ทำอาหารให้ผู้สูงอายุ อร่อยได้ โภชนาการดี
รู้ไหมว่าการ ทำอาหารให้ผู้สูงอายุ ให้กลืนง่าย ดีต่อสุขภาพผู้สูงวัยมาก เพราะวิธีปรุงอาหารเล็กๆ น้อยๆ ช่วยลดอุปสรรคการเคี้ยวและกลืน จึงป้องกันการสำลัก ซึ่งเป็นสาเหตุของการกินอาหารได้น้อยและทำให้ขาดสารอาหาร
รู้ก่อน ทำอาหารให้ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปการทํางานของระบบประสาทจะด้อยลง อวัยวะผุกร่อน เสื่อมโทรม อาจเป็นโรคฟันผุ หรือไม่มีฟันทั้งปาก ต่อมน้ำลายหลั่งสารน้ำลายน้อยลง มีผลทําให้การบดเคี้ยวอาหารภายในปากเป็นไปได้ไม่ดี
เมื่ออาหารมาถึงกระเพาะอาหารและลําไส้เล็ก มีปัญหาการย่อยและการดูดซึม เพราะน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลําไส้เล็กมีน้อยลง อาหารที่ย่อยไม่ได้เมื่อผ่านมาถึงลําไส้ใหญ่ก็จะเกิดการสะสม เกิดเชื้อแบคทีเรียในลําไส้ใหญ่และปล่อยก๊าซออกมาทําให้ท้องขึ้นท้องอืดได้ การเคลื่อนไหวของลําไส้ก็มีน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว ทําให้เกิดอาการท้องผูก อาหาร
เป็นปัจจัยสําคัญในการดํารงชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังคงมีความต้องการพลังงานและสารอาหารที่มีคุณภาพสูง เพื่อการดํารงชีวิตอย่างมีคุณภาพจึงควร ทำอาหารให้ผู้สูงอายุ ที่ครบทั้ง 5 หมู่ และเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย
ปริมาณอาหารที่ผู้สูงวัยควรกิน มีอะไรบ้าง
ปริมาณอาหารที่ผู้สูงอายุควรกินใน 1 วัน (อาหาร/ปริมาณ/วันข้อเสนอแนะ)
- เนื้อสัตว์ ควรเลือกเป็นเนื้อปลา วันละ 4-5 ช้อนโต๊ะ
- นมสด ควรเป็นนมพร่องมันเนย วันละ 240 มิลลิลิตร
- ไข่ 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ แต่หากมีปัญหาด้านไขมัน และคอลเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรเลือกบริโภคเฉพาะไข่ขาว
- ถั่วและผลิตภัณฑ์ ใช้ประกอบเป็นอาหารคาวหวาน ควรรับประทานเป็นประจํา
- ข้าวและอาหารประเภทแป้งอื่นๆ วันละ 6-8 ทัพพี ควรเลือกข้าว หรืออาหารประเภทแป้งอื่นๆ ที่ไม่ผ่านการขัดสี หรือขัดสีน้อย
- ผักใบเขียว สดและต้ม วันละ 2 ทัพพี เช่น ตําลึง คะน้า ผักบุ้ง ฯลฯ
- ผักสีเหลือง ส้ม วันละ 1 ทัพพี เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ ฯลฯ
- ผลไม้และผลไม้สุก มื้อละ 1 ส่วน ควรเน้นกินให้หลากหลาย โดยหลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ลําไย องุ่น ฯลฯ
- ไขมันและน้ำมันพืช ไม่ควรเกินวันละ 2 ช้อนโต๊ะ และควรหลีกเลี่ยงไขมันสัตว์ เนย ไขมันทรานส์
- น้ําดื่ม ควรดื่มวันละ 6-8 แก้ว หรือ ประมาณ 1.5 – 2 ลิตร เลือกดื่มน้ําเปล่า หรือน้ําผลไม้คั้นสดได้บ้าง ควรหลีกเลี่ยง น้ําอัดลม ชา กาแฟ น้ำผลไม้กล่องที่มีปริมาณน้ำตาลสูง
ทำอาหารให้ผู้สูงอายุ จะแบ่งเป็นการช่วยให้เคี้ยวง่ายขึ้น กับช่วยให้กลืนง่ายขึ้นดังนี้
ช่วยเคี้ยวง่ายขึ้น
ข้าว
- หุงข้าวให้นุ่มกว่าปกติ
- ทำเป็นข้าวต้ม หรือข้าวเปียก
เส้นต่างๆ / ขนมปัง
- เส้นพาสต้าหรือก๋วยเตี๋ยวต้องหั่นให้สั้นลง
- หลีกเลี่ยงเบเกอรี่เนื้อกรุงกรอบ
- แช่ขนมปังในนมจนนุ่ม เพื่อทำให้เคี้ยวง่ายขึ้น
เนื้อสัตว์
- เลือกเนื้อที่ติดมันเล็กน้อย เช่น สันนอกหมู หรือสะโพกไก่
- ตัดเอ็นออก ต้มให้นิ่ม
- ปลาเนื้อไม่แข็ง เช่น ปลาตาเดียว ปลากะพง ปลานิล
ผัก
- ผักมีเส้นใยให้หั่นเป็นชิ้นสามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยม หนา 5-8 มิลลิเมตร
- ถ้าปรุงเป็นชิ้นใหญ่ให้บั้งเพื่อให้ความร้อนกระจายทั่วถึง
- ต้มจนนิ่งเพื่อให้กลืนง่าย
ช่วยกลืนง่ายขึ้น
ข้าว
- ข้าว ปั่นข้าวต้มให้เป็นเนื้อเนียนละเอียด
เนื้อสัตว์
- ต้มจนนิ่ม (ใช้ตะเกียบหรือช้อนตัดขาด)
- เลือกปลาเนื้อนิ่มมาต้มจนสุก
ผัก
- ต้มจนนิ่มแล้วทำเป็นน้ำราด เช่น ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า
- ต้มจนเปื่อย กินแบบไม่ต้องเคี้ยว เช่น จับฉ่าย
การตุ๋น ช่วยกลืนง่าย คุณค่าอยู่ครบ
การตุ๋นข้าวกับสารพัดผัก หรือใช้กับวัตถุดิบที่เหนียว หรือเนื้อแข็ง เพราะอาหารที่สุกด้วยการตุ๋น จะเปื่อย ยุ่ย และย่อยง่าย ด้วยวิธีนี้ วิตามินและคุณค่าอาหารจะไม่หลุดหายไปไหนได้เลย ทั้งน้ําทั้งเนื้อกอดกันอยู่ในหม้อ เหมาะอย่างยิ่งสําหรับผู้สูงอายุและเด็กเล็กๆ
ที่มา
- นายแพทย์ประมวล จารุตระกูลชัย
- ฝ่ายโภชนาการโรงพยาบาลศิริราช
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
10 แหล่งโอเมก้า-3 บำรุงสมอง หัวใจ ป้องกันซึมเศร้า
อาหารบำรุงหัวใจ ของดีใกล้ตัว มีอยู่ในตู้เย็น
อาหารเพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง
ติดตามชีวจิตได้ที่