แดดเดียวทั่วไทย รวมสารพัดวิธีทำเนื้อสัตว์แดดเดียวทั่วไทย
เสบียงแสนอร่อยจากแสงแดด
แดดเดียวทั่วไทย เสบียงแสนอร่อยจากแสงแดด สภาวะโรคไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้ ทำให้หลายคนต้องอยู่กับบ้านเป็นหลัก และที่สำคัญคือต้องกักตุนอาหารบางส่วนไว้รับประทาน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านได้นานที่สุด จะได้ไม่ต้องออกนอกบ้านไปเสี่ยงรับเชื้อโรค
ที่สำคัญ ยามนี้แดดเมืองไทยนั้นดีหนักหนา ชวนให้นึกถึงการถนอมจากแสงแดดอย่าง “แดดเดียว” ที่เชื่อว่าหลายคนต้องชื่นชอบ ที่สำคัญคนไทยแต่ละภาคก็จะมีเมนูแดดเดียวที่แตกต่างกันออกไปหลายหลากแบบ ว่าแล้วไปดูกันดีกว่าว่า เมนูแดดเดียวเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และครั้งนี้จะแนมเคล็ดลับวิธีทำหมูแดดเดียวให้เนื้อนิ่มไม่แข็งมาฝากคุณกันด้วย
จิ้นเกลือ จิ้นแดง หรือจิ้นแดดเดียวของคนภาคเหนือ
เริ่มจากเมนูแดดเดียว เวอร์ชั่นภาคเหนือของไทยกันก่อน บางแห่งเรียก จิ้นเกลือ บางแห่ง เรียงกจิ้นแดง (จิ้น เป็นภาษาเหนือ หมายถึง ชิ้นเนื้อ) และยังมีอีกหลายชื่อที่เรียกขาน แต่สรุปแล้วเจ้าอาหารที่ว่าก็คือเนื้อสัตว์แดดเดียวของภาคเหนือ จะมีทั้งเนื้อวัว เนื้อควาย หรือ เนื้อหมู ที่นำมาทำ
โดยเริ่มจากแล่เป็นแผ่นบางชิ้นใหญ่เท่าฝ่ามือตามลายกล้ามเนื้อของเนื้อสัตว์ แล้วนำมาเคล้าหมักกับเครื่องปรุง ทั้ง ซีอิ๊วขาว เกลือ ผงปรุงรส กระเทียมตำ น้ำเปล่าเล็กน้อย น้ำมันพืช และที่แตกต่างจากที่อื่นคือจะใส่สีผสมอาหารสีแดง (บางเจ้าใช้สีผสมอาหารสีส้ม ปน กับสีแดง) เพื่อให้ชิ้นเนื้อสัตว์มีสีแดงสวย กล่อนนวดเคล้าจนเครื่องซึมเข้าเนื้อแล้วนำไปตากแดด ซึ่งจะตากไม่นานมากนัก หรือที่เรียกว่าตากแดดเดียวนั่นแหละ คือตากแค่พอผิวเนื้อด้านนอกหมาด แล้วก็พลิกกลับด้านเอาด้านล่างชิ้นเนื้อขึ้นมาตาก ให้หมาดเสมอกัน ก็จะได้แผ่นชิ้นเนื้อสีแดงที่ผิวด้านนอกหมาดแห้ง แต่พอจับดูด้านในจะยังมีความนิ่ม
เท่านี้ก็นำไปปรุงอาหารแล้วได้ วิธีการนำจิ้นแดงไปปรุงนั้น ทำได้ตั้งแต่ นำไปปิ้งไฟอ่อน หรือนำไปทอดให้สุกก็ได้เช่นกัน หรือจะนำไปนึ่ง เมื่อปรุงสุกแล้วจะกินกับข้าวนึ่ง (ภาษาเหนือ แปลว่า ข้าวเหนียว) เคียงน้ำพริก โดยน้ำพริกที่ว่ากินเข้ากันกับจิ้นแดงมาก คือ น้ำพริกตาแดง บางคนนำจิ้นแดงไปหั่นใส่แกงแค ก็มี ใครอยากลองกินเนื้อสัตว์แดดเดียวเวอร์ชั่นภาคเหนือก็ลองทำตามที่เขียนไว้ดู แล้วจะรู้ว่าลำขนาด
ขอบคุณ ข้อมูลจิ้นแดง จาก เชฟ ถาวร บัวชุ่ม จากจังหวัดเชียงใหม่ แดดเดียวทั่วไทย
ปลาหมึกศอกแดดเดียวของคนปราณบุรี VS ปลาหมึกหอมแดดเดียว เนินนางพญา เมืองจันทน์ฯ
