ผู้หญิงที่ ผ่าตัดรังไข่ เสี่ยง ความจำเสื่อม จริงหรือ
Question :
เรียนคุณหมอชัญวลี ดิฉันอายุ 45 ปี ผ่านการตัดรังไข่ไปเมื่อ 4 ปีที่แล้วเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งอ่านเจอข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้หญิงที่ผ่านการผ่าตัดรังไข่จะไม่มีฮอร์โมนเพศหญิงและอาจมีปัญหาความจำเสื่อม มีการเรียนรู้ช้าลง อยากทราบว่าจริงไหมคะ และดิฉันควรดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันภาวะนี้
Answer :
ปัญหานี้เป็นปัญหาที่น่าสนใจ เพราะความรู้ทางการแพทย์เรื่องการตัดรังไข่เปลี่ยนแปลงไปมากตอนปี พ.ศ.2531 ผู้เขียนสอบวุฒิบัตรสูติ – นรีแพทย์ นอกจากสอบข้อเขียน ตรวจคนไข้ พยาธิวิทยา แล็บกริ๊ง (คือทำข้อสอบเป็นโต๊ะๆ ครบ 30 วินาที อาจารย์ก็จะกดกริ่งดังกริ๊งให้เปลี่ยนโต๊ะ บางทีเรียกแล็บกรี๊ด เพราะยังไม่ทันเขียนคำตอบก็กริ๊งแล้ว อยากกรี๊ด) ยังต้องเขียนรายงานคนไข้ 20 เคส สมัยนั้นยังไม่ต้องทำวิจัยเหมือนสมัยนี้
มีรายงานคนไข้เคสหนึ่ง อายุ 45 ปี เป็นเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ รักษาโดยการผ่าตัดมดลูกเนื้องอกและรังไข่ทั้งสองข้างออกในสมัยนั้นหากอายุเกิน 45 ปีและต้องผ่าตัดมดลูก จะพิจารณาผ่าตัดรังไข่ออกด้วย แม้ว่ารังไข่นั้นจะปกติดี เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ เรียกว่าผ่าตัดแถม หรือ Elective Oophorectomy แต่หากเป็นในปัจจุบัน การจะตัดรังไข่สองข้างของคนไข้ด้วยเหตุผลดังกล่าวคงไม่เพียงพอ
การตัดรังไข่สองข้างออกในกรณีที่คนไข้เป็นโรคที่ต้องตัดรังไข่จึงจะหาย อย่างไรก็ต้องตัดรังไข่ แต่หากต้องตัดมดลูกด้วยโรคของมดลูกอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น เนื้องอกธรรมดาของมดลูก ควรจะตัดรังไข่ออกด้วยไหม
สิบกว่าปีที่ผ่านมา แนวทางการรักษาเปลี่ยนไปด้วยความรู้ใหม่ๆ จากการวิจัย จึงมีคำตอบใหม่ดังนี้
1. การผ่าตัดรังไข่สองข้างลดโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะอาจเกิดมะเร็งรังไข่ในช่องท้องได้อีกแม้จะมีโอกาสน้อย
2. การตัดมดลูกแม้ไม่ตัดรังไข่ก็สามารถลดการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ร้อยละ 34 เช่นเดียวกับการตัดท่อรังไข่สองข้าง ส่วนการทำหมันช่วยลดการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ร้อยละ 34 เช่นกัน
3. รังไข่เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย แม้หมดประจำเดือนไปแล้วตามธรรมชาติ รังไข่ก็ยังสร้างฮอร์โมนเพศหญิง (Estradiol Estrone) ฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone Androstenedione และ Dehydroepiandrosterone) ไปอีกหลายปี แม้ในที่สุดรังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิงถาวรตอนอายุประมาณ 65 ปี แต่จะยังคงสร้างฮอร์โมนเพศชายไปจนถึงอายุ 80 ปี
4. การตัดรังไข่สองข้างเพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัด เช่น เสียเลือดมากขึ้น ทำให้มีพังผืดหลังผ่าตัดมากขึ้น
5. การตัดรังไข่สองข้างส่งผลให้ฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชายลดระดับทันที แม้การตัดรังไข่สองข้างในอายุเฉลี่ยของคนหมดประจำเดือนคือ 51 ปี แต่อาการวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ เครียด หงุดหงิด ที่เกิดขึ้นมักจะรุนแรงกว่าการหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ
6. การจะตัดรังไข่ควรคำนึงถึงผลที่ได้รับและโทษที่เกิดดังนั้นการจะตัดรังไข่จึงต้องมีข้อบ่งชี้ เช่น ตัดรังไข่เมื่อเป็นโรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ฝีที่รังไข่ (Tubo-Ovarian Abscess) ปวดท้องเรื้อรังรุนแรงจากพังผืดที่รังไข่ เป็นต้น
