โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ความเศร้าที่มาตามช่วงเวลา
เข้าสู่หน้าหนาว ใครๆ ก็นึกถึงช่วงเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัว การไปเที่ยวรับลมหนาว รวมถึงวันหยุดยาวๆ ส่งท้ายไป แต่ใครจะไปรู้ว่า มันก็เป็นฤดูกาลที่มาพร้อมกับโรคภัยอื่นนอกจากไข้หวัดได้เหมือนกัน นั่นก็คือ โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เป็นลักษณะของรูปแบบความผิดปกติทางร่างกายที่เกิดจากฤดูกาลที่เปลี่ยนไป หรือ seasonal affective disorder (SAD) วันนี้เราจึงนำคำอธิบายและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตมาบอกเล่าให้ฟังค่ะ
โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในทางเทคนิค โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลนั้นรับรู้ในชื่อ major depressive disorder (MDD) หรือเอาง่าย ๆ ก็คือ โรคซึมเศร้า ที่มาพร้อมกับเงื่อนไขทางฤดูกาล คือ อาการของโรคจะแสดงชัดในช่วงเวลาจำเพาะเจาะจงของปี (และไม่ได้จำกัดแค่ช่วงฤดูหนาว) สิ่งหนึ่งที่ทำให้โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลแตกต่างจากโรคซึมเศร้าปกติ คือจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันทุกปี ติดต่อกันเกิน 2 ปีขึ้นไป
นายแพทย์เจมส์ เมอร์โรฟ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านจิตเวชศาสตร์ ที่โรงพยาบาล เมาท์ ซิเน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ลงในนิตยสาร Health ว่า ” ความผิดปกติทางร่างกายที่เกิดจากฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ความผิดปกติที่แยกขาดจากโรคซึมเศร้า แต่ถูกจัดให้เป็นความผิดปกติที่แยกย่อยลงมาจากโรคซึมเศร้า” ดังนั้นเราจึงมีลักษณะอาการที่อยากจะชวนคุณผู้อ่านมาสังเกตตัวเอง ว่าในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปีหรือไม่
คุณรู้สึกเศร้าสร้อย และไร้พลังงาน
เมื่อฤดูกาลแห่งความซึมเศร้ามาถึง คุณมีแนวโน้มรู้สึกในแง่ลบอยู่บ่อยๆ และยังเหงาเศร้า ไม่อยากทำอะไร มองออกไปเหมือนจะมีฟิลเตอร์สีหม่นๆ มาทำให้รู้สึกไม่สดใส ไม่ร่าเริง
ไม่หิว หรือหิวตลอดเวลา
อาการหลักๆ ของภาวะซึมเศร้าที่พบได้บ่อยคือความเปลี่ยนแปลงด้านความอยากอาหาร คุณมักรู้สึกไม่อยากกินอะไร ทั้งๆ ที่ปกติเป็นคนเจริญอาหาร หรือคุณอาจรู้สึกอยากกินตลอดเวลาทั้งๆ ที่ปกติควบคุมความอยากได้
รู้สึกสิ้นหวัง อยากฆ่าตัวตาย
อาการในขั้นนี้จะอยู่ในระดับที่รุนแรงขึ้นมาจากอาการก่อนหน้า คุณมีความรู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า ไร้ซึ่งสิ่งกระตุ้นที่สนใจหรืออยากสนุกไปกับมัน
การดูแลรักษา เมื่อซึมเศร้าตามฤดูกาลถามหา
หากอาการไม่ได้รุนแรง สามารถรับประทานวิตามินดีเสริมในช่วงฤดูหนาว หรือช่วงฤดูที่มักมีอาการซึมเศร้า เช่น ไข่ ปลาทูน่า เห็ด หรืออาหารเสริม และปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อรู้สึกว่าอาการส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
(อ้างอิง : Health.com)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
“ซึมเศร้า” โรคที่หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการและพฤติกรรมของผู้ป่วย!!