ถั่วหรั่ง
ถั่วหรั่ง ชื่อนี้อาจไม่ค่อยคุ้นนัก แต่รู้หรือไม่…เจ้าถั่วชนิดนี้แหละมีการค้นพบและวิจัยมากมายว่าช่วย “ต้านความแก่” ได้ แถมมีสารต้านมะเร็ง และประโยชน์อีกเพียบ ถ้าอยากรู้แล้วมาทำความรู้จักกับเจ้าถั่วชนิดนี้กันเลยจ้า…
ทำความรู้จักกับเจ้าถั่วชนิดนี้เสียก่อน!
ถิ่นกำเนิด!!อยู่ในทวีปแอฟริกา บริเวณหมู่เกาะมาดากัสการ์ ต่อมาได้มีการแพร่กระจายไปยังทวีปอเมริกาใต้และเอเชีย ในบ้านเรานั้นเข้ามาครั้งแรกบริเวณชายแดนทางภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2474 จากนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก ในเรื่องของรสชาติและสรรพคุณที่น่าสนใจ จึงทำให้มีความต้องการในตลาดค่อนข้างมากมีราคาที่สูงขึ้น หลายๆจังหวัดทางภาคใต้ก็มีการปลูกเจ้าถั่วชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ได้แก่… สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี พัทลุง กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี
ในแต่ละพื้นที่นั้น ก็จะเรียกถั่วชนิดนี้แตกต่างกันไป อาทิ ถั่วหรั่ง ถั่วเมล็ดเดียว ถั่วโบ ส่วนชาวมุสลิมเรียกภาษายาวีว่า กาแปโจ นิยมปลูกเพื่อนำมาบริโภคเป็นอาหาร ชาวมุสลิมมักใส่ในแกงมัสมั่น ทำขนมหวาน อาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว หรือบดทำแป้ง โอ้โห้เป็นถั่วที่มากประโยชน์ขนาดนี้ จะมีคุณค่าทางโภชนาการอะไรบ้าง มาดูต่อกันเลย…
คุณค่าทางโภชนาการของถั่วหรั่ง
- มีคาร์โบไฮเดรต 55-72 เปอร์เซ็นต์
- น้ำมัน 6 – 7 เปอร์เซ็นต์
- มีโปรตีน 18 – 21 เปอร์เซ็นต์
- มี “สารเมทไธโอนีน” (methionine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้จากการรับประทานอาหารเท่านั้น
- มี “เมทไธโอนีน” ทำหน้าที่เป็นบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันการสะสมของไขมันในตับ จับกับโลหะหนักที่เป็นพิษต่อตับได้ดี
- ช่วยลดปฏิกิริยาการทำลายเนื้อตับของยาหลายชนิด
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้า
- มีบทบาทในการสังเคราะห์ L- carnitine ซึ่งช่วยในการเผาผลาญไขมัน ทำให้ลดความอ้วนได้
3 สิ่งสำคัญที่พบในถั่วหรั่ง
1. ช่วยยับยั้งการทำงานของ “เอนไซม์ไทโรซิเนส” ที่มีส่วนกระตุ้นสร้างเม็ดสีเมลานิน ช่วยลดรอยหมองคล้ำ ฝ้า กระ และรอยจุดด่างดำ ทำให้ผิวหน้ากระจ่างใสแลดูเป็นธรรมชาติ
2. ต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในร่างกาย มีฤทธิ์ที่ดีกว่าสารต้านอนุมูลอิสระทั่วไป เช่นวิตามินซีและวิตามินอี โดยจะช่วยในเรื่องของการป้องกันการทำลาย DNA ในระดับเซลล์และเนื้อเยื่อ ลดการทำลายคอลลาเจนในชั้นผิวหนังจากสารอนุมูลอิสระที่พบในชีวิตประจำวัน ทำให้ลดริ้วรอยและการแก่ก่อนวัยได้
3. ช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวหนังได้ดี เสริมสร้างคอลลาเจนในเซลล์ผิวหนัง ซึ่งจะเป็นการปรับสภาพผิวและฟื้นฟูโครงสร้างของผิว ทั้งกระตุ้นให้ผิวชั้นนอกแข็งแรงได้อีกด้วย
ประโยชน์ถั่วหรั่ง
- เมล็ดนำมาต้มหรือเผาไฟรับประทาน หรือใช้ทำอาหารคาว และขนมหวาน และแปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง มีรสชาติคล้ายถั่วลิสง
- เมล็ดอ่อนมีรสหวานกรอบใช้ทำอาหารได้หลายชนิด
- ใช้บดทำแป้งดิบหรือนำนึ่งสุกบดเป็นแป้ง ใช้สำหรับทำขนมหวานต่างๆ
- สามารถแปรรูปเป็นซอสถั่วหรั่ง และถั่วเน่า เป็นต้น
- เมล็ดถั่วหรั่งใช้เป็นอาหารสัตว์
- ต้นปลูกแซมกับพืชชนิดอื่นสำหรับเป็นพืชคลุมดิน และช่วยบำรุงดินได้อีกด้วย
สรรพคุณทางยาโบราณ
- ป้องกันโรคเบาหวาน
- ป้องกันโรคหัวใจ
- ป้องกันมะเร็งลำไส้
อ้างอิง
ขอบคุณงานวิจัยจาก : ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ อาจารย์และนักวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ออนไลน์ : https://kasettumkin.com