ของขึ้นชื่อประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ.ปราณบุรี คงหนีไม่พ้น “ปลาหมึกแดดเดียว” สมัยเป็นวัยรุ่นฉันเคยไปทำคอลัมน์เกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นของคนที่นั่น ยังจำติดตาถึงป้ายที่ติดประกาศกลางเมืองว่า “ปลาหมึกแดดเดียวอร่อยที่สุดในโลก” และได้ลองลิ้มปลาหมึกกล้วยตัวยาวราวศอก หรือที่บางคนก็เรียกปลาหมึกศอก นำไปตากแดดเดียวพอผิวข้างนอกของปลาหมึกแห้งหมาด แต่ข้างในยังนุ่ม เวลาปรุง คนทางปราณบุรีเขาจะนิยมหั่นปลาหมึกแดดเดียวเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปทอดในน้ำมัน เสิร์ฟคู่กับซอสพริกศรีราชา ซึ่งคนปราณบุรีจะแนะนำว่าถ้าจะซื้อปลาหมึกแดดเดียวกลับบ้าน วิธีเก็บก็คือ นำปลาหมึกแดดเดียวใส่ถุงพลาสติกแล้วห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ก่อนนำเข้าข่องแช่แข็งในตู้เย็น ก็จะช่วยเก็บความอร่อยของปลาหมึกแดดเดียวไว้ได้
ทว่าปลาหมึกแดดเดียว ในดวงใจฉันไม่ได้มีแค่ของปราณบุรีเท่านั้น เพราะฉันได้ไปลองลิ้มปลาหมึกแดดเดียวย่าง แถวจุดท่องเที่ยวเนินนางพญา จ.จันทบุรี ซึ่งต้องบอกว่า ปลาหมึกแดดเดียวทีนี่ก็มีเนื้อหนึบอร่อยเหมือนกัน ทว่าความแตกต่างก็คือ ปลาหมึกแดดเดียวที่เนินนางพญาจะนิยมใช้ปลาหมึกหอมตัวใหญ่มาทำ มีบางร้านที่นำปลาหมึกกล้วยมาทำเช่นกัน แต่ตัวปลาหมึกจะเล็กกว่าที่ปราณบุรี และมีคนทำจำนวนน้อย อีกสิ่งที่แตกต่าง คือ ปลาหมึกหอมแดดเดียวที่เนินนางพญา จ.จันทบุรีนั้น จะปรุงด้วยวิธีนำไปย่างบนเตาถ่าน สุกแล้วหั่นเป็นชิ้นๆ ก่อนราดน้ำจิ้ม ซึ่งเจ้าน้ำจิ้มปลาหมึกย่างของที่นี่ก็มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพราจะมีน้ำจิ้มสองส่วนนำมาผสมกัน คือ น้ำพริกเกลือ (เหมือนน้ำจิ้มซีฟู้ด) และอีกส่วนจะเป็นน้ำจิ้มขวด คล้ายน้ำจิ้มไก่ ทว่าคนทางนี้เขาจะมียี่ห้อน้ำจิ้มยอดฮิตสำหรับกินกับปลาหมึกแดดเดียวย่าง ชื่อยี่ห้อว่า น้ำจิ้มบุญส่ง เวลาเราสั่งปลาหมึกหอมแดดเดียวย่าง แม่ค้าจะก็ย่างปลาหมึกหั่นใส่จาน และใส่น้ำจิ้มแยกมาให้ทั้งสองชนิด หรือบางร้านจะตักผสมกัน ก็อร่อยไปอีกแบบ
ฉันเองเคยทำปลาหมึกแดดเดียวกินเองสมัยทำงานที่ กรุงเทพฯ เพราะที่พักอยู่ใกล้ตลาดวงเวียนใหญ่ซึ่งมีวัตถุดิบอาหารทะเลสดๆให้เลือกมากมายรวมถึงเจ้าปลาหมึกกล้วยตัวยาวๆด้วย วิธีทำคือ ให้เลือกปลาหมึกกล้วยสดตัวโตๆ เนื้อหนาๆ มาผ่ากลางตามยาวให้แผ่ออก โดยผ่าเฉพาะเนื้อปลาหมึกด้านที่ไม่มีหัวปลาหมึกติดอยู่ เมื่อตัวปลาหมึกแผ่ออก ก็ล้างทำความสะอาดท้องปลาหมึกให้สะอาด ลอกเยื่อบางๆออกจนหมด ถ้าใครชอบให้มีหนังปลาหมึกติดอยู่ก็ไม่ต้องลอกออก แต่ฉันเลือกลอกออกจนหมด พักไว้
