“สาหร่าย” พืชใต้ทะเลที่นอกจากจะช่วยรักษาระบบนิเวศของทะเลให้อุดมสมบูรณ์แล้วยังมีประโยชน์นานัปการในด้านของการนำมาเป็นอาหารเราจึงเลือกหยิบสาหร่ายสารพัดชนิดที่มากด้วยคุณค่านี้มาปรุงผสมผสานกับอาหารไทยรสเลิศฝากแฟนๆ ซึ่งสาหร่ายจะช่วยเพิ่มสัมผัสและรสชาติทำให้อาหารอร่อยมากขึ้น
สาหร่ายทะเล ทั่วโลกมีมากกว่าสองหมื่นชนิด แต่ที่นิยมนำมาบริโภคมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นซึ่งแบ่งตามสีของการสังเคราะห์แสงได้เป็น 4 กลุ่มสี คือ สาหร่ายสีแดง (Red Algae) เช่น สาหร่ายพอไฟรา (Porphyra) หรือสาหร่ายโนริที่นำมาห่อซูชิแถมยังเป็นชนิดเดียวกับสาหร่าย “จีฉ่าย” ที่ใส่ในแกงจืด รวมถึงสาหร่ายผมนาง (Gracilaria spp.) ที่นำมาสกัดเป็นวุ้นผง ถัดมาเป็น สาหร่ายสีน้ำตาล (Brown Algae) เช่น สาหร่ายลามินาเรีย (Laminaria) หรือสาหร่ายคอมบุ และสาหร่ายอุนดาเรีย (Undaria) หรือสาหร่ายวากาเมะที่ใส่ในซุปญี่ปุ่น
นอกจากนี้ยังมี สาหร่ายสีเขียว (Green Algae) อย่างสาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa lentillifera J. Agardh) หรือสาหร่ายเม็ดพริกไทยที่กำลังนิยมบริโภคในบ้านเรา สุดท้ายคือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Bluegreen Algae) เช่น สาหร่ายสไปรูลิน่า (Spirulina) หรือสาหร่ายเกลียวทองที่นำมาผลิตเป็นอาหารเสริมสุขภาพนอกจากจะนำสาหร่ายมาปรุงอาหารโดยตรงแล้ว ยังแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างเวชภัณฑ์ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอางอีกด้วย
สาหร่ายทะเลอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมาย แถมยังเป็นวัตถุดิบที่ช่วยบรรเทาและรักษาอาการของโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น
- มีโปรตีนมากกว่าเนื้อสัตว์
- มีแคลเซียมมากกว่านมถึง 14 เท่า
- มีธาตุเหล็กมากกว่าเนื้อสัตว์ 3 – 8 เท่า
- มีไอโอดีนมากกว่าอาหารทะเล
- มีวิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 บี 12 วิตามินซี ไทอะมีน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีนมากกว่าในผักผลไม้บางชนิด
- เป็นอาหารที่มีไขมันและพลังงานต่ำ ย่อยง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะลดน้ำหนัก
- ช่วยรักษาโรคกระดูกพรุนและผุ
- ช่วยชำระล้างหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นได้เป็นปกติ
- ช่วยลดคอเลสเตอรอลลดความดันโลหิต รักษาโรคท้องผูก
- ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร
หมายเหตุ : สำหรับผู้ป่วยโรคไตควรรับประทานสาหร่ายทะเลแต่น้อยเพราะในสาหร่ายมีปริมาณโซเดียมสูง
แชร์ 6 สูตรอาหารที่ทำจากสาหร่าย
- ห่อหมกปลาอินทรีกับสาหร่ายวากาเมะ
- เมี่ยงสาหร่ายพวงองุ่นส้มโอ
- ผัดฉ่าคอมบุทะเล
- ยำสามกรอบสาหร่ายโนริ
- ไก่ห่อโนริทอดใบเตย
- ไอศกรีมสาหร่ายเกลียวทองโฮมเมด
ขอบคุณข้อมูล
1. เอกสารงานวิจัย “การเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลในประเทศ” กรมประมง
2. เอกสารงานวิจัย “การนำสาหร่ายทะเลมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย”ผศ.นิสราภรณ์ เพ็ชร์สุทธ์
3. เอกสารงานวิจัย “คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่าย”สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล
4. www.yourhealthyguide.com
เรื่องและสูตร : เป็นเอก ทรัพย์สิน ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : พิชชาอร ณ นคร
ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก ผู้ช่วยช่างภาพ : บี อุดม สไตล์ : พิมฝัน ใจสงเคราะห์