ลำไส้แปรปรวน

ชวนดูแล ป้องกัน รักษา ลำไส้แปรปรวน ฉบับแพทย์แผนไทย

รวมวิธีดูแลป้องกัน ลำไส้แปรปรวน ฉบับแพทย์แผนไทย

ลำไส้แปรปรวน เป็นโรคที่พบได้ง่ายในปัจจุบัน วันนี้จึงอยากจะมาแนะนำทุกคนมาทำความรู้จักวิธีการดูแลป้องกันลำไส้แปรปรวนด้วยแพทย์แผนไทย เพื่อสามารถดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืน

ลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่พบได้ง่ายในยุคปัจจุบัน น่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนไปของสังคมโลกที่ต้องการความรวดเร็วในการใช้ชีวิตประจำวัน รีบหา รีบกิน รีบใช้ รีบไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นกับระบบท้องหรือสถานที่ตั้งของอาหารในร่างกายที่เขาจำเป็นต้องรีบตามเราไปด้วย วันไหนท้องไส้อารมณ์ดีก็ปรับตัวตามเราทันไม่สร้างปัญหาใด วันไหนท้องไส้อารมณ์ไม่ดี เราก็ต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดมวนท้อง ปวดถ่าย ถ่ายไม่หมด ลมมาก แถมอาการข้างเคียงด้านอารณ์ วิตกกังวลหวาดหวั่น ไม่มีความมั่นใจ หลับไม่ได้  ที่หนักไม่แพ้อาการทางร่างกายเลย คนไข้บางท่านเป็น 10 – 20 ปีจนเบื่อเหลือทนจะไปเที่ยว เดินทางขึ้นรถ ลงเรือ ขึ้นเครื่องบิน ที่ไหนดูยากเย็นไปเสียหมด

การแก้ไขโรคลำไส้แปรปรวนในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่เพียงดูเข้าไปภายในลำไส้ ว่ามีอาการอักเสบภายในหรือไม่ เป็นแผลตรงจุดใด ติดเชื้อจากเชื้อโรคชนิดใด เราควรเข้าใจถึงสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนซึ่งมันค่อยๆ ก่อกำเนิดมาวันละน้อยโดยที่เราไม่ได้ใส่ใจมากนัก เช่น อาหารตกค้างที่มากขึ้นทุกวัน ลักษณะของจุลินทรีย์ที่เปลี่ยนไป ลักษณะของอุจจาระที่เปลี่ยนไป  ผื่นคันตามผิวหนัง  แม้กระทั่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ทางลมหายใจและกลิ่นช่วงล่างของสุภาพสตรี ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาภายในลำไส้ของเรานั่นเอง

ลำไส้แปรปรวน

ลำไส้ของเราแบ่งออกเป็นลำไส้เล็กยาว 7.50 เมตร ลำไส้ใหญ่ยาว 1.50 เมตร รวมความยาวทั้งหมดแล้วยาวถึง 9 เมตร ประมาณตึกสามชั้นเท่านั้นเอง สิ่งที่น่าสนใจคือ ขนาดยาวกว่าลำตัวเกือบ5 เท่า ผนังด้านในของลำไส้เล็กมีตุ่มเล็ก ๆ มากมายเรียกว่า ” วิลไล ” โดยมีหน้าที่ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการสัมผัสดูดซึมสารอาหาร มาหล่อเลี้ยงชีวิตและมีช่องว่างขนาดพอเหมาะระหว่างวิลไล ให้จุลินทรีย์ที่ดีเติบโตเพิ่มปริมาณ

เมื่อมีข้อดีจะขาดข้อเสียไปไม่ได้ ลำไส้สามารถดูดซึมสารพิษเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและกระแสเลือด เกิดอาการอาหารเป็นพิษอาการไม่สบายเนื้อตัว อาการคัน โรดผิวหนังต่างๆ ส่วนลำไส้ใหญ่ของเราก็ช่างน่าอัศจรรย์ เป็นที่หมักหมมของสิ่งปฏิกูลน่ารังเกียจ แต่มันคือบ้านต้นกำเนิดของจุลินทรีย์ที่ดี ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันอันชาญฉลาด มีระบบเรียนรู้ปรับตัวไปตามอาหารที่เราชอบกินสารอาหารที่ดี รวมถึงทำให้เราอารมณ์ดี นึกไปถึงสัญลักษณ์ หยิน – หยาง

