ชะลอวัย ด้วยการกิน
ความเสื่อม หากมองผิวเผินคงเป็นแค่เรื่องของอายุ ความแก่ชราจากวันเวลาที่ผ่านล่วงเลยไป เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายย่อมเสื่อมถอยเป็นธรรมดา ปัจจุบันมนุษย์ชินชากับความเสื่อมมากไป โดยเข้าใจว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติ โดยลืมนึกว่าความเสื่อมดังกล่าวอาจมาถึงก่อนวัยอันควร หรือมาเร็วขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินอยู่ วันนี้ผู้เขียนจึงมาให้ข้อมูลเพื่อปรับความเข้าใจเสียใหม่ว่า เราสามารถ ชะลอวัย ได้หากรู้วิธีและเข้าใจความเป็นไปของร่างกาย
ชะลอความเสื่อมอย่างถูกวิธี
หากอยากชะลอความเสื่อม ต้านโรค เราต้องแก้ที่ต้นเหตุในทุกๆด้าน หนึ่งในนั้นคือการ กินอาหารต้านเสื่อม
1. เลือกกินอาหารที่มีสาร AGEs ต่ำ (น้ำตาลน้อย)
ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือควบคุมปริมาณอาหารให้พอเหมาะ งดอาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว แป้งขาว ข้าวขัดขาว และหากเป็นไปได้ควรกินของหวานให้น้อยลง โดยแนะนำให้พิจารณาอาหารที่สามารถทดแทนกันได้ในระดับน้ำตาลที่น้อยกว่า ดังนี้
เลือกน้ำผึ้งแทนน้ำตาลทราย
เลือกมันฝรั่งต้ม/อบแทนมันฝรั่งทอด
เลือกข้าวสวย (ไม่ขัดสี) แทนข้าวเหนียว
เลือกแอ๊ปเปิ้ล ลูกหม่อน มะยม มะขามป้อมแทนมะม่วงสุก ส้ม
เลือกกล้วยน้ำว้าแทนกล้วยหอม
2. กินผักให้ได้5 สีใน 1 วัน
เพราะในผักจะมีสาร AGEs ต่ำกว่าผลไม้ แต่ให้คุณค่าทางสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆมากมาย เช่น บรอกโคลี ผักโขม แครอต มะเขือเทศ มะเขือม่วง ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง พริกหวาน
3. ไม่กินเนื้อแดง
สัตว์เนื้อแดงมักมีคอเลสเตอรอลจากการกินแป้งสูงกว่าเนื้อปลา เนื้อไก่ อาหารทะเล
4. กินไขมันดีไล่ไขมันร้าย
เช่น อาหารตระกูลถั่วเปลือกแข็งอย่างวอลนัท อัลมอนด์ แมคาเดเมีย นอกจากนี้ยังแนะนำกรดไขมันดีจากเนื้อปลาทะเลที่มีส่วนช่วยบำรุงสมองด้วย
5. ศึกษาข้อมูลโภชนาการ
เพื่อจะได้รู้ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่มีน้ำตาลและไขมันสูง จะช่วยให้สามารถจัดสรรปริมาณอาหารในแต่ละวันได้ด้วยตนเอง
สารอาหารต้านเสื่อม
วิตามินซีช่วยเติมคอลลาเจนและความยืดหยุ่นของผิว
วิตามินดีป้องกันกระดูกพรุน
วิตามินอีส่งเสริมกระบวนการสังเคราะห์ไขมันใต้ชั้นผิว ช่วยรักษาสมดุลฮอร์โมนสำคัญๆ ในร่างกาย ป้องกันกระดูกพรุนและความเสื่อมของอวัยวะสำคัญต่างๆ
วิตามินบี(รวม) ช่วยให้ระบบประสาททำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความจำดี ป้องกันเหน็บชา
แร่ธาตุซีลีเนียม สังกะสี ทองแดง แมงกานีส ช่วยให้วิตามินทำงานได้ดี และกระตุ้นให้เอนไซม์ต่างๆในระบบเผาผลาญทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
(ที่มา : คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 462)