ผายลม, ตด, กลิ่นตด

“ตด” บอกสุขภาพ

ว่าด้วยเรื่อง การ ผายลม หรือ ตด” บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ

การ ผายลม หรือตดถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์เคยทำสถิติเอาไว้ว่า ในแต่ละวันคนเราอาจผายลมได้บ่อยถึง 10 – 20 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นปริมาณแก๊สที่ปล่อยออกมาได้มากถึง 0.5 – 1 ลิตรต่อวัน หรือเทียบง่ายๆ เท่ากับปริมาณแก๊สที่บรรจุอยู่ในลูกโป่งหนึ่งใบทีเดียว

นอกจากนี้จากการวิจัยของ นายแพทย์ไมเคิล ดี. เลวิทท์ ศาสตราจารย์ทางด้านอายุรกรรมแห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตาเมดิคัลสกูล มินีอาโปลิส สหรัฐอเมริกา พบว่า

ตดเกิดจากการรวมตัวกันของแก๊สหลายชนิด ซึ่งมีส่วนประกอบหลักๆ เป็นแก๊สที่ไม่มีกลิ่นมากถึงร้อยละ 99 ได้แก่ ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ออกซิเจน และมีเทน แต่แก๊สที่มีกลิ่นนั้นมีเพียงร้อยละ 1 ซึ่งเกิดจากการหมักหมมของอาหารในลำไส้ใหญ่ และทำให้เกิดแก๊สจำพวกกำมะถัน เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นสารที่มีกลิ่นเฉพาะตัว

ส่วนที่มาของแก๊สเหล่านี้เกิดจากอะไร เราจะพาไปหาคำตอบค่ะ

นายแพทย์รัฐพลี ภาคอรรถ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงที่มาของแก๊สต่างๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการ ผายลม ไว้ว่า

ปกติคนเราสามารถขับแก๊สส่วนเกินออกจากร่างกายได้ 2 ทาง ได้แก่ การขับออกทางปากที่เรียกว่า “เรอ” และขับทางทวารหนักคือ “การ ผายลม หรือตด” แต่หากแก๊สนั้นไม่ถูกขับออกจากร่างกาย จะทำให้มีการสะสมไว้ในทางเดินอาหาร เราจะรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ปวดมวนในท้อง และเกิดอาการท้องอืดตามมาได้ ดังนั้นการ ผายลม จึงถือเป็นวิธีแก้ปัญหาของระบบร่างกายคนเราอย่างหนึ่ง

แก๊สในร่างกายเกิดขึ้นจาก 2 องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่

  1. แก๊สจากภายนอกร่างกาย มีมากถึงร้อยละ 90 เป็นอากาศที่รับเข้ามาผ่านทางปากและจมูก หรือพูดง่ายๆ คือ การกลืนลมเข้าท้องนั่นเอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราพูดหรือบริโภคอาหาร เราก็มักกลืนอากาศเข้าไปด้วย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การกินอาหารเร็วเกินไป ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกกวาด สูบบุหรี่ การใช้ฟันปลอมที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแก๊ส อาทิ น้ำอัดลม โซดา เป็นต้น
  2. แก๊สที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย มีเพียงร้อยละ 10 เป็นแก๊สที่ผลิตขึ้นจากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่ทำปฏิกิริยาย่อยสลายกากอาหาร ซึ่งแก๊สที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการย่อยนี้ เมื่อรวมตัวกันแล้วก็จะเคลื่อนที่จากลำไส้ใหญ่

แม้ว่าผนังลำไส้จะดูดซึมแก๊สปริมาณมากเหล่านี้ไว้ได้ แต่บางครั้งร่างกายก็ขับแก๊สออกมาทางไส้ตรง เพราะลำไส้ดูดซึมแก๊สได้ไม่ทัน เนื่องจากลำไส้บีบตัวเป็นจังหวะถี่เกินไป หรืออาจเป็นเพราะการกินอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สมาก เช่น ถั่วหรืออาหารประเภทนม จึงเกิดลมในท้องมาก และต้องขับออกมาเป็นตด ผายลม ออกมา

สังเกต ตด บอกโรค

คุณทราบไหมคะว่า การตดเป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพของคุณได้

พลตรี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปริญญา ทวีชัยการ ศัลยแพทย์ระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนักอธิบายไว้ว่า

“จริงๆ แล้วการผายลมกับการถ่ายอุจจาระเป็นเรื่องเดียวกัน การผายลมคืออุจจาระที่เป็นแก๊ส ถือเป็นการระบายสิ่งที่ไม่ดีออกจากร่างกายโดยการบีบตัวของลำไส้ใหญ่

“การผายลมบ่อยๆ แสดงว่ามีลมหรือแก๊สในท้องมาก หากผายลมออกมาได้ แรงดันในท้องก็จะลดลง ทำให้ไม่ปวดท้อง การผายลมจึงถือเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะหากคุณไม่ผายลมทั้งวันเลย นั่นแสดงว่าคุณมีความผิดปกติแล้ว เช่น ผู้ที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อุดตันจากสาเหตุต่างๆ เช่น มะเร็ง”

ดังนั้น สำหรับคนทั่วไป การผายลมจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นไปตามธรรมชาติที่ร่างกายจะต้องมีการขับลมออกมาบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือเรื่องกลิ่น เพราะหากเกิดกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงมาก อาจบ่งบอกได้ว่าในลำไส้ของคุณมีแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปริมาณมาก จึงสร้างแก๊สออกมาได้มากมายจนกลิ่นฟ้องเช่นนี้ คนที่กินเนื้อสัตว์มากจะมีกลิ่นเหม็นมากกว่าคนที่กินอาหารถูกสัดส่วนและมีผักผลไม้มาก

