ศาสตร์ทางเลือก แก้อาการปัสสาวะเล็ดผู้สูงวัย
ภาวะกลั้นปัสสาวะ ไม่ได้ หรือ อาการปัสสาวะเล็ด ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งในผู้สูงอายุ เพราะนอกจากพบได้บ่อยแล้วยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งในแง่ของสุขภาพกายเช่น ปัสสาวะที่ราดออกมา จะทำ ให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เพิ่มอุบัติการณ์ในการหกล้ม เป็นต้น
ส่วนในแง่ของสุขภาพจิต พบว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะดังกล่าวจะรู้สึกว่าตนเองไม่ปกติมีภาวะซึมเศร้า อายที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และไม่ยอมเดินทางออกนอกบ้าน
อย่างไรก็ตาม แม้อาการ “ปัสสาวะเล็ด” จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ก็สร้างความลำบากต่อการใช้ชีวิตไม่น้อย
ข้อมูลจากหนังสือ “ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุ ของสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ จำแนกอาการปัสสาวะเล็ดและปัสสาวะราดไว้ 3 กลุ่ม คือ
1.เกิดปัสสาวะเล็ดออกมาเมื่อมีความดันช่องท้องเพิ่มขึ้น เกิดจากการไอ จาม หรือหัวเราะ ซึ่งทำให้เกิดความดันที่สูงขึ้นภายในกระเพาะปัสสาวะจนเอาชนะความดันของหูรูด(Stress Incontinence) ทำให้ปัสสาวะเล็ดออกมา
2.กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป พบได้ในผู้หญิงที่คลอดบุตรหลายคน เกิดจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยและเร็วกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ (มากกว่าวันละ 8 ครั้ง)
3.เกิดจากกระเพาะปัสสาวะมีปัสสาวะค้างมากเกินความจุของกระเพาะปัสสาวะ หรือภาวะปัสสาวะล้น ทำให้กระเพาะปัสสาวะถูกยืดตัวออกจนแบน หมดกำลังบีบปัสสาวะที่ขังอยู่ จึงเกิดปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออก ปัสสาวะจึงล้นไหลออกมาเป็นหยดตลอดเวลา พบในผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต เบาหวาน หรือการได้รับยาบางชนิด
ส่วนวิธีการรักษาอาการปัสสาวะเล็ดนั้นก็มีหลายวิธี
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิพร ศรีนวลนัด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า การรักษามีหลายวิธี ตั้งแต่การรักษาโดยใช้ยา การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า การผ่าตัดขยายกระเพาะปัสสาวะ และการรักษาเชิงพฤติกรรม การรักษาเชิงพฤติกรรมเป็นวิธีรักษาที่ง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อย และไม่มีผลข้างเคียง แต่ต้องอาศัยความอดทน จึงจะทำให้อาการดีขึ้น
การรักษาเชิงพฤติกรรมตามหลักแพทย์แผนปัจจุบัน
คุณหมอสิทธิพรแนะนำการรักษาเชิงพฤติกรรม ดังนี้
1.ฝึกด้วยวิธีฟาสต์ทวิตซ์ (Fast Twitch) โดยการขมิบก้นและช่องคลอดอย่างเร็ว ทำ 10 ครั้งติดต่อกัน ครั้งที่ 11 ให้ขมิบและค้างไว้ประมาณ 10 วินาที นับเป็น 1 รอบ ทำวันละ 20-30 รอบก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น
2.ฝึกกลั้นปัสสาวะ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่เหนือการควบคุมจิตใจ จึงต้องอาศัยการฝึกพิเศษ วิธีคือ เมื่อรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ ให้พยายามกลั้นไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วจึงไปเข้าห้องน้ำ และเมื่อถ่ายปัสสาวะแล้วให้สังเกตปริมาณปัสสาวะ ถ้ามีปริมาณ 300-500 ซีซี (ประมาณ 2-3 ถ้วยกาแฟ) ถือว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสม แต่ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้ การฝึกจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิทย์ วิเศษสินธุ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า