ครานี้ปอกกระเทียมกลีบใหญ่สักหนึ่งกลีบ ใส่ลงครกโขลกให้ละเอียดยิบ พร้อมเติมน้ำตาลทรายเล็กน้อย และน้ำปลา สัก 1 ช้อนโต๊ะ ลงคนผสมกับกระเทียม ให้ส่วนผสมละลายเข้ากัน จึงตักใส่ลงนวดกับปลาหมึกที่เตรียมไว้ (ส่วนผสมนี้สำหรับปลาหมึกศอกสด 1 ตัว) จากนั้น นำไม้เสียบลูกชิ้นมาเสียบดามตัวปลาตามขวาง และตามยาว เพื่อกำหนดทรงตัวปลาหมึกไม่ให้บิดงอเวลาที่นำไปตาก จากนั้นก็นำไปตากแดด แดดเดียว สังเกตคือหนังปลาหมึกด้านนอกหมาด ด้านในยังมีความนิ่ม เป็นอันใช้ได้ ก็นำปลาหมึกแดดเดียวที่ได้ไปหั่นชิ้นและทอดรับประทานได้เลย
เอาเป็นว่าใครเป็นสายอาหารทะเล แดดฤดูร้อนแบบนี้ ทำปลาหมึกแดดเดียวไว้กิน ก็คงอร่อยฟินกันใช่น้อย
“ปลาเค็ม” ปลาช่อนแดดเดียว ของคนเมืองสิงห์
ปลาช่อนแม่ลา ถือเป็นสุดยอดวัตถุดิบอาหารจากแหล่งน้ำจืดที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยของคนเมืองสิงห์บุรี และแน่นอนว่า คนเมืองสิงห์เขาก็จะมีวิธีทำปลาช่อนแดดเดียวที่อร่อยไม่แพ้ใคร
ฉันเคยเรียนทำปลาช่อนแดดเดียว หรือที่คนทางนั้นเขาเรียกว่า “ปลาเค็ม” จากคุณยาย ฉลวย วิเศษสมบัติ แม่ครัวผู้มีมือของเมืองสิงห์บุรี ซึ่งเป็นคุณยายของเพื่อนสนิทฉัน คุณยายฉลวยเล่าว่า ปลาช่อนแม่ลาแท้จะมีหางทรงมนกลมคล้ายตาลปัตรสีเขียวเหลือบเหมือนปลากัด โคนครีบและครีบหูสีส้มปนแดง ตัวไม่คล้ำ จะออกสีขาวหรือเทา แต่ตัวจะป้อมสักน้อย เพราะแม่น้ำแม่ลาอุดมสมบูรณ์ ทำให้ปลาช่อนธรรมชาติจากแหล่งนี้อวบอ้วน ไม่ได้หัวโตตัวลีบเหมือนปลาช่อนนาทั่วไป เวลานำไปทำปลาแดดเดียว เนื้อปลาจะมีสีแดงสวยโดยไม่ต้องใช้ดินประสิว และยังมีความมันวาว อีกด้วย
คุณยายฉลวยสอนฉันทำปลาช่อนแดดเดียว โดยคุณยายบอกว่า เมื่อได้ปลาช่อนมาแล้ว ให้นำมาขอดเกล็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อย จากนั้น นำมาผ่ากลางตัวจากฝั่งครีบหลัง แผ่ออก แล้วชักไส้ออกจนหมด ใช้เกลือทาล้างปลาให้สะอาด
ครานี้พิจารณาดูว่าปลาตัวเล็กใหญ่เพียงใด หากเป็นปลาตัวเล็ก จะใช้มีดกรีดบริเวณท้องปลาตามยาวให้มีร่อง เพื่อเวลานำไปตากจะได้แห้งง่าย หากเป็นปลาตัวใหญ่ ก็จะกรีดร่องตามแนวเดียวกัน แต่กรีดบนส่วนเนื้อปลา แล้วจึงโรยเกลือขยำเคล้ากับเนื้อปลา โดยคุณยายฉลวยแนะนำว่า ปลา 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม จะใช้เกลือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะไม่พูน และให้ใช้เกลือไทย จะได้รสชาติปลาที่เค็มกำลังดี
