โรคหน้าร้อน ยอดฮิต ของผู้สูงวัย

โรคหน้าร้อน ยอดฮิต ของผู้สูงวัย มีอะไรบ้าง และควรป้องกันอย่างไรดี

โรคหน้าร้อน ที่ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงป่วยมีอะไรบ้าง แล้วเราจะดูแลผู้ใหญ่ในบ้านให้ห่างจากโรคที่มากับสภาพอาการร้อนอบอ้าวอย่างไรดี วันนี้ เรามีคำตอบมาบอกค่ะ

นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และที่คำคัญคือ กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะหลายท่านมีสภาพร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรง ประกอบกับผู้ที่อยู่ในวัย 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว และโรคเรื้อรัง ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย

 

โรคหน้าร้อน ที่ผู้สูงอายุต้องระวัง

1.โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke)

เกิดจากการที่ผู้สูงอายุอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไป ส่งผลให้การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมองผิดปกติ ซึ่งสัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก คือ ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกันคือ ไม่ควรให้ผู้สูงอายุตากแดดในช่วงเที่ยงวัน หรือเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงบ่ายโมงไปถึง 4 โมงเย็น แต่หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสแดดควรใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดความร้อนในร่างกาย และควรจิบน้ำเปล่าให้บ่อยที่สุดในวันที่มีอากาศร้อนจัด สวมแว่นกันแดดและกางร่มก่อนออกจากบ้าน ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายอุณหภูมิความร้อนและป้องกันแสงแดดได้

2. โรคท้องเสีย

อากาศร้อนแบบนี้ เชื้อโรคต่างๆ จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาหารจะบูดเสียง่ายกว่าปกติ ซึ่งถ้ากินอาหารไม่สะอาด อาการท้องเสียจะตามมาได้ง่ายขึ้น วิธีป้องกัน คือ ควรยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อลดการติดเชื้อ และไม่กินอาหารที่ตั้งทิ้งไว้นานๆ

3.โรคผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานานๆ

ยิ่งปราศจากสิ่งป้องกัน จะยิ่งทำให้ผิวหนังของผู้สูงอายุเกิดอาการไหม้ เกรียม แสบ และแดงเป็นผื่นได้ จึงควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้แก่ผิวพรรณ และควรทาครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันรังสียูวีมากกว่า 50 PA+++ ทาลงบนผิวหน้าและผิวกายก่อนออกแดดประมาณ 20 นาที และควรทาซ้ำทุก 2- 4 ชั่วโมง เพื่อปกป้องผิวหนังจากแสงแดด

ดังนั้น ผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุควรใส่ใจในสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ด้วยการจัดสถานที่ให้อากาศถ่ายเทเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงความอับชื้น เพราะอาจเป็นแหล่งเชื้อโรคและทำให้ไม่สบายตัว หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ ระบบขับถ่าย นอกจากนี้ต้องดูแลสภาวะอารมณ์ของผู้สูงอายุ โดยการดูแลอย่างใจเย็น พูดคุยอย่างมีศิลปะ รวมถึงสร้างบรรยากาศให้แจ่มใสอยู่เสมอ

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.