บำบัดป่วยด้วย การอ่าน หนังสือ
การอ่าน เริ่มต้นที่สมอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน
“การอ่านหนังสือของคนเราต้องใช้สมองหลายๆ ส่วนประกอบกัน ไม่ใช่เฉพาะสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง หากสมองส่วนใดส่วนหนึ่งผิดปกติก็ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ได้เช่นกัน”
หนังสือจิตวิทยาการอ่านของศาสตราจารย์ ดร.ฉวีลักษณ์ บุณยะกาญจน ซึ่งมีข้อมูลของทฤษฎีสมรรถภาพสมองที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน ดังนี้
ทฤษฎีสมรรถภาพสมอง
นักจิตวิทยา ได้ศึกษาเรื่องการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการอ่านไว้หลายทฤษฎี และสรุปเหมือนกันว่า สมองเป็นส่วนสำคัญต่อการอ่าน และสมองต้องทำงานประสานกันหลายส่วนจึงทำให้เกิดการอ่านและแปลความหมายได้ ซึ่งสรุปเป็นกระบวนการได้ 2 ส่วน คือ
- กระบวนการทางกายภาพ ได้แก่ วิธีการใช้สายตาและการใช้มือประกอบกันเพื่อให้เกิดการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ
- กระบวนการทางสมองและระบบประสาทภายในร่างกายของคนเรา เพื่อส่งต่อในสิ่งที่ได้รับรู้เข้าไปบันทึกเก็บไว้ในเซลล์สมองให้มากที่สุด
สรุปโครงสร้างของสมองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการอ่าน
สมอง แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลาง และสมองส่วนหลัง โดยเริ่มต้นจาก
สมองส่วนหน้า (forebrain)
ซึ่งประกอบด้วยสมองหลายส่วน เช่น ซีรีบรัม ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็น เช่น ตัวหนังสือ วัตถุ สี ขนาด มีเซลล์ประสาทเฉพาะสำหรับรับแสงที่ตกลงบนจอภาพของตา (retina) ในแต่ละมุม นอกจากนี้สมองส่วนนี้ยังทำหน้าที่รับรู้ (perception) อย่างซับซ้อน ที่สำคัญคือ ทำหน้าที่เข้าใจความหมายของภาษาที่ได้ยินหรือที่ใช้พูดกัน รวมถึงการเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เราได้อ่านและลูบคลำ
สมองส่วนกลาง (midbrain)
เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างสมองส่วนหน้าและสมองส่วนหลัง นอกจากนี้บางส่วนของสมองจะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับประสาทตาและประสาทหูด้วย
สมองส่วนหลัง (hindbrain)
มีใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเป็นระบบ