เมื่อขยำปลากับเกลือแล้ว ให้หมักไว้ราว 20-30 นาที จึงนำไปตากแดด ให้เนื้อปลาหมาด โดยเริ่มตากจากการหงายส่วนเนื้อขึ้น นำส่วนหนังปลาลงด้านล่าง แล้วใช้นิ้วสอดตรงร่องใต้ท้องปลาที่กรีดไว้ ดึงเนื้อปลาให้นูนขึ้น ตัวปลาตรงกลางก็จะนูนขึ้น เพื่อเปิดช่องอากาศถ่ายเทสู่หนังปลาด้านล่างด้วย ตากปลาจนชิ้นปลาหมาด ผิวนอกแห้งตึงมันเงา จับดูเนื้อด้านในยังนุ่ม เป็นอันใช้ได้ เท่านี้ก็ได้ปลาช่อนแดดเดียวตำรับเมืองสิงห์บุรี นำไปทอดกินกับข้าวสวยและพริกน้ำปลาอร่อยๆแล้ว
ขอบคุณ คุณยาย ฉลวย วิเศษสมบัติ เอื้อเฟื้อความรู้และวิธีทำปลาช่อนแดดเดียวตำรับสิงห์บุรี แดดเดียวทั่วไทย
ปลาสลิดแดดเดียวบางบ่อ ปลาแดดเดียวเลื่องชื่อของคนบางบ่อ
มุกเด็ด “ปลาสลิดบางบ่อ บางบ่อก็ไม่มีปลาสลิด” นิยมเล่นกันขำๆ ในหมู่เพื่อน แต่แท้จริงแล้ว ปลาสลิดแดดเดียวจาก อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ นั้นได้ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติอร่อย เนื้อมัน กลิ่นหอม กว่าที่ไหนๆ
ปลาสลิด มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ปลาใบไม้ ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกตามพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 4 เพราะรูปลักษณ์หน้าตาคล้ายใบไม้
แต่เดิมนั้น ปลาสลิดที่ขึ้นชื่อที่สุดอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรี แต่ไม่ได้มีการอนุรักษ์สายพันธุ์ไว้ ทำให้พันธุ์ปลาเริ่มสูญหายไป กระทั่งได้มีเกษตรกรที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรสงคราม เริ่มเลี้ยงปลาสลิด และทำปลาสลิดแดดเดียวขาย จนเลื่องชื่อลือชา โดยว่ากันว่า ปลาสลิดแดดเดียวนั้นมีกลิ่นหอม เนื้อมัน ไม่เหมือนที่ไหน เหตุก็เพราะ พอชาวบ้านเขาวิดปลาจากบ่อแล้ว ก็นำปลาสลิดสดๆ มาหมักทำปลาสลิดแดดเดียวเลยทันที ไม่ได้ใช้ปลาแช่น้ำแข็งอย่างที่อื่นๆ ทำให้เนื้อปลายังคงความสดและหวานมันอร่อยนั่นเอง
ปลาสลิดแดดเดียวคุณภาพดีที่ใช้ปลาสดทำจะมีหลักสังเกตว่า ครีบต้องกาง หางต้องแผ่ และที่สำคัญ ตัวปลาจะค่อนข้างแห้ง ไม่เต่งตึงมากนัก หากปลาหางขาดวิ่นเป็นฝอย และเนื้อตึง ตัวหนัก แสดงว่าเป็นปลาแช่แข็ง อย่าได้ซื้อมาบริโภคเด็ดขาด แถมยังมีเคล็ดว่า ถ้าชอบกินปลารสเค็มหน่อย เนื้อมันๆ ให้เลือกปลาตัวเมีย สังเกตจากทรงตัวปลาจะป้อม แต่ถ้าชอบเนื้อหวาน ไม่มันมากให้เลือกกินปลาตัวผู้ ดูจากทรงตัวปลาจะยาวเรียว
