รู้ลึกเรื่อง งานวิจัยสุขภาพ กับหมอสันต์
คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดชื่อดัง นำเรื่องราวสุขภาพดีๆ มาฝากเราเสมอ วันนี้คุณหมอชวนเรียนรู้วิธีพิจารณาว่า งานวิจัยสุขภาพ ไหนน่าเชื่อถือค่ะ
MED RESEARCH GUIDE
วิธีตรวจสอบงานวิจัย ชัวร์หรือมั่วนิ่ม
คณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาขอสัมภาษณ์ผมเพื่อนำข้อมูลไปประกอบการเรียน พวกเธอกล้าหาญมากในการตั้งคำถามซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
Q: อาจารย์เลือกงานวิจัยที่สนับสนุนความเชื่อของอาจารย์มาใช้ แบบที่เรียกว่า Hand Pick โดยมีอคติเข้าข้างแนวทางมังสวิรัติที่อาจารย์ชื่นชอบหรือเปล่าคะ
A: เป็นความจริงที่ว่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมักมีผลสรุปที่ขัดแย้งกันเอง คือส่วนหนึ่งว่า ทำอย่างนี้แล้วดี แต่อีกส่วนหนึ่งว่า ทำแล้วไม่ดี โดยงานวิจัยแต่ละเรื่องมีการทำการวิจัยกันเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น เฉพาะงานวิจัยด้านโภชนาการ เมื่อปีกลาย (พ.ศ.2559) เพียงปีเดียวมีงานวิจัยออกมาใหม่เจ็ดพันกว่าเรื่อง ประเด็นอยู่ที่ว่า แพทย์ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบเรื่องสุขภาพ ไม่ชักนำสาธารณชนไปผิดทาง จนเกิดความเสียหายต่อสุขภาพและชีวิต ควรบอกผลวิจัยแก่สาธารณะอย่างไร
เพื่อตอบคำถามนี้ ผมขอยกตัวอย่าง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า บุหรี่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ งานวิจัยเรื่องบุหรี่นั้นทำกันมามาก มีทั้งที่บอกว่า บุหรี่ดีและบุหรี่ไม่ดี เท่าที่ผมจำได้ ผลวิจัยที่บอกว่า บุหรี่มีข้อดีมีอยู่ประมาณ 200 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น บางงานวิจัยระบุว่า บุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคพาร์กินสันให้น้อยลง
แล้วทำไมหมอไม่พูดถึงด้านดีของบุหรี่ให้สาธารณชนทราบบ้างละ คำตอบก็คือ แพทย์มีหน้าที่ชั่งน้ำหนักของหลักฐานทั้งสองด้านว่า ด้านไหนมีความน่าเชื่อถือได้มากกว่ากัน แล้วจึงพูดกับสาธารณชนด้วยภาพรวมของหลักฐาน ไม่ใช่พูดถึงแต่งานวิจัยเรื่องเล็กๆไม่กี่เรื่องซึ่งให้ผลขัดแย้งกับความจริงในภาพรวม อันเป็นเหตุให้สาธารณชนเข้าใจผิดและดูแลสุขภาพตัวเองในทางที่ผิด
การชั่งน้ำหนักหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องซับซ้อน ซึ่งเราคงไม่มีเวลาเจาะลึกในวันนี้ แต่สำหรับคนทั่วไป หากได้รับทราบข้อมูลทั้งหมด แล้วใช้สามัญสำนึกตรึกตรองก็สามารถบอกได้แล้ว นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมผมจึงตั้งใจเผยแพร่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ผ่านบทความในบล็อกของผม
คุณคงเคยได้ยินพระเกจิอาจารย์และญาติธรรมโต้เถียงกันถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งสองฝ่าย ว่ากันไปคนละทางแบบตรงกันข้ามเลย ฝ่ายหนึ่งขึ้นเหนือ อีกฝ่ายหนึ่งล่องใต้ แต่ก็อ้างพุทธพจน์จากพระไตรปิฎกทั้งคู่ เพียงแต่อ้างคนละบท จึงสรุปผลไม่ตรงกัน