7. สมองเสื่อม เป็นโรคสันนิบาต หรือโรคพาร์กินสัน (Parkinson) ทำให้หลงลืม มือสั่น พูดไม่ชัด จำชื่อคนหรือคำพูดไม่ได้ คนที่ผ่าตัดรังไข่สองข้างเมื่ออายุน้อยกว่า 48 ปี พบมากกว่าคนไม่ผ่าตัด 1.89 เท่า หากผู้หญิงเหล่านี้ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน โอกาสสมองเสื่อมจะลดลงเท่าคนไม่ผ่าตัด
8. กระดูกพรุน แม้ตัดรังไข่สองข้างในช่วงอายุที่หมดประจำเดือนไปแล้ว (อายุมากกว่า 51 ปี) ทำให้มีความเสี่ยงกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน 1.54 เท่า แต่ถ้าหากตัดรังไข่สองข้างในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือน ความเสี่ยงต่อกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนจะยิ่งเพิ่มขึ้น โดยบริเวณกระดูกแขนมีความเสี่ยง 1.4 เท่า และบริเวณกระดูกสันหลังมีความเสี่ยง 1.9 เท่า
9. เครียด วิตกกังวล มีงานวิจัยพบความสัมพันธ์ของการตัดรังไข่สองข้างกับความเครียด (ร้อยละ 11.7) และวิตกกังวล (ร้อยละ 7.3) เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ตัดรังไข่ แต่บางงานวิจัยไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้อง
10. ปัญหาเพศสัมพันธ์ เช่น ไม่มีความต้องการทางเพศ โลมเล้าไม่ได้ เจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถึงจุดสุดยอด พบมากกว่าคนไม่ตัดรังไข่สองเท่า แต่บางงานวิจัยก็ไม่พบความสัมพันธ์นี้
11. ต้อหิน หากตัดรังไข่สองข้างเมื่ออายุน้อยกว่า 43 ปี มีโอกาสที่จะเป็นต้อหิน 1.15 - 2.23 เท่า แม้ตัดรังไข่สองข้างเมื่ออายุมากกว่า 54 ปี ยังมีโอกาสที่จะเป็นต้อหินสูงกว่าคนไม่ตัดถึงร้อยละ 5
ข้อดีอื่น ๆ ของการตัดรังไข่สองข้าง แม้จะมีข้อเสีย แต่การตัดรังไข่สองข้างก็มีข้อดีคือ นอกจากลดการเกิดมะเร็งรังไข่แล้ว ยังลดการเกิดมะเร็งเต้านมและการผ่าตัดซ้ำจากปัญหารังไข่ที่เหลือไว้ ซึ่งพบร้อยละ 3 - 4
ตกลงว่าควรจะตัดรังไข่ออกสองข้างดีไหม มีข้อแนะนำดังนี้ค่ะ
- ควรผ่าตัดรังไข่ตามข้อบ่งชี้ เช่น เป็นโรคที่ต้องตัดรังไข่ หรือเมื่อมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านมโดยมีประวัติครอบครัวเป็นหรือตรวจพบยีน BRCA1 BRCA2
2. ในกรณีที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ไม่ควรผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง เพราะเพิ่มอัตราการตายโดยรวม กรณีที่อายุน้อยกว่า 45 ปี หากตัดรังไข่สองข้างควรพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทน
จากคำถามข้างต้น ขอชี้แจงว่า การตัดรังไข่สองข้างในคนอายุ 45 ปี เสี่ยงต่อการเกิดความจำเสื่อมและการเรียนรู้ช้าได้จริง แต่ไม่เป็นทุกคน หลังผ่าตัดจึงควรรับฮอร์โมนทดแทน แต่หากไม่ได้รับและกลัวสมองเสื่อม ควรดูแลร่างกายตามแนวทางชีวจิต ได้แก่ บริหารร่างกาย ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารมีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีฮอร์โมนธรรมชาติ เช่น น้ำเต้าหู้ถั่วเหลือง พืช ผัก ผลไม้ บริหารจิตใจ ลดความเครียดคิดบวก เป็นผู้ให้ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า บริหารสมองกระตือรือร้นและศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ บริหารสุขภาพดูแลสุขภาพ สังเกตอาการผิดปกติ
พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ
*** 94% ของผู้หญิงอายุระหว่าง 43 - 47 ปีที่ตัดรังไข่ทั้งสองข้าง จะมีอัตราการตายจากโรคต่าง ๆ สูงกว่าคนที่ไม่ตัดรังไข่ 1.13 เท่าข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยสุขภาพพยาบาล (Nurses’ Health Study)
จาก คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 412 (1 ธันวาคม 2558)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
ตัดมดลูก VS ตัดรังไข่ ตัดอันไหนแย่กว่า