HOW TO ออกกำลังกาย เพื่อความสมดุลของฮอร์โมน ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม
พื้นฐานการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายนั้น จะทำงานผ่านระบบไหลเวียน รังไข่ มีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนขึ้นมา ส่วนเต้านม ก็จะมีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเพศจากรังไข่ ซึ่งตัวรับสัญญาณนั้น จะมีทั้งแบบเป็นตัวรับที่ดี ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเซลล์เต้านม ตามปกติที่ผู้หญิงควรจะมี และตัวรับที่ไม่ดีที่กระตุ้นให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวเร็วเกินไป อาจก่อให้เกิดมะเร็งร้ายได้
เมื่อฮอร์โมนบริเวณเต้านมทำงานจนเสร็จสิ้น ร่างกายจะมีระบบกำจัดฮอร์โมนที่ทำงานเสร็จแล้วออกจากร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะถูกขับออกผ่านทางตับและไต เพราะฉะนั้น หากกระบวนการทำงานจากต้นถึงปลายเป็นไปด้วยดี คือใช้แล้วขับออกได้อย่างสมดุล ฮอร์โมนก็จะมีความสมดุล และไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกาย
HOW EXERCISE HELPS
ฮอร์โมน จะเดินทางจากรังไข่ไปถึงเต้านมผ่านระบบไหลเวียนเลือด การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้น เปรียบเสมือนระบบการส่งต่อฮอร์โมน ที่มีประสิทธิภาพ โดยในขณะที่เราออกกำลังกายนั้น การไหลเวียนเลือดส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่บริเวณกล้ามเนื้อแขนและขา เพื่อทำหน้าที่ส่งออกซิเจน ดังนั้นการออกกำลังกาย จึงช่วย
กระจายฮอร์โมนไม่ให้ไปกระจุกที่บริเวณเต้านมมากเกินไป เพราะหากมีฮอร์โมนที่บริเวณเต้านมมากเกินไป ก็สามารถไปกระตุ้นตัวรับสัญญาณที่ไม่ดีได้
นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยพาฮอร์โมนเพศ กระจายตัวไปทำงานต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการสะสมมากจนเกินไปในบางจุด ช่วยซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อบริเวณต่าง ๆ รวมทั้งผิวพรรณให้ดีขึ้น
ที่สำคัญคือ การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างฮอร์โมนรอบใหม่ขึ้นมาทดแทนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายสดชื่นและไม่ก้าวสู่วัยทองก่อนเวลาอันควร กล่าวคือ การออกกำลังกายหรือการขยับร่างกายอยู่เสมอนั้น ถือเป็นสุดยอดวิธีในการรักษาสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายนั่นเอง
DOCTOR’S TIPS
การออกกำลังกาย เพื่อรักษาสมดุลของฮอร์โมนนั้น หัวใจสำคัญคือ ความสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายหนักเป็นบางวัน และหยุดออกกำลังกายหลาย ๆ วัน จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้น
ความเครียดให้ร่างกาย
นอกจากนี้ รูปแบบการออกกำลังกายที่ควรทำให้ครบทั้ง 3 ประเภท คือ
- การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง หรือเดิน
- การออกกำลังกายแบบเน้นกล้ามเนื้อ เช่น การยกเวต หรือการใช้ยางยืด
- การออกกำลังกายแบบยืดเหยียด เช่น โยคะ หรือพิลาทีส
BREAST SELF – EXAMINATION 3 ท่า ค้นหามะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบสำหรับผู้หญิงทุกคน หากไม่หมั่นสังเกตหรือตรวจเบื้องต้นด้วยตนเอง อาจส่งผลให้มะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น โอกาสรักษาหายก็จะมีน้อยลง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้แนะนำวิธีตรวจเช็กมะเร็งเต้านมด้วยตนเองง่าย ๆ เพียง 3 ท่าด้วยกัน คือ
ท่าสำหรับยืนหน้ากระจก ยืนตัวตรง ปล่อยแขนแนบข้างลำตัวตามสบาย มองในกระจกเปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้าง ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เช่น การบิดเบี้ยวของหัวนม จากนั้นสำรวจความผิดปกติ ในท่าประสานมือเหนือศีรษะและเท้าเอว ต่อด้วยการโน้มตัวไปข้างหน้า
โดยวางมือทั้งสองข้างบนเข่าหรือเก้าอี้แล้วสังเกตความผิดปกติ
ท่านอนราบ นอนราบในท่าที่สบาย แล้วยกแขนข้างที่ต้องการตรวจขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อให้เต้านมแผ่ราบ ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมืออีกข้างคลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ แต่ห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งนั่นไม่ใช่มะเร็ง เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อยให้ย้ายมาตรวจอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน
ท่าตรวจขณะอาบน้ำ ผู้ที่มีเต้านมเล็ก ให้ยกแขนข้างที่ต้องการจะตรวจเหนือศีรษะ และใช้มืออีกข้างคลำแบบเดียวกับท่านอนราบ ผู้ที่มีเต้านมใหญ่ให้ใช้มือข้างที่จะตรวจประคอง แล้วคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้ตรวจคลำจากด้านบน
มะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก อาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าได้รับการรักษาและดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยจะมีอัตราอยู่รอดเกิน 5 ปี สูงถึงร้อยละ 70 – 90 เลยทีเดียว ฉะนั้นต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
เรื่อง นายแพทย์สมบูรณ์ รุ่งพรชัย เรียบเรียง ชวลิดา เชียงกูล ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 524 – BREAST CANCER SURVIVORS
นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 22 : 1 สิงหาคม 2563