อาการทางกาย ของลำไส้แปรปรวน

ปวดมวนท้อง มีแก๊สมาก

ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนจะมีอาการปวดมวนท้องอยู่เป็นประจำ ไม่ระบุเวลาว่าเป็นตอนใด เข้าห้องน้ำบ่อย ๆ บางครั้งถ่ายได้ตามปกติ หลายครั้งเข้าไปแล้วนั่งอยู่เฉย ๆ แม้แค่ผายลมออกมายังไม่มี เกิดลม (แก๊ส) ในช่องท้องได้ง่ายกว่าปกติ

คำแนะนำ เมื่อได้เรอหรือผายลมจะรู้สึกสบายท้อง โล่งขึ้นมาสักหน่อย

อึดอัดช่องท้อง หายใจยากขึ้น

เมื่อลมมากจึงรู้สึกอึดอัด ลำไส้ไม่ค่อยขยับตัว ถ่ายได้ไม่หมด บางท่านจุกแน่นมาถึงท้องด้านบน หายใจได้ลำบาก เพราะลำไส้พองตัวดันกับกะบังลม ทำให้ปอดขยายได้ยาก ต้องหายใจแรงขึ้น รู้สึกอ่อนเพลีย หมดแรงเหนื่อยกับการหายใจ

ในมุมมองของการแพทย์แผนไทยโบราณ เรียกโรคลำไส้แปรปรวนว่าโรคกษัย ซึ่งมีทั้งหมด 26 จำพวก เป็นอาการเกี่ยวกับช่องอก การหายใจปัญหาช่องท้อง พยาธิ ไปจนถึงท้องช่วงล่าง เช่น ไส้เลื่อน แบ่งละเอียดไปถึงอาการทางกายและทางใจ

หมายความว่า โรคลำไส้แปรปรวนเป็นภาพใหญ่สามารถแบ่งย่อยอาการออกเป็นชนิดต่างๆ ของโรคกษัยได้ เช่น กษัยจุก กษัยล้น กษัยปู กษัยเสียด กษัยเชือก กษัยลม และอื่นๆ วิธีรักษารวมถึงตัวยาจึงแยกย่อยกันออกไป

“โรคกษัย” หมายถึงโรคที่เกิดจากความเสื่อม จากความรัดตึง เช่น โรคชรา โรคที่เกิดจากอนุมูลอิสระ โรคจากความเคร่งเครียดจนป่วย โรคปวดตึงตามร่างกายและเส้นเอ็นภายใน ชื่อโรคลำไส้แปรปรวนในยุคปัจจุบันจึงเรียกว่าเป็นโรคกษัยได้เช่นกัน

เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

เมื่อหายใจได้ยาก สภาวะแบบนี้เรียกว่าพลังชื่ (พลังชีวิต) ไม่ไหลเวียนเนื่องจากการหายใจติดขัด ส่งผลให้รู้สึกไม่มีแรง หมดแรง อ่อนเพลียบ่อย ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น หน้าตาเหมือนคนอดนอน กินข้าวเสร็จเมื่อไรก็ง่วงนอน ปวดหัวตุ้บ ๆ จะไปออกกำลังกาย ดื่มกาแฟแก้ง่วง ดื่มชาเขียวให้สดชื่น ก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้นสักเท่าไร

