มะเร็งกระเพาะอาหาร สาเหตุ พัคจีฮุน เสียชีวิต
นับเป็นข่าวเศร้าของวงการบันเทิงเกาหลี ครอบครัวของนักแสดงหนุ่ม ” พัคจีฮุน ” ได้เผยข่าวเศร้าผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวของนักแสดงหนุ่มว่า เขาได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา
นักแสดงดาวรุ่งจากไปในวัยเพียง 31 ปี
หลังจากที่แฟนคลับได้ทราบข่าวต่างเข้ามาแสดงความเสียใจต่อการจากไปของนักแสดงหนุ่มเป็นจำนวนมาก สำหรับ “พัคจีฮุน” เกิดเมื่อปี 1989 เข้าวงการจากการเป็นนายแบบก่อนจะผันตัวมารับงานแสดง มีผลงานในซีรีส์ Chicago Typewriter ทางช่อง tvN โดยซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวของนักเขียนสามคนที่อาศัยอยู่ในช่วงการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงปี 1930
รู้จักมะเร็งกระเพาะอาหาร ภัยร้ายที่อันตรายกว่าที่คิด
ถ้าพูดถึงโรคกระเพาะอาหารหลายๆคนคงคิดว่าแค่กินยาสักอาทิตย์ หรือปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเช่น งดอาหารบางอย่างหรือ กินอาหารให้ตรงเวลาก็จะทำให้อาการต่างๆหายไป แต่ถ้าพูดถึงมะเร็งความคิดหรือความกังวลก็จะเกิดขึ้นมาทันทีแตกต่างจากการคิดถึงโรคกระเพาะทั่วๆไป ในความเป็นจริงมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทยนั้นพบได้ไม่มากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ปกติมะเร็งกระเพาะอาหารแบ่งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งเยื่อบุผิวกระเพาะ มะเร็งจีส เป็นต้น หากกล่าวขึ้นทั่วๆไปมักหมายถึงมะเร็งเยื่อบุกระเพาะอาหาร หลายคนคิดว่าถ้ามะเร็งก็คงรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมีจะแต่ในความจริงนั้นพบว่าค่อนข้างมีความยากลำบากในการรักษา เพราะไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งชนิดไหนหรือจะรักษาด้วยวิธีใดๆก็ตามสิ่งแรกที่จะมีผลต่อการรักษาก็คือความแข็งแรงของผู้ป่วยว่า มีความแข็งแรงมากพอที่จะทนต่อการรักษารูปแบบต่างๆจนครบตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ซึ่งกระเพาะเป็นอวัยวะที่รองรับอาหารอวัยวะแรกของร่างกายที่ย่อยอาหารส่งพลังงานไปยังส่วนต่างๆ นั่นก็คือถ้ากระเพาะเสียไปไม่สามารถทำงานได้ผู้ป่วยก็จะขาดอาหารทำให้ไม่สามารถทนกับการรักษาแบบต่างๆ ได้จนครบและทำให้ผลการรักษาแย่ลง นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนมากที่มาตรวจก็มักจะมาพบแพทย์ในตอนที่ตนเองมีอาการเยอะมากแล้ว นั่นคือ กินไม่ได้มีอาเจียนหลังกิน เป็นต้น
มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจาก…
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการอักเสบของกระเพาะอาหารแล้วเรื้อรังจนเยื่อบุกระเพาะกลายเป็นมะเร็งซึ่งกระบวนการนี้จะมีเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Helicobacter pylori (H. Pylori, เอชไพโลไร) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้กระบวนการอักเสบไม่หายและนำไปสู่การเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้นการรักษาการอักเสบรื้อรังร่วมกับกำจัดเชื้อโรคตัวนี้จึงอาจมีผลป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีอาหารบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังได้ และพบว่าอาหารบางชนิดเช่น อาหารที่ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยเกลือ หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าอาหารที่ดองเกลือ อาหารที่ผ่านการรมควัน เป็นต้นก็อาจจะเป็นตัวการที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ กลไกการเกิดอีกแบบคือเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมตั้งแต่กำเนิดแล้วทำให้กระบวนการเกิดมะเร็งเกิดได้เร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งแม้ว่าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะป้องกันได้แต่เราก็สามารถจะเฝ้าระวังได้ มะเร็งกระเพาะอาหารจะพัฒนาและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญการตอบสนองต่อยาเคมีไม่ค่อยดีซึ่งถ้าตรวจพบผู้ป่วยในระยะท้ายๆผู้ป่วยอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนักแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ถ้าหากตรวจพบในระยะแรกการรักษาก็สามารถหวังผลให้หายขาดได้
ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศที่พบมะเร็งกระเพาะอาหารมากจะแนะนำให้ประชาชนทุกคนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปไม่ว่าคนนั้นจะมีหรือไม่มีอาการทางกระเพาะอาหารก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้พบมะเร็งชนิดนี้มากนักและผู้ป่วยส่วนมากมาตรวจตอนที่มีอาการแล้วซึ่งมักจะไม่ใช่ระยะแรกทำให้ผลการรักษาไม่ดี ซึ่งโดยทั่วไปการตรวจทางเดินอาหารมักจะตรวจแค่เพื่อรักษาอาการของโรคแผลในกระเพาะเป็นหลักไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญของการคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร
ดังนั้นนอกเหนือจากข้อบ่งชี้ของการตรวจกระเพาะอาหารที่เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางตามสื่อต่างๆ ทั่วไปแล้วสิ่งที่มักจะถูกมองข้ามคือ ต้องทำการตรวจในรายที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารดังนี้ คือ
- มีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนเป็นตอนอายุน้อยกว่า 40 ปี
- มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองอย่างน้อย 2 คน เป็นตอนอายุน้อยกว่า 50 ปี
- มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองเป็น อย่างน้อย 3 คนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม
- มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองเป็น มะเร็งเต้านมและกระเพาะอาหารในคนเดียวกันตอนอายุน้อยกว่า 50 ปี
- มีญาติสายตรงมะเร็งกระเพาะอาหาร และมีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรอง คนอื่นเป็นมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยกว่า 50ปี
- นอกจากนี้ยังรวมถึงคนที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติของพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารรวมถึงมะเร็งอื่นๆด้วย
การไม่ประมาทและสังเกตร่างกาย สังเกตคนในครอบครัว เมื่อมีความผิดปกติ รีบไปพบแพทย์ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันโรคลุกลามร้ายแรงได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บทความสุขภาพ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (โดย ผศ.นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
และ AMARIN TV
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ชวนทำความรู้จัก ที่มาของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
แนะนำ อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ระหว่างรับการรักษา ควรกินอะไรบ้าง