ครานี้ไปดูวิธีทำปลาสลิดแดดเดียว แบบ ปลาสลิดบางบ่อกัน เริ่มจากนำปลาสลิดตัวอวบอ้วน มาขอดเกล็ดตัดหัวออก แล้วล้างท้องปลาให้สะอาด จากนั้นนำปลามาเคล้ากับเกลือทะเล อัตราส่วน ปลาที่ล้างสะอาดแล้ว 1 กิโลกรัม ต่อเกลือทะเล 3-4 ช้อนโต๊ะ (หากอากาศร้อนมากให้เพิ่มเกลือขึ้นอีกเล็กน้อยป้องกันปลาเน่า) เคล้าให้ทั่ว แล้วหมักไว้ 1 คืน รุ่งเช้าให้นำปลาที่หมักไว้ มาแช่น้ำสะอาด 20 นาที เพื่อล้างน้ำเกลือออก และให้ปลาจืดลง พอแช่ปลาครบเวลา ให้รินน้ำออก ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง รินน้ำออก แล้วเติมน้ำเปล่า ผสมน้ำส้มสายชูเล็กน้อย ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงไปด้วย เพื่อให้น้ำส้มสายชูช่วยกัดเมือกที่ครีบปลาออก และทำให้ผิวปลาตึงสวย ทั้งยังป้องกันแมลงวันตอมได้ดี จึงเตรียมนำปลาไปตากแดด
ขั้นตอนการตากปลา จากตากบนกระด้ง หรือ เฝือกไม้ไผ่ (เป็นแผ่นม่านไม้ไผ่ขนาดใหญ่) กะว่าด้านที่หงายสู้แดดตึงดีแล้ว ก็พลิกอีกด้าน ให้แห้งตึงทั้งสองส่วน เท่านี้ก็ได้ปลาสลิดแดดเดียวแล้ว
วิธีทอดปลาสลิดนั้น แม่ครูเพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ประณีตศิลป์ แกะสลักเครื่องสด ของอ่อน ซึ่งเป็นแม่ครูด้านอาหารไทยของฉัน ท่านเคยสอนว่า
“เมื่อได้ปลาสลิดแดดเดียวมา ให้นำมาล้างทำความสะอาดก่อน โดยวิธีล้าง ให้เปิดน้ำจากก๊อกน้ำ จากนั้น ให้ใช้มือหยิบด้านหางปลาโดยห้อยด้านท้องปลาลงด้านล่าง แล้วนำตัวปลาไปผ่านน้ำ อย่าให้น้ำเข้าท้องปลาได้ จากนั้นนำปลามาซับน้ำด้วยกระดาษอเนกประสงค์ ก่อนนำไปทอด ที่ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าท้องปลา ก็เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้น้ำมันกระเด็นเวลาทอด”
อาจารย์ยังแนะว่า ปลาสลิดแดดเดียวนั้น เข้ากันได้ดีกับแกงส้ม ส่วนตัวฉันเองแล้ว แค่ได้ปลาสลิดแดดเดียวทอดอร่อยๆ สักตัวกับข้าวสวย ก็อร่อยถูกใจแล้ว แต่ถ้าจะให้อร่อยยิ่งขึ้นต้องเปิบด้วยมือ จะฟินสุดๆ
เอาเป็นว่าได้ทั้งวิธีเลือกซื้อ และวิธีทำปลาสลิดแดดเดียว และวิธีทอด พร้อมแนะนำของกินคู่กันขนาดนี้ ก็เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงทำปลาสลิดแดดเดียวกินกันเองได้แน่ๆ
ขอบคุณ
อ.เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ประณีตศิลป์แกะสลักเครืองสดของอ่อน เอื้อเฟื้อวิธีทอดปลาสลิดแดดเดียว
เอกสารอ้างอิง
หนังสือ “กินแบบไทย วิถีการครัวและวัฒนธรรมการกินของไทย” สำนักพิมพ์แสงแดด
เคล็ดวิธีทำหมูแดดเดียว
ขอปิดท้ายบทความด้วยเมนูแดดเดียวในดวงใจใครหลายๆคน นั่นคือ หมูแดดเดียว ซึ่งมักประสบปัญหาว่า ทำไมหนอ ทำหมูแดดเดียวทีไร พอทอดเสร็จแล้วถึงแข็งกระด้างกินไม่อร่อยเลย วันนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอเคล็ดลับสูตรวิธีทำหมูแดดเดียวตำรับของผู้เขียนเอง ที่ช่วยให้หมูแดดเดียวนั้นยังมีความนิ่มอร่อย และเก็บไว้ได้นาน
เคล็ดลับการทำหมูแดดเดียว ดังนี้