หากคุณตดบ่อยๆ ชนิดเดินไปตดไป อาจบอกถึงปัญหาสุขภาพหรือโรคต่างๆ ของคุณได้เช่นกันส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น คุณหมอปริญญาได้ยกตัวอย่างให้ฟังดังนี้

อาการของโรคบางอย่างที่มีผลทำให้เกิดการผายลมบ่อยๆ ร่วมด้วยได้ เช่น ผู้ที่เป็น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ พอกินอาหารเข้าไป กระเพาะอาหารไม่ทำงาน อาหารก็ไม่ถูกย่อย พอไปถึงลำไส้ใหญ่แบคทีเรียจะมาทำหน้าที่ช่วยย่อยต่อ?เมื่อย่อยมากก็เกิดแก๊สมากขึ้นตามมา หรือผู้ป่วย โรคนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อถุงน้ำดีไม่ทำงาน ทำให้ย่อยสลายไขมันได้ไม่ดี จึงทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการท้องอืดและผายลมหลังอาหารอยู่บ่อยๆ ได้ ตลอดจนผู้ที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคตับอ่อนอักเสบ และผู้ที่มีอาการ ท้องผูก ล้วนเป็นเหตุให้มีการ ผายลม บ่อยขึ้นได้

นอกจากตดจะเกิดเพราะความเจ็บป่วยแล้ว ตดยังเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ของเราด้วย โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. อาหารกระตุ้นการตดทั้งเหม็นและบ่อย

หากคุณสวาปามเนื้อสัตว์ปริมาณมากหรือกินอาหารที่มีกากใยน้อย ย่อมทำให้แบคทีเรียตัวร้ายที่สร้างแก๊สพิษเติบโตได้ดีในลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดตะกรันของอุจจาระค้างปีหลงเหลืออยู่ในลำไส้ใหญ่มาก เนื่องจากอาหารประเภทนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยนานถึง 72 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ทำให้เกิดการหมักหมมจนเกิดแก๊สพิษหรือตดร้าย ที่มาทั้งเสียงและกลิ่นเหม็น

นอกจากนี้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ในบทความ “ตด” (ใครคิดว่าไม่สำคัญ) จากหนังสือ “ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต เล่ม 4” ไว้ว่า

“อาหารอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งฝรั่งเรียกกันว่ากลุ่ม “ถั่วพายุ” (windy pulses) คืออาหารที่กินแล้วทำให้เกิดพายุในท้อง ตัวอย่างเช่น ถั่วแห้งต่างๆ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หัวหอม และแถมด้วยอาหารประเภทอื่นๆ เช่น แอ๊ปเปิ้ลดิบ ขนมปังสด ช็อกโกแลต กาแฟ แตงกวา อาหารทอด ผักกาดแก้ว ขนมหวานเมอแรง ถั่วลิสง ไช้เท้า และครีม (นม) ปั่น เป็นต้น

“นอกจากนั้นยังมีพวกอาหารประเภทแป้งขาวผสมน้ำตาล (ขนม) หรือถ้าขนมพวกนี้ผสมกับพวกโปรตีนเข้าด้วย อย่างเช่น ไข่หวาน อย่างนี้ละก็ เกิดเรื่อง ‘ลม’ ใหญ่แน่ๆ เฉพาะพวกโปรตีนจากพืชนั้น (ถั่วต่างๆ ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น) ส่วนมากไม่ย่อยในกระเพาะอาหาร แต่จะไปย่อยในลำไส้เล็ก เมื่ออาหารประเภทถั่วเคลื่อนเข้าสู่สำไส้เล็ก น้ำย่อยจากตับ (น้ำดี) และน้ำย่อยจากตับอ่อนจะต้องถูกขับเพื่อไปย่อยถั่วเหล่านี้

“ถ้าน้ำดีและน้ำย่อยจากตับอ่อนมีน้อยหรือถูกขับออกไปช้า พวกถั่วก็จะย่อยไม่หมด เมื่อเคลื่อนเข้าสู่ส่วนปลายลำไส้หรือเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ก็จะเป็นกากอาหาร ซึ่งไม่ย่อยอีกต่อไปแล้ว คราวนี้แหละครับ ‘ลม’ ที่ออกมาจะมีทั้งเสียงทั้งกลิ่นเหม็นน่าดูทีเดียวแหละครับ”

2. พฤติกรรมกระตุ้นตด ตัวอย่างที่มักเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของใครหลายคน เช่น

  • เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด การกินเร็วๆ ไม่เคี้ยวอาหารอย่างละเอียด ผลที่ตามคือ อาหารย่อยไม่หมด และทำให้ท้องอืด หรือบางทีท้องไม่ทันอืด ปากก็เรอออกมาเสียก่อน
  • สุขภาพของฟัน เช่น ผู้สูงอายุที่ฟันไม่ดี ทำให้บดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดได้เช่นกัน
  • พูดมากหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง ทำให้ต้องกลืนลมเข้าท้องในปริมาณมาก
  • ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายมีผลอย่างมากต่อการขับถ่ายและการผายลม เนื่องจากการผายลมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ซึ่งการทำงานของลำไส้ใหญ่ก็มักจะเป็นไปตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิกและรำกระบอง

 

เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายแล้ว สิ่งสำคัญคือไม่ควรปล่อยหรือละเลยสัญญาณเตือนจากร่างกายต่อไป โดยเฉพาะ “ตดร้าย” ที่มาทั้งเสียงและกลิ่นอันร้ายกาจ แถมยังปวดท้องอยู่เป็นประจำ อย่างนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติอย่างแน่แท้

เพราะนั่นหมายความว่าคุณป่วยแล้ว ต้องรีบแก้ไขด่วนค่ะ

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 234


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.