รู้จักไหม หมอนรองกระดูกปลิ้น ใครเสี่ยงเป็นบ้าง ต้องอ่าน!

มารู้จักกับ หมอนรองกระดูกปลิ้น กันเถอะ

จริงๆแล้ว หมอนรองกระดูกปลิ้น นี้เรียกกันไปหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ,เคลื่อน, เสื่อม, ทับเส้น ทั้งหมดทุกชื่อ ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อเรียกอาการเดียวกันทั้งสิ้น ความสำคัญของโรคนี้ คือ มันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งจากความเสื่อมและจากกิจกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดหลังและสะโพกร้าวลงขาอีกด้วย

อะไรคือ หมอนรองกระดูกปลิ้น

ระหว่างข้อต่อกระดูกสันหลังจะมีตัวหมอนรองกระดูกอยู่ ซึ่งในนั้นประกอบไปด้วยส่วนตรงกลาง เรียกว่านิวเคลียส และเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบๆ ตัวมันอยู่ เมื่อมีแรงกระทำต่อหมอนรองกระดูกที่เสื่อม อาจทำให้หมอนรองกระดูกเกิดมีการขยับหรือว่าปลิ้นไปทางด้านหลัง กดโดนเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ หมอนรองกระดูกโดยปกติทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายและเป็นตัวให้ความยืดหยุ่น ในขณะที่มีการก้มเงย บิดตัว ของตัวกระดูกสันหลัง

หมอนรองกระดูกปลิ้น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ลักษณะของหมอนรองกระดูก ที่ปลิ้นออกมา และไปกดทับเส้นประสาท ที่อยู่ด้านหลัง

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของมันค่อนข้างมีความสำคัญและมันต้องทำงานทุกวันแบบไม่มีเวลาพักนั่นเอง พอมันทำงานทุกวัน ก็เลยเกิดความเสื่อมขึ้น ประจวบกับกิจกรรมเสี่ยงที่ทำอยู่ ทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นได้ในที่สุด

ปลิ้นออกมาได้อย่างไร

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการปลิ้น หรือเสื่อมนี้ เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ยืน เดิน นั่ง หรือนวด ที่ผิดท่า ผิดหลักกายภาพ ทำให้เกิดการลงน้ำหนักผิดที่ หรือแม้กระทั้ง การไอ การจากที่รุนแรง ก็ส่งผลให้เกิดการปลิ้นออกมาได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยง

  1. การนั่งผิดท่า เช่น นั่งตัวไหล นั่งลงน้ำหนักที่ข้างใดข้างหนึ่งเป็นเวลานาน จะทำให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักแทนกล้ามเนื้อก้น (ทั้งที่กระดูกสันหลังไม่มีหน้าที่ และความไม่มีความพร้อมที่จะรับน้ำหนักเหล่านี้เลย) จึงทำให้เกิดการกดทับหมอนรองกระดูก จนปลิ้นออกไปทับเส้นประสาท
  2. ไอ จาม แรงๆ ทำให้เกิดแรงดันในหมอนรองกระดูกอย่างฉันพลัน จนเกิดการปลิ้นออกมาได้
  3. กิจกรรมที่ต้อง ยก, ก้ม, เอี้ยว, หมุนเอวหรือหลัง ล้วนแต่ทำให้หมอนรองกระดูกต้องทำงานหนักทั้งนั้น หากหมอนรองรับน้ำหนักไม่ไหว ก็จะเคลื่อนหรือปลิ้นได้
  4. น้ำหนักตัวที่มาก เพิ่มโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกหลังปลิ้น ตรงไปตรงมา
  5. อาชีพเสี่ยง ได้แก่ อาชีพต้องก้ม, ยก, แบก ดัน หรือบิดตัวล้วนทำให้เกิดแรงกระทำที่หมอนรองกระดูกหลังทั้งสิ้น
  6. บุหรี่ นั้นทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกลดลง ทำให้มันอ่อนแอลง
  7. กรรมพันธุ์ มีส่วนเพิ่มความเสี่ยง

กลุ่มเสี่ยงหมอนรองกระดูกปลิ้น

แม้จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง แต่ก็มีกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงมากกว่าปกติ คือ

  • พบมากในวัย 21 – 50 ปี
  • พบในผู้ชาย มากกว่าผู้หญิง

อาการเป็นอย่างไร

เป็นโรคที่แสดงอาการได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงแค่ปวดหลังเท่านั้น แต่ในบางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจจาระได้

อาการที่มักเกิดขึ้น

  • ปวดหลัง ปวดเอว เป็นๆ หายๆ
  • ปวดร้าวลงขา เท้า
  • ปวดชาที่ขา เหมือนเป็นตะคริว
  • อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อาจมีปัญหาในการควบคุมขับถ่าย
ปัจจัยทำปวดหลัง ปวดหลัง หมอนรองกระดูกปลิ้น

การรักษา และป้องกัน

การรักษาก็ทำได้หลายอย่างเช่นเดียวกัน เป็นน้อยก็รับประทานยาธรรมดา แต่หากเป็นมากขึ้น อาจต้องฉีดยาพิเศษเฉพาะจุดหรือหากมีการกดทับเส้นประสาทมาก อาจถึงขั้นต้องผ่าตัดเลยทีเดียว

สำหรับการป้องกัน

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นท่าให้ถูกท่า เปลี่ยนอิริยาบถทุกชั่วโมง
  • ออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และหมั่นยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ
  • ทำกายภาพบำบัด พบว่า 80% มีอาการดีขึ้น

นอกจากนั้นข้อสำคัญของผู้ที่มีอาการคือ จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ห้ามฝืน หรือคิดว่าตนเองทำได้ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง จนถึงขั้นเป็นอัมพฤก อัมพาตได้โดยไม่รู้ตัว

นั่งแบบไหน ป้องกัน หมอนรองกระดูกปลิ้น

อย่างที่บอกว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา หมอนรองกระดูกปลิ้น หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือการนั่งผิดหลักกายภาพ ทิ้งน้ำหนักไปที่กระดูกสันหลัง แทนที่จะเป็นกล้ามเนื้อต้น ดังนั้นการเปลี่ยนท่านั่งจึงเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับท่านั่งเพื่อแก้ปัญหานี้ คือ

  1. นั่งตัวตรง ชิดพนักพิงเก้าอี้
  2. เลือกเก้าปี้ที่พนักพิงรองรับหลังส่วนล่าง หรือใช้หมอนเล็กๆ วางเพื่อให้ส่วนโค้งของหลังมีที่รองรับ
  3. ลงน้ำหนักที่กล้ามเนื้อก้นเท่าๆ กัน ไม่นั่งเอียงไปด้านใด ด้านหนึ่ง
  4. เท้าต้องวางแนบกับพื้น หรือหากเก้าอี้สูง ให้หาเก้าอี้เตี้ยๆ มารองเท้า
  5. เปลี่ยนอิริยาบถ ทุกๆ 1 ชั่วโมง

ที่มา

  • แผนกออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
  • โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

10 เคล็ด(ไม่)ลับ ” เดิน ” ให้ข้อ เข่า กระดูกสันหลังแข็งแรง

ไม่อยากกระดูกพรุนต้องกิน! อาหารบำรุงกระดูก

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.