ลำไส้แปรปรวน

ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง

ในการแพทย์แผนทางเลือกโดยเฉพาะการแพทย์แผนจีน กล่าวไว้ว่า เมื่อลำไส้ใหญ่ (อวัยวะหยาง) และปอด (อวัยวะหยิน) ซึ่งเป็นอวัยวะธาตุโลหะทั้งสองมีหน้าที่ทำให้ร่างกายสะอาด ขับสิ่งสกปรกที่ตกค้างออกไป ทำงานได้ไม่ดี เปรียบเสมือนกำแพงเมืองผุพัง ตำรวจ ทหารป้องกันชายแดนด้อยกำลัง ศัตรูภายนอกก็จะเข้ามาเล่นงานภายในเมืองได้

ดังนั้นเมื่อเรามีปัญหากับโรคลำไส้แปรปรวน ปอด-ลำไส้ใหญ่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงแย่ลงตามกันไปด้วย เกิดอาการคันการอักเสบ ติดเชื้อได้ง่ายตามมา ลักษณะหนึ่งที่เห็นได้ชัด เช่น อาการตกขาวของผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นมากหากมีปัญหาภายในลำไส้

ร่างกายซูบผอม หมดราศี

เมื่อการย่อยอาหารของเราทำได้ไม่ดีพอในช่วงแรก ร่างกายจะชวนให้เราหิวบ่อยขึ้น เริ่มสะสมไขมันสำรองไว้ที่ตับ ต้นแขน พุง และต้นขา แต่เพราะโรคลำไส้แปรปรวนเป็นลักษณะโรคเรื้อรัง คือเป็นติดต่อกันนานๆ ทำให้สารอาหารที่จำเป็นในกระแสเลือดลดลงมาก ร่างกายจำเป็นต้องย่อยสลายกล้ามเนื้อและไขมันส่วนเกิน มาเป็นสารอาหารและพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน จึงทำให้กล้ามเนื้อลดลง แขนพุงดูห้อยย้อยไม่มีกำลัง กล้ามเนื้อ ใบหน้าไม่เต่งตึง ดูหมดแรง อาการแบบนี้ทำให้หลายคนจิตตก เขียนเข้ามาถามผมอยู่ทุกวันว่า ” ทำไมผม /ดิฉันถึงผอมลงทุกวัน น้ำหนักไม่ขึ้นสักที เริ่มท้อแล้วนะหมอ “

อาการทางใจ จาก ลำไส้แปรปรวน

เมื่อเกิดความไม่สมดุลที่อวัยวะจะส่งผลต่ออารมณ์ของเราได้ แบ่งตามธาตุทั้ง 5 ดังนี้

  • ธาตุไฟ  หัวใจ ลำไส้เล็ก
  • ธาตุดิน ม้าม กระเพาะอาหาร
  • ธาตุโลหะ ปอด ลำไส้ใหญ่
  • ธาตุน้ำ ไต กระเพาะปัสสาวะ
  • ธาตุไม้ ตับ ถุงน้ำดี

อวัยวะที่จะเป็นปัญหาได้มากเมื่อเกิดอาการลำไส้แปรปรวน คือ

ธาตุไฟ (หัวใจ ลำไส้เล็ก) ธาตุดิน (ม้าม กระเพาะอาหาร) ธาตุไม้ (ตับ ถุงน้ำดี)

อันตัวข้านั้นเก่งเหนือใคร ไม่ใคร่ฟังเสียงผู้ใด – โรคกระเพาะ โรคตับ

ระบบย่อยอาหารจะมีปัญหา เกิดแผลในกระเพาะได้ง่าย เป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง หิวบ่อย น้ำย่อยออก ผิดเวลา ตับอักเสบ ตับแข็งได้ง่ายหากไม่ปรับพฤติกรรมและความคิด

การแก้ไข – ฝึกการฟังผู้อื่น พูดให้น้อยลง ปรับลมหายใจให้ช้าลง กินอาหารรสจืดรสขมมากขึ้น

ธาตุไม้ (ตับ ถุงน้ำดี) ธาตุไฟ (หัวใจ ลำไส้เล็ก)

