคนรักและสร้างครอบครัวนั้น มาจากผลของออกซิโตซิน
ออกซิโตซิน (Oxytocin) คือฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง หน้าที่หลักๆที่รู้กันอย่างแพร่หลายคือ มันเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการคลอดลูกและให้นมบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดสายใยผูกพันที่ยิ่งใหญ่ของแม่และลูก แต่ยังมีความลับที่สำคัญของออกซิโตซินคือมันเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความผูกพันกับคนอื่นด้วยเช่นเดียวกัน การกอด สัมผัสมือหรือการมีเซ็กส์จะทำให้สมองหลั่งออกซิโตซินมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ เราจะรู้สึกผูกพัน รัก เข้าอกเข้าใจคู่ชีวิตมากขึ้น มีความรักเดียวใจเดียว ด้วยเหตุนี้ ออกซิโตซิน จึงได้รับเกียรติให้มีชื่อเล่นมากมายว่า LOVE HORMONE, HUG HORMONE หรือ TRUST HORMONE นอกจากนี้ การที่ร่างกายเราหลั่ง Love hormone ออกมายังทำให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นการลดความเครียด มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีความโรแมนติกมากขึ้นด้วย ยังมีฮอร์โมนที่ออกฤทธิคล้ายคลึงกับ ออกซิโตซิน ด้วยได้แก่ เอนดอร์ฟิน (Endorphine) หรือ ฮอร์โมนแห่งความสุข : HAPPY HORMONE
เอนดอร์ฟิน นั้นเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองเช่นกัน และยังเป็นฮอร์โมนที่ไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เหมือนฮอร์โมนชนิดอื่น ต้องให้ร่างกายสร้างและหลั่งสารนี้เอง โดยเอนดอร์ฟินจะทำให้ร่างกายเกิดความสุข ความผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดอาการปวด ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ชะลอความเสื่อมของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเรามีความรัก จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งทั้งฮอร์โมนออกซิโตซินและ เอนดอร์ฟินออกมา ทำให้เกิดความสุขนั่นเอง ข้อแตกต่างระหว่าง ออกซิโตซินและเอนดอร์ฟิน คือ ออกซิโตซินมีหน้าที่ทำให้มนุษย์เกิดความรักความผูกพันในระยะยาวทั้งความรักของ แม่-ลูก, สามี-ภรรยา ในขณะที่เอนดอร์ฟินจะเป็นความสุขจากหลายๆสาเหตุ เช่น การออกกำลังกาย การฟังเพลง ดูหนัง และรวมถึงความสุขจากการมีความรักด้วย
เมื่อเรารู้แล้วว่า ออกซิโตซิน ทำให้ชีวิตคู่อยู่กันได้ยาวนานและมีความสุข แฟนไม่มีกิ๊ก คำถามคือแล้วเราจะเพิ่มระดับออกซิโตซินให้กับตนเองและที่สำคัญกว่านั้นคือคู่ชีวิตของเราได้อย่างไร วิธีง่ายๆคือ เราต้องหมั่นเอาใจใส่คู่รักของเรา ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มให้ ไม่ทำหน้าหงิกหน้างอ มีเหตุมีผล การสัมผัส การกอด และหอมแก้ม ย่อมทำให้ความรักของเรายั่งยืนและมีความสุขตลอดไป ส่วนเอนดอร์ฟินนั้น ร่างกายจะผลิตออกมาเมื่อเรามีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การเล่นหรือฟังดนตรี การได้รับแสงแดดในช่วงเช้าและเย็น การหัวเราะและยิ้มบ่อยๆ การนั่งสมาธิ เป็นต้น ดังนั้นจึงเราจึงควรหลีกเลี่ยงการทำแต่งาน ความเครียด ความคิดลบ เพื่อให้ร่างกายผลิตสารแห่งความสุขและมีชีวิตที่ยืนยาว คุณหมอฝากทิ้งท้าย