อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ระหว่างการบำบัด
ผู้ป่วยมะเร็ง มักประสบปัญหาทางทางโภชนาการ วันนี้เราจึงมีคำแนะนำด้าน อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ระหว่างบำบัดรักษา จากหนังสือ กินเป็น มะเร็งขยาด โดย ผศ. ดร. ทพญ. ดุลญพร ตราชูธรรม สำนักพิมพ์ AMARIN Health มาฝากค่ะ
สำหรับผู้ป่วยระหว่างรับรังสีรักษา
ผู้ป่วยมักประสบปัญหาทางโภชณาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก คอหอย และหลังโพรงจมูกที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ ซึ่งมักประสบปัญหาเคี้ยวลำบาก กลืนลำบาก และปากแห้ง มีแนวปฏิบัติด้านโภชณาการดังนี้
1.เลือกอาหารที่เหมาะสม ได้แก่ มีเนื้อสัมผัสนิ่ม กลืนง่าย หรือละลายได้ในปาก มีน้ำมาก มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เป็นเม็ดหรือผงเสี่ยงต่อการสำลัก
2.จัดอาหารตามลำดับความสามารถในการกลืนของผู้ป่วย เริ่มจากเมื่อเริ่มเคี้ยว กลืนลำบาก ก็เปลี่ยนจากอาหารปกติ เป็นอาหารอ่อน เช่น เปลี่ยนจากข้าวสวย เป็นข้าวต้มหรือโจ๊ก ต่อมาเมื่อเคี้ยว กลืนลำบากมากขึ้น ก็ขยับมาเป็นอาหารที่มีเนื้อสัมผัสนิ่ม มีน้ำมาก มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว ได้แก่ ไข่ตุ๋น เต้าหู้หลอด เจลลี่โภชนา ซึ่งทั้งหมดนี้ยังใช้ช้อนตักรับประทานได้โดยไม่หก
หลังจากนั้นเมื่อกลืนลำบากมากแล้ว ก็อาจให้รับประทานโยเกิร์ตชนิดครีมซึ่งมีลักษณะเหมือนของเหลวข้นหนืด จนกระทั่งกลืนไม่ไหวแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารปั่น ซึ่งทำโดยนำอาหารหลายๆชนิดมาปั่นรวมกันให้เหลวเหมือนซุป
3.ควรจัดอาหารให้มีผักและผลไม้เนื้อนิ่มด้วย ตัวอย่างผักที่เนื้อสัมผัสนิ่ม เช่น ฟักทองต้ม ปวยเล้งลวก ผลไม้เนื้อนิ่ม ผลไม้เนื้อนิ่ม เช่น มะละกอสุก มะม่วงสุก แตงโม กีวี แก้วมังกร ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน รวมทั้งใยอาหารจากผักผลไม้จะช่วยลดปัญหาท้องผูก เนื่องจากระหว่างรับรังสีรักษา ผู้ป่วยมะเร็งมักมีอาการอ่อนเพลีย จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนอน ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย
นอกจากนี้ รังสีรักษายังทำปฏิกิริยากับน้ำในร่างกาย ผู้ป่วยจึงมักสูญเสียน้ำ จึงพบปัญหาท้องผูกได้บ่อย
สำหรับผู้ป่วยระหว่างรับเคมีบำบัด
ผู้ป่วยมักประสบปัญหาระดับโปรตีนในเลือดต่ำ จึงต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้น ไข่ขาวเป็นแหล่งของโปรตีนอัลบูมินที่จัดว่าเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี มีกรดแอมิโนครบถ้วน นอกจากนี้เคมีบำบัดบางชนิด เช่น Cisplatin จะทำให้เกิดเยื่อบุช่องปากอักเสบ มีอาการแสบร้อนในปาก ผู้ป่วยจึงต้องอมของเย็นๆ เช่น น้ำแข็ง หรือรับประทานไอศกรีม เพื่อลดอักเสบและลดอาการปวด
นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ ซึ่งมีงานวิจัยว่า น้ำขิง และผลไม้ที่มีน้ำและกากใยมาก เช่น แอ๊ปเปิ้ล สาลี่ แตงโม อาจช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้ อีกทั้งผู้ป่วยอากมีอาการโลหิตจางได้ง่าย จึงต้องรับประทานอาหารให้ได้ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และโฟเลตอย่างเพียงพอ ได้แก่อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ตับ และผักใบเขียว เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด
กรณีผ่าตัดกระเพาะหรือลำไส้ ประสิทธิภาพในการย่อยและดูดซึมจะด้อยลง ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและมีโปรตีนสูง ได้แก่ ปลา เต้าหู้ และไข่ หากเป็นการผ่าตัดมะเร็งในช่องปากหรือคอหอย ทำให้กลืนอาหารลำบาก ควรเริ่มฝึกกลืนของนิ่มๆ ที่กลืนง่ายที่สุด แล้วค่อยๆ เพิ่มความยากตามลำดับ เริ่มจากอาหารปั่น ซึ่งกลืนง่ายที่สุด ตามมาด้วยโยเกิร์ตชนิดครีม เจลลี่โภชนา เต้าหู้หลอด ไข่ตุ๋น และโจ๊กในที่สุด
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
กฎ 9 ข้อ วิธีกินอาหารป้องกันโรคมะเร็ง
5 อาหารก่อมะเร็ง ที่ควรเลิกกินได้แล้ว (ถ้าทำได้)