ติดตามสอดส่องผู้อื่น ไม่ชอบใจเมื่อเห็นใครดีกว่า – โรคตับ โรคอ้วน นอนไม่หลับ

ตับสร้างสารอาหารได้น้อยลง เอนไซม์จากตับไม่มีประสิทธิภาพ ร่างกายเริ่มสะสมไขมันมากขึ้น โหยหาของหวาน เช่น เบเกอรี่ ไอศกรีม ภายในร่างกายร้อนอักเสบ เกิดกลิ่นลมหายใจ ร่างกายเสื่อมไวกว่าปกติ ผมร่วงกลางศีรษะ นอนหลับได้ยากเพระตับและหัวใจร้อนผ่าว แบบนี้กินยาอย่างไรก็ทุเลาได้ยาก

การแก้ไข – สังเกตตัวเรามากกว่าเพ่งโทษผู้อื่นต่างๆ ใช้หลักพรหมวิหาร 4 ในการดำเนินชีวิต หางานอดิเรกที่ทำแล้วมีความสุข ลดการใช้อุปกรณ์สื่อสาร

ธาตุโลหะ (ปอด ลำไส้ใหญ่) ธาตุน้ำ (ไต กระเพาะปัสสาวะ)

ไม่มั่นใจตัวเอง กังวลไปเสียทุกเรื่อง ท้อแท้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม – โรคซึมเศร้า โรคโต โรคลำไส้

ไม่มีกำลัง ทำให้พลังชีวิต (ชี) ไม่เดิน หมดแรง อ่อนเพลียทั้งวัน ออกกำลังกาย ไม่ปัสสาวะบ่อย ผิวหน้าผิวตัวหมองคล้ำคล้ายคนเป็นโรคไต กลัวกลางคืน สะด้งตื่นได้ง่าย ร่างกายค่อนข้างเย็น ขี้หนาว ผมเส้นเล็กลง กระดูกไม่แข็งแรง

การแก้ไข – ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากิจกรรมกลางแจ้งทำฝึกการหายใจให้ลึกและมีกินอาหารเผ็ดร้อนบ้าง เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย

ธาตุโลหะ (ปอด ลำไส้ใหญ่) ธาตุไม้ (ตับ ถุงน้ำดี)

ใช้ชีวิตด้วยแรงกดดัน จะต้องเก่ง ต้องชนะให้ได้ – โรคภูมิแพ้ โรคคัน ภาวะติดเกม

ใจร้อน หายใจได้เพียงสั้น ๆ ทำให้การเคลื่อนของเลือดและน้ำเหลืองภายในร่างกายมีปัญหา ง่วงเหงา-หาวนอนเพราะขาดออกซิเจน ระบายพิษออกได้น้อย ทำให้เกิดอาการแพ้สิ่งต่างๆ ได้ง่าย ทั้งอาหาร อากาศไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้

การแก้ไข – ซอยเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง มีความสุขในปัจจุบันขณะ ลดการเล่มเกม หากิจกรรมทำ

ข้อมูลเพิ่มเติม

การหายใจของมนุษย์เราไม่ใช่เพียง เอาออกซิเจนเข้าไปฟอกโลหิตให้เลือด มีสภาพที่ดีขึ้นเพียงเท่านั้น การหายใจ ที่ดียังช่วยให้ร่างกายภายในขยับไปด้วย ท่านลองหายใจยาวๆ ดู จะเห็นว่าไม่ใช่ เพียงจมูกและปอดของเราที่ทำงาน ช่องอก กะบังลม ช่องท้องช่วงล่าง ก็ขยายหดตามไปพร้อมกับจังหวะ หายใจ ดังนั้นการหายใจที่ลึกและมีคุณภาพจะทำให้ซี่ (พลังชีวิต) หรือจะ เรียกว่าพลังปราณเดินได้ดีเช่นกัน

ข้อมูลจาก

นิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่  534 ( 1 มกราคม 2564)

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ท่าโยคะ แก้ลำไส้แปรปรวน

บริหารลำไส้ ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย

ชามะละกอ ล้างลำไส้ กำจัดสารพิษ ได้จริงหรือไม่

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.