แต่จริงๆแล้ว เราสามารถสรุปให้ลงตัวด้วยสามัญสำนึกได้นะ เช่น พระพุทธเจ้า สมัยที่ท่านทรงมีชีวิตอยู่ ท่านทรงปฏิบัติตัวหรือใช้ชีวิตจริงๆอย่างไร นั่นแหละ เราใช้ความเป็นจริงตรงนั้นตรวจสอบว่า คำสอนใดเป็นของจริง
คลิกอ่านหน้าถัดไป
Q: ทำไมการแพทย์ปัจจุบันจึงสนับสนุนการกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากอยู่ ไม่ได้สนับสนุนการกินพืชเท่าไหร่เลย
A: ไม่เป็นความจริง 90 เปอร์เซ็นต์ของคำแนะนำทางการแพทย์ สนับสนุนให้กินพืชผักผลไม้เพิ่มมากขึ้น เมื่อกินพืชได้มากขึ้นจึงต้องลดการกินเนื้อสัตว์ลง เพราะกระเพาอาหารของเรามีพื้นที่จำกัด เพียงแต่คำแนะนำอย่างเป็นทางการ เมื่อต้องการบอกว่า ให้กินเนื้อสัตว์ลดลง คือ ลดการกินไขมันอิ่มตัวลง เพื่อเป็นการเลี่ยงคำ ทั้งนี้เป็นเพราะอิทธิพลของอุตสาหกรรมอาหาร
อีกประการหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยได้รับรู้เกี่ยวกับหลักฐานข้อมูล เพราะอุตสาหกรรมอาหารไม่อัดงบโฆษณา เนื่องจากเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง ไม่เหมือนอุตสาหกรรมยาที่อัดงบโฆษณากันโครมๆ เช่นเมื่อปีกลาย คณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กว่าแปดร้อยเรื่อง แล้วประกาศอย่างเป็นทางการว่า เนื้อสัตว์ที่ผ่านการถนอม (Processed Meat) เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม มีสารก่อมะเร็งระดับเดียวกับบุหรี่ (1A) และ ระบุว่าเนื้อแดง (Red Meat) เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว มีสารก่อมะเร็งระดับรองลงมา (2A)
คุณรู้เรื่องนี้บ้างไหม ไม่รู้ใช่ไหม เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจด้านการเงินให้ใครโพนทะนาเรื่องนี้ คุณจึงไม่รู้ ทั้งๆมีหลักฐานอยู่โทนโท่
Q: อาจารย์มีจุดยืนต่อต้านอุตสาหกรรมอาหารว่า ทำให้สุขภาพประชาชนเสียหายใช่ไหมคะ
A: ไม่ได้ต่อต้านว่า เป็นคนเลวนะ เพราะไม่มีพ่อค้าอาหารคนไหนที่ตื่นเช้ามาแล้วคิดว่า วันนี้จะฆ่าเด็กๆในโรงเรียนด้วยการขายอาหารพิษชนิดไหนให้พวกเขาดี เขาไม่ได้ตั้งต้นคิดทำร้ายใคร เขาต้องการเงิน อะไรทำให้เขาได้เงิน เขาทำทั้งนั้น
ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า อะไรดีและอะไรไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วเลือกซื้อแต่ของดี คราวนี้พ่อค้าก็จะเปลี่ยนไปขายสินค้าชนิดใหม่ที่คนชอบซื้อเอง เช่น ตอนนี้กระแสกินพืชหรือวีแกน (Vegan) มาแรง อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เริ่มเปิดสายพานการผลิต “เนื้อที่ทำจากพืช (Vegan Meat) และไข่เทียม (Egg Substitute) ขึ้นมาแล้ว
ผมไม่ได้ว่า ใครเป็นคนเลว แต่ผมรู้ว่า ทุกคนอยากได้เงินและจะทำทุกอย่างที่ได้เงิน ผมถือเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเพื่อเอาตัวรอด ในขณะที่ต้องมีชีวิตอยู่ในสนามการหาเงินนี้