ท่าโยคะ แก้ลำไส้แปรปรวน ฝึกง่าย ทำทุกวัน ลำไส้ดี
อาการปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น แก้ได้ด้วย ท่าโยคะ แก้ลำไส้แปรปรวน ซึ่งปัญหาลำไส้เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเคยเป็นกันทั้งนั้น สาเหตุก็เกิดได้หลากหลาย ทั้งอาหารที่กินเข้าไป โรคประจำตัว หรือแม้แต่ความเครียดที่ต้องพบเจอในแต่ละวัน
วันนี้ คุณกาญจนา พันธรักษ์ หรือครูกาญจน์ อดีตนักกรีฑาทีมชาติที่ผันตัวมาเป็นครูสอนโยคะคนเก่ง จึงแนะนำท่าโยคะที่มีประโยชน์โดยตรงในการช่วยลดอาการลำไส้แปรปรวนต่าง ๆ ค่ะ
โรคภัยต่าง ๆ สมัยนี้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การทำงาน การเรียนรู้การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปอาจเป็นช่องว่างให้โรคภัยต่าง ๆ โจมตีเราอย่างไม่ตั้งใจ หากไม่สังเกตตัวเอง หรือแม้แต่สังเกตตัวเอง บางครั้งก็มองไม่เห็นความผิดปกติ เพราะการเจ็บป่วยที่แปลก ๆ หรือใหม่ ๆ เกิดมากขึ้นโรคบางชนิดใช้เวลาสะสมนานจึงแสดงอาการออกมา แต่โรคบางชนิดเป็นอย่างเฉียบพลัน เช่น อาการในกลุ่มการปวดท้อง
ภาวะลำไส้แปรปรวน IBM (Irritable Bowel Syndrome)
เป็นภาวะที่มีความผิดปกติในการบีบตัวของลำไส้ใหญ่มากไปทำให้มีอาการปวดท้อง อาการปวดท้องร่วมกับมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไป โดยอาจจะมีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสียก็ได้ ถ่ายเป็นน้ำหรืออุจจาระเป็นก้อนแข็ง ถ่ายมีมูก มีไข้ บางรายอาจจะมีอาการแน่นท้อง คือ โรคลำไส้แปรปรวน IBM (Irritable BowelSyndrome )
นอกจากนี้ แก๊สและปริมาณเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ ยา อาหาร แม้แต่อารมณ์เครียด ยังเป็นปัจจัยให้ลำไส้แปรปรวนได้ ซึ่งจากที่กล่าวมาบางอย่างไม่สามารถควบคุมได้(ยังไม่สรุปสาเหตุของโรคอย่างเด่นชัด)
หลายคนที่ผู้เขียนรู้จักเป็นโรคนี้กันมากแม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็เคยเป็นโรคนี้มาแล้วเช่นกัน ผู้ป่วยบางรายมีอาการรุนแรงทั้งอาเจียน ถ่ายบ่อย และปวดท้องแบบบีบเกร็งซึ่งทรมานมาก และทำให้เราสูญเสียพลังงานไปมากจนให้ไม่สามารถทำงานได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
ซึ่งผู้เขียนถือว่าโชคดี เนื่องจากมีอาการไม่รุนแรงมากเป็นเพียงแค่อาการปวดท้องและถ่ายไม่กี่ครั้ง สัญนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องด้วยโยคะ
วันนี้จึงขอแนะนำท่าโยคะที่สามารถช่วยบรรเทาอาการของลำไส้แปรปรวนนี้ได้ระดับหนึ่งท่านี้มีชื่อว่า ตรีโกณาสนะ (trikonasana)หรือ ท่าสามเหลี่ยม(ตรี แปลว่า 3, โกณา แปลว่า มุม) ค่ะ
ประโยชน์
- กระตุ้นระบบการย่อย การขับถ่าย และปรับความอยากอาหารให้สมดุล
- ยืดกระดูกสันหลังทั้งแนวบิด และแนวโค้ง
- ช่วยยืดข้อเท้า น่อง เข่า ต้นขา ไหล่ หลัง
- ฟื้นฟูอวัยวะ ตับ ไต ลำไส้เล็ก-ใหญ่ ให้ทำงานเป็นปกติ และช่วยรักษาโรคลำไส้แปรปรวน (IBS-irritablebowel syndrome)
- กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และต่อมน้ำเหลือง
- ขจัดไขมันบริเวณเอว สะโพก และหน้าท้อง
- ปรับบุคลิกภาพ
ผลต่อจิตใจ
ช่วยให้เกิดสมาธิ รักษาความสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ
วิธีปฏิบัติ
ท่าเตรียม ยืนแยกเท้ากว้างประมาณ 3 – 4 ฟุต ปลายเท้าขวาชี้ไปทางขวา 90 องศา ปลายเท้าซ้ายชี้ตรงไปด้านหน้า
- หายใจเข้า ยกและกางแขนระดับไหล่
- หายใจออก เหยียดตัวและแขนไปทางด้านขวาให้ไกลที่สุด แล้วเอียงตัวลง มือขวาจับข้อเท้าขวา หรือวางที่พื้น มือซ้ายชี้ขึ้นเพดาน ตามองตามมือซ้าย เปิดไหล่ เปิดสะโพกให้มาก แขนขาตึง สติอยู่ที่ลมหายใจ เข้าลึก ออกยาว ผ่อนคลาย ค้างอยู่ในท่าสักครู่
- หายใจเข้า ยกแขน และลำตัวคืนกลับ
- หายใจออก ลดแขนลง แล้วสลับข้าง ทำซ้ำ 1 – 5 รอบ
คำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่มีอาการท้องร่วง ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ ควรงดเว้นการฝึก ส่วนผู้ที่มีความดันสูง แนะนำให้ก้มหน้าลงมองพื้นหรือเท้า
แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนได้อย่างแน่ชัด แต่เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายแข็งแกร่งและมีพลังต่อสู้กับโรคต่างๆอย่างเข้มแข็ง และสามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย โดยเฉพาะโยคะเป็นการออกกำลังทั้งกายภายนอกอวัยวะภายใน รวมถึงช่วยให้จิตใจและอารมณ์ผ่อนคลายในเวลาเดียวกัน
ประโยชน์ของการออกกำลังกายจะเห็นได้เด่นชัดในเวลาที่เราเจ็บป่วย นั่นเองค่ะ
เคล็ดลับง่าย ๆ ดูแลสุขภาพลำไส้ ช่วยห่างไกลจากโรค
บางคนมีปัญหาเรื่องท้องผูกมาตั้งแต่เด็ก ๆ อาจเป็นเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่กินผักผลไม้ ร่างกายไม่ได้รับไฟเบอร์เพียงพอ และดื่มน้ำน้อย ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานไม่ดี หากปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรังจนมองว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต พฤติกรรมนี้คือสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า คุณมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต
นายแพทย์วิล บัลซ์วิตซ์ ผู้เขียนหนังสือ Fiber Fueled ระบุถึงวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี สุขภาพแข็งแรงและดูอ่อนวัย ดังนี้
- ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้วหลังตื่นนอนแล้วนวดท้องเบาๆ กระตุ้นการขับถ่าย
- กินธัญพืช เช่น ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต แมงลัก เมล็ดแฟลกซ์ ฯลฯ อย่างน้อยวันละ 3 ซ้อนโต๊ะ
- กินถั่วต่างๆอย่างน้อยวันละ 1 กำมือเป็นอาหารว่าง
- แบ่งครึ่งอาหารก่อนกิน เมื่อกินให้เคี้ยวช้าๆ แล้วจะพบว่าคุณกินอาหารน้อยลง
- กินผักผลไม้สดแทนขนมหวาน
- ดื่มชาเขียวหรือชาสมุนไพรที่ชอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
- ทำติดต่อกัน 1 เดือน จะช่วยให้การขับถ่ายของคุณเป็นปกติ ลดเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
บทความอื่นที่น่าสนใจ
HOW TO ออกกำลังกาย เพื่อความสมดุลของฮอร์โมน ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม
ทำไม วัยทองเสี่ยงโรค หัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
50+ ร่างกายเปลี่ยนไป แค่ไหนกัน
บริหารลำไส้ ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
ติดตามชีวจิตได้ที่