เพศชายเชื้อสายจีน ต้องระวัง มะเร็งหลังโพรงจมูก

เพศชายเชื้อสายจีน ต้องระวัง มะเร็งหลังโพรงจมูก

มะเร็งหลังโพรงจมูก พบในผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ เพศชาย ร้อยละ 3.6 โดย นายแพทย์ประเสริฐ เลิศสงวนสินชัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า

มะเร็งชนิดนี้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดอับ ตรวจพบได้ยากสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วๆ ไป เพราะมีจุดกำเนิดที่เยื่อบุผิวรอบ Rosenmuller Fossa ซึ่งอยู่ด้านหลังของโพรงจมูก ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามไปมาก และส่วนใหญ่จะแพร่กระจายลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว บางรายก็แพร่กระจายไปทางเส้นเลือดดำ ไปสู่กระดูก ปอด  และตับ

ในระยะแรกมีอาการน้อยมากหรือไม่มีเลย ถ้ามีอาการคือโรคลุกลามไปมากแล้ว โดยคลำพบก้อนที่คอโต หูอื้อ ได้ยิน เสียงดังหรือปวดหูมากผิดปกติ แน่นคัดจมูก มีเลือดออก มองเห็นภาพไม่ชัดหรือเห็นภาพช้อน หนังตาตก การกลอกตาผิดปกติ กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต บางรายมีอาการผิดปกติของเส้นประสาทสมอง และอาการอื่นๆ เช่น ปวดหัว งง วิงเวียน

ปัจจัยเสี่ยงโรคดังกล่าวมี 7 ข้อ โดย นายแพทย์ธนเดช เดชาพันธุ์กุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุไว้ดังนี้

1.เชื้อชาติ

พบมากในประเทศจีนตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ในขณะที่ชาวตะวันตก เช่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้ ต่ำกว่าร้อยละ 1 มีการศึกษาพบว่า มะเร็งชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มแอนติเจน มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เรียกว่า Human Leukocyte Antigen หรือ HLA มี 3 ชนิด ได้แก่ HLA-A2, HLA-B17 และ HLA-Bw46

2.อายุ

นายแพทย์ประเสริฐ เลิศสงวนสินชัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะน้อยกว่าผู้ป่วยมะเร็งของศีรษะและคอในตำแหน่งอื่นๆ โรคนี้ส่วนใหญ่พบในอายุระหว่าง 35 – 50 ปี ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งส่วนอื่นมักพบได้มากตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป เฉพาะผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า อายุน้อยที่สุดคือ 6 ปี

3.เพศ

พบในผู้ป่วยเพศชาย มากกว่าเพศหญิง ที่อัตราส่วน ประมาณ 2 – 3 ต่อ 1

มะเร็งหลังโพรงจมูก

4.อาหาร

เชื่อว่าอาจสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนจีนและคนเชื้อสายจีน ซึ่งนิยมกินอาหารที่ผ่านการถนอมอาหารโดยใช้เกลือเป็นหลัก เช่น ปลาเค็มตากแห้ง ที่สันนิษฐานเช่นนี้เพราะโรคนี้ยังพบมากในชาวเอสกิโม รัฐอะแลสกาและกรีนแลนด์ โดยอาหารที่กินนั้นคล้ายคลึงกัน คือปลาเค็มและเนื้อเค็ม ซึ่งมีสารก่อมะเร็งชื่อไนโตรซามีนปนเปื้อนอยู่ในอาหารดังกล่าว เมื่อนำไปปิ้งหรือย่าง ผู้ปรุงและผู้กินอาหารจะต้องสูดดมสารนี้เข้าไป เมื่อสัมผัสกับเยื่อบุหลังโพรงจมูก อาจทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุผิวระคายเคืองและเปลี่ยนแปลงจนเกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้

5.วิถีชีวิตตามวัฒนธรรมจีน

ปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนจีนและคนเชื้อสายจีน เช่น สูดดมควันไฟจากธูปและการผากระดาษเงินกระดาษทองเข้าไปเป็นประจำ

6.การติดเชื้อไวรัส

โดยไวรัสชนิด Epstein-Barr Virus (EBV) นี้ เป็น DNA Virus อยู่ในกลุ่มของไวรัสก่อโรคเริม (Herpes Virus) จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกมักมีประวัติติดเชื้อ EBV อีกทั้งยังตรวจพบเชื้อไวรัสหรือดีเอ็นเอของ EBV ในเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยโรคนี้อีกด้วย ปัจจุบันจึงเชื่อว่าเชื้อไวรัสนี้น่าจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้

7.สูบบุหรี่

ควันจากบุหรี่เข้ไปทำให้เยื่อบุหลังโพรงจมูกเกิดการระคายเคืองและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

Cancer Guide

นายแพทย์ธนเดช เดชาพันธุ์กุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แนะนำว่า ผู้ที่เป็นเพศชายและมีเชื้อสายจีนเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อทราบดังนี้จึงควรหยุดพฤติกรรมเสี่ยงโดยงดสูบบุหรี่ กินอาหารรสอ่อน  เน้นอาหารสดใหม่ จำกัดปริมาณการกินอาหารที่ผ่านการถนอมอาหารโดยใช้เกลือ งดกิจกรรมตามวัฒนธรรมที่เสี่ยงก่อโรค เช่น การจุดธูป เทียน พลุ ประทัด และการเผากระดาษเงินกระดาษทอง

นอกนั้นก็เป็นการดูแลสุขภาพโดยทั่วไป คือ กินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดเครียด งดใช้สารเสพติด พักผ่อนให้เพียงพอ

ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต ฉบับที่537

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ลิ้นเป็นแผลบ่อยๆ เตือนไว้เลย โปรดระวัง มะเร็งลิ้น

4 เทคนิคการนอนดีๆ ช่วย ระบบย่อยอาหาร

ปวดเข่า ทำอย่างไรดี หนักแค่ไหนควรไปหาหมอ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.