1.เลือกส่วนของเนื้อหมูที่นิ่มอยู่แล้ว เช่น หมูสันใน หมูสันคอ เป็นต้น เรียกได้ว่า ถ้าวัตถุดิบหลักนั้นนิ่มอยู่แต่ต้น พอนำไปทำหมูแดดเดียวก็จะได้หมูแดดเดียวที่นิ่ม
2.การหั่นชิ้นหมูสำหรับทำหมูแดดเดียว จะหั่นเป็นเส้นตามแนวกล้ามเนื้อของหมูไปเลย เพื่อช่วยให้ชิ้นหมูรักษาความชิ้นเอาไว้ได้ดี กว่าการหั่นตัดมัดกล้ามเนื้อหมู
3.การ Brining หรือ การแช่หมูในน้ำเกลือ สัดส่วนน้ำเกลือ คือ น้ำสะอาด 2 ถ้วยตวง เกลือไทย 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่พูน) และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ คนให้ละลาย จากนั้น นำหมูที่หั่นแล้ว มาแช่เอาไว้ 1 คืน จะบุบกระเทียมใส่ลงไปแช่ด้วยก็ได้ เพื่อให้หมูมีกลิ่นหอมๆ ของกระเทียม การแช่หมูในน้ำเกลือนี้ เกลือจะซึมเข้าเนื้อและไปผลักเอาน้ำในเนื้อออกมา ทำให้หมูแดดเดียวมีรสชาติถึงเนื้อใน และเมื่อนำไปทำแดดเดียวจะเก็บไว้ได้นานขึ้น นอกจากนี้ เกลือยังช่วยให้หมูอุ้มน้ำไปเก็บไว้ในตัว เมื่อนำไปตากแดด จะยังคงความชุ่มชื้นอยู่ ทำให้หมูนุ่ม
เมื่อแช่หมูไว้ 1 คืนแล้ว ให้รินน้ำที่แช่หมูออกจนหมด จากนั้นนำชิ้นหมู มาลองเข้าไมโครเวฟ ชิมรสดู ว่าเค็ม หวาน อย่างไร แล้วจึง เคล้าเครื่องปรุงรสเพิ่มเติม ก่อนนำไปตากแดด ซึ่งเคล็ดลับอย่างหนึ่งคือ ควรผสมน้ำมันพืชเล็กน้อยลงเคล้ากับชิ้นหมูและเครื่องปรุงก่อนนำไปตากแดด เพื่อให้น้ำมันช่วยรักษาความชุ่มชื้นของชิ้นหมูเอาไว้ และยังช่วยให้หมูแดดเดียวที่ทำเสร็จแล้วมีผิวเงางามด้วย ซึ่งขอแนะนำให้ใช้น้ำมันปาล์ม เพราะจะไม่ก่อให้เกิดกลิ่นหืนเมื่อเก็บหมูแดดเดียวไว้นาน
4.การตากแดด คำว่า แดดเดียว ไม่ได้แปลว่าตากทั้งวัน ดังนั้น เราจะตากชิ้นหมู แค่พอให้ผิวเนื้อด้านนอกแห้งตึง เนื้อด้านในยังมีความนิ่ม และชุ่มชื้นอยู่ เท่านี้ถือว่าพอแล้ว ก็เก็บชิ้นหมูใส่กล่องและนำไปเก็บเข้าตู้เย็นไว้ทอดรับประทาน
5.ทอดด้วยไฟกลางค่อนอ่อน เนื่องจากหมูแดดเดียว ได้สูญเสียน้ำไปส่วนหนึ่งแล้วจากการตากแดด การทอดหมูจึงต้องเริ่มทอดด้วยไฟกลางค่อนอ่อน แต่น้ำมันต้องร้อนพอควร เพื่อให้หมูสุกและมีสีสวย หากทอดไฟอ่อนเกินไปและทอดนานเกินไป หมูจะสูญเสียน้ำระหว่างทอดทำให้หมูแดดเดียวแข็งกระด้าง แต่หากทอดไฟแรงเกินไป หมูแดดเดียวอาจไหม้และข้างในไม่สุก
เรียกได้ว่า บอกกันหมดไส้หมดพุง เพื่อหวังให้คุณผู้อ่านได้รู้จักวิธีถนอมอาหารแบบแดดเดียวจากวัตถุดิบหลายชนิด ตามแต่ละสูตรเด็ดหลายภาคของไทยกันแบบจุใจ อย่างไรก็อย่าลืมนำเคล็ดลับเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ไปลองทำกันดูนะครับ รับประกันว่า ต่อให้ต้องกักตัวอยู่บ้านนานแค่ไหน คุณก็มีอาหารแดดเดียวไว้เป็นเสบียงกรัง ไม่ต้องกลัวอดกันแล้ว