ความจริงเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ กว่า 20 ปีที่มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้โรคนี้ร่วมกับผู้หญิงไทย แต่จากสถิติการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงในวันสตรีสากลเมื่อต้นปี มะเร็งเต้านมยังครองแชมป์อันดับหนึ่ง
โรคนี้เกิดจากอะไรและจะรับมืออย่างไร นายแพทย์ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ ประธานศูนย์ถันยรักษ์ และเลขาธิการมูลนิธิฯ อธิบายดังนี้
World Fact : โลกเปลี่ยน มะเร็งเต้านม ก็เปลี่ยน
คุณหมอธรรมนิตย์ชี้ว่า ความจริงที่น่าสนใจเริ่มต้นในปี 2552 จากผลการวิจัยของมูลนิธิซูซาน จี โคเมน ที่ทำงานด้านมะเร็งเต้านม ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้พยากรณ์อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนกลุ่มจากผู้หญิงในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา มาเป็นประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศในทวีปแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย โดยมีจำนวนเกินครึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด อีกทั้งคาดการณ์ต่อว่า ใน 10 ปีถัดมา คือปี 2563 ผู้ป่วยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 70
ทิศทางดังกล่าว สอดคล้องกับบ้านเราที่มีหญิงไทยป่วยด้วยโรคนี้มากเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันหลายปี โดยมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 3 – 4 คน โดยพบอยู่ในจังหวัดที่เป็นเขตอุตสาหกรรม อาทิ ชลบุรี กรุงเทพมหานคร ระยอง พระนครศรีอยุธยา แม้จะยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัด แต่นัยสำคัญเชิงพื้นที่เหล่านี้บอกเราว่า สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
…แล้วใครบ้างที่ เสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม
We Fact : เราทุกคนมีความเสี่ยง
ทุกวันนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่สรุปชี้ชัดลงไป ถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่จากการทำวิจัยและเก็บข้อมูลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จึงพอสรุปได้ว่า กลุ่มเสี่ยงอันดับต้น ๆ คือ ผู้หญิงที่คนในครอบครัวสายตรงมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งเต้านม อีกทั้งอายุที่มากขึ้นก็จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นด้วย โดยสถิติของศูนย์ถันยรักษ์พบว่า
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตรวจเจอมะเร็งเต้านมในช่วงอายุ 40 – 55 ปี
แต่ที่น่าสนใจคือ จากสถิติชุดเดียวกันพบว่า ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 70 กลับไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงกล่าวได้ว่า
“เราทุกคนมีความเสี่ยง” แม้แต่เพศชายที่มีความเสี่ยงต่ำก็ยังเสียชีวิตด้วยโรคนี้นับพันคนทั่วโลกเลยทีเดียว
Lump Fact : ร้อยละ 85 ไม่ใช่เนื้อร้าย
“มะเร็งเต้านมมีความพิสดารอย่างหนึ่งคือ ไม่เจ็บ ดังนั้นผู้หญิงบางคนคลำพบก้อนแล้วก็ยังคิดว่าไม่อันตราย รอได้ไม่ต้องรีบรักษา นี่คือความเข้าใจผิดเพราะความไม่รู้”
นายแพทย์ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์
นอกจากนี้คุณหมอธรรมนิตย์ยังชี้ว่า สาวไทยจำนวนไม่น้อยยังกลัวการรู้ความจริง จนเลี่ยงไม่มาตรวจอย่างละเอียด ทั้งที่จริง ๆ ก้อนในเต้านมส่วนใหญ่คือถุงน้ำ ไขมัน และเนื้องอกที่ไม่อันตราย มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เป็นมะเร็ง
แต่อัตราส่วนที่น้อยไม่ได้รับประกันว่า คุณจะไม่เสี่ยงต่อโรคนี้ อีกทั้งก้อนที่ไม่อันตรายดังกล่าวก็อาจพัฒนาเป็นเนื้อร้ายได้ ทางที่ดีหากคลำพบก้อนจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
Important Fact : คลำตรวจ มะเร็งเต้านม สม่ำเสมอ ประหยัด ปลอดภัย ไร้ความเสี่ยง
คุณหมอชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ทุกวันนี้บ้านเราใช้งบประมาณสาธารณสุขส่วนใหญ่ไปกับการเยียวยาโรคต่าง ๆ รวมถึงมะเร็ง ขณะที่เจียดเงินเพียงไม่ถึงร้อยละ 30 ให้กับนโยบายป้องกันโรคต่าง ๆ ทั้งที่ระบบป้องกันและตรวจคัดกรองโรคที่มีประสิทธิภาพจะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้อย่างมหาศาล
ในส่วนของมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้ารับการรักษา เมื่อป่วยในระยะที่ 2 ขึ้นไป ทำให้อัตราการรอดชีวิตลดลงมากทั้งที่มีความจริงที่ต้องตระหนักอยู่ 2 ประการ
หนึ่ง คือ จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลศิริราชและศูนย์ถันยรักษ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขนาดของก้อนมะเร็งที่ตรวจพบส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่ 1 ขึ้นไป ซึ่งสามารถคลำเจอได้แต่เนิ่น ๆ หากตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง และหากได้รับการรักษาทันทีจะมีโอกาสรอดชีวิตถึง ร้อยละ 90
สอง คือ ในจำนวนผู้หญิงไทยกว่า 33 ล้านคน ครึ่งหนึ่งอยู่ในวัยที่ควรทำเอกซเรย์เต้านม (Screening Mammogram) อย่างต่อเนื่องปีละครั้ง วิธีการนี้สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้น (ระยะ 0) ซึ่งรักษาหายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทำสกรีนนิ่งแมมโมแกรมในปัจจุบัน มีข้อจำกัดตรงที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งอุปกรณ์และบุคลากรยังจำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ ขณะที่ผู้หญิงในวัยนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลโอกาสที่จะได้รับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องมือดังกล่าวจึงเป็นไปได้น้อยมาก คุณหมอยังแนะนำต่อว่า
“การรณรงค์ให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นวิธีการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะกับบ้านเราที่สุด ทางศูนย์จึงได้เริ่ม ‘โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม’ โดยได้รับความร่วมมือจากอสม.กว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศเป็นเครือข่ายให้ความรู้ รวบรวมสถิติ และส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด
“ดังนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงเพิ่มโอกาสการตรวจพบสิ่งผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิผลและประหยัดทั้งงบประมาณของประเทศและเงินในกระเป๋าผู้ป่วยที่สำคัญคือ การลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด”
…ทั้งหมดเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่าที่ทรงมุ่งหวังให้ผู้หญิงไทยพ้นภัยมะเร็งเต้านม โดยให้มูลนิธิถันยรักษ์ฯนำองค์ความรู้และเครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ตรวจวินิจฉัยทั้งคนจนคนรวยอย่างเท่าเทียมกัน
(ที่มา : คอลัมน์ health care นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 408)