3.ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม เพราะความอ้วนจะทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง ยิ่งทำให้อาการปัสสาวะเล็ดกำเริบมากขึ้น
4.ระวังไม่ให้ท้องผูก เพราะอาการท้องผูกจะทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องเวลาที่พยายามจะเบ่งเพื่อขับถ่าย ซึ่งจะเป็นผลเสียต่ออาการปัสสาวะเล็ด
ฝึกโยคะบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ด
การฝึกโยคะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้อาการปัสสาวะเล็ดได้ โดยคุณชมชื่น สิทธิเวช หรือครูหนู กูรูด้านการเล่นโยคะ อธิบายว่า การฝึกโยคะเพื่อแก้อาการกลั้นปัสสาวะเล็ดจะอยู่ในอาสนะที่เกี่ยวกับการออกกำลังอุ้งเชิงกรานทั้งหมด มีหลายท่า เช่น ท่างู ท่านี้จะทำให้ไตดีขึ้น และช่วยให้ระบบกระเพาะปัสสาวะดีตามไปด้วย
ท่าตั๊กแตน ท่านี้จะช่วยแก้ปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ และขอแนะนำให้ขมิบช่องคลอดระหว่างทำด้วย ท่าทะพาน ก็เป็นอีกท่าที่แนะนำให้ผู้มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ทำ
ส่วนข้อควรระวังในการฝึกโยคะ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ครูหนูแนะนำว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมความดัน แนะนำว่าต้องทำด้วยความระมัดระวังค่อยๆ ทำ โดยเฉพาะท่าตั๊กแตน ต้องค่อยๆ ยกขา เพราะจะยิ่งทำให้เลือดสูบฉีดมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้น
ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีนักแนะนำให้ฝึกท่า อัศวินทุทระ คือ การนอนราบไปกับพื้นแล้วขมิบช่องคลอดให้ลึกถึงปากทวารหนัก ทำบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วิทย์ วิเศษสินธุ์ กล่าวอีกว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า อาการปัสสาวะเล็ดไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต หรือทำให้เกิดปัญหาด้านร่างกายอื่นๆ เพียงแต่จะทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตลำบากขึ้น แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเราสามารถดูแลรักษาได้
สมุนไพรบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ด
ศาสตร์ทางเลือกอีกแขนงหนึ่งที่ช่วยแก้อาการปัสสาวะเล็ดที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคือ สมุนไพรไทย
หมอบุญยืน ผ่องแผ้ว แพทย์แผนไทยประจำคลินิกหนองบงการแพทย์แผนไทย แนะนำสูตรสมุนไพรแก้อาการปัสสาวะเล็ด ดังนี้
สูตรที่ 1: ตัวยาสมุนไพร ทองพันชั่งต้นสดหนัก 5 บาท (สมุนไพรหนัก 1 บาท มีน้ำหนักเท่ากับ 15 กรัม) น้ำสะอาด 1 ลิตร
วิธีทำ: ล้างต้นทองพันชั่งให้สะอาด สับเป็นท่อนเล็กๆ ต้มกับน้ำสะอาดให้เดือดจัด กรองเอาแต่น้ำ
วิธีกิน: ดื่มก่อนอาหารเช้า- เย็น ดื่มติดต่อกันจนกว่าอาการจะดีขึ้น
สูตรที่2: ตัวยาสมุนไพร แก่นแสมสาร แก่นขี้เหล็ก เถาวัลย์เปรียง แก่นปรู๋ แก่นฝางเสน หนักอย่างละ 5 บาท น้ำสะอาด 2 ลิตร
วิธีทำ: ต้มสมุนไพรทั้งหมดกับน้ำสะอาด เคี่ยวให้เดือดกรองเอาแต่น้ำ
วิธีกิน: ดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น ดื่มติดต่อกันจนกว่าอาการจะดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีศาสตร์ทางเลือกอื่นๆ ที่ช่วยบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออาการปัสสาวะเล็ด เช่น การรำกระบอง โดยเฉพาะในท่าแถม ซึ่งจะช่วยบริหารอุ้งเชิงกราน ระบบสืบพันธ์ และระบบขับถ่าย
ลองไปทำดูนะคะ บางศาสตร์ไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความอดทน สุขภาพดีสร้างได้ด้วยตัวเองค่ะ
ที่มา: นิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 277
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