ทารก, หัวใจพิการแต่กำเนิด, ความผิดปกติหลังคลอด, โรคหัวใจ

ประสบการณ์สุขภาพ : หัวใจพิการแต่กำเนิด ของแถมที่ไม่มีใครอยากได้

หัวใจพิการแต่กำเนิด เมื่อชีวิตไม่ได้มีทางเลือกมากนัก

หัวใจพิการแต่กำเนิด ตามคำอธิบายของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า   เกิดจากความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา พบโรคนี้ในทารกแรกเกิดมีชีวิตถึง 8 ใน 1,000 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 50 ไม่มีอาการ ที่เหลือมีอาการเขียว หรือ หัวใจวายร่วมด้วยอย่างละเท่าๆกัน ที่ อาจเสียชีวิตก่อนเกิด บางรายเริ่มมีอาการ หรือ ตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด หรือ ตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติในสัปดาห์แรก บางรายตรวจพบเมื่ออกจากโรงพยาบาลหลังคลอด หรือ มีอาการหลังอายุ 1-2 เดือน หรือหลังจากนั้น

วันนี้เรามีประสบการณ์จากคุณศิริรัตน์  ภู่จุฬา  แม่ของ น้องอันปัน -เด็กชายรัชพล  ภู่จุฬา  อายุ5 ขวบ  ซึ่งเธอได้แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับอาการป่วยของลูกชายเอาไว้

ทารก, หัวใจพิการแต่กำเนิด, ความผิดปกติหลังคลอด, โรคหัวใจ
ทารกแรกเกิด 8 คน ใน 1,000 คน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

หลังคลอด ก็พบความผิดปกติ

“น้องอันปันคลอดออกมาปกติค่ะ  แต่ในช่วง 2 – 3 เดือนหลังคลอดน้องไม่สบายบ่อยมาก  อาการที่สังเกตเห็นคือ  น้องหายใจเหนื่อยหอบและไม่สามารถนอนราบได้  หลังจากตรวจที่โรงพยาบาล  คุณหมอสันนิษฐานว่าน้องมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูง  และควรรับการตรวจโดยละเอียด

“ตอนแรกฉันยังไม่เชื่อ  แต่ได้รับการยืนยันจากคุณหมอว่าน้องอันปันเป็นโรคหัวใจรั่ว  พร้อมกำชับว่าให้แม่รีบดำเนินการรักษาโดยเร็ว  จึงรีบพาลูกไปตรวจอย่างละเอียดที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  โดยคุณหมอได้ตรวจหัวใจด้วยเครื่องที่มีคลื่นเสียงความถี่สูง  แต่น้องอันปันยังเล็กไม่สามารถอยู่นิ่งได้นานพอ  จึงต้องเลื่อนการตรวจออกไป  โดยรอให้น้องอายุครบ 10 เดือนก่อน”

ระหว่างรอ คุณศิริรัตน์เล่าว่า หัวใจของเธอเต็มไปด้วยความกังวลเมื่อถึงวันนัดจึงพบว่าความกังวลของเธอเป็นจริงคือ หัวใจน้องโตผิดปกติและมีรูรั่วขนาด 10 มิลลิเมตรที่หัวใจห้องล่าง อีกทั้งมีเนื้องอกมาปิดกั้นหัวใจห้องบน ซึ่งเป็นลักษณะของโรคหัวใจชนิดผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect : VSD)

โดยในกรณีของน้องอันปัน คุณหมอให้ข้อมูลว่า อาการลักษณะนี้ หากทิ้งไว้จนโตจะยิ่งรักษาให้หายได้ยาก ที่สำคัญ ยิ่งปล่อยไว้ รูรั่วจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นจนหัวใจน้องทำงานหนักมากและเสี่ยงต่อชีวิต

ยอมรับความเสี่ยง

เนื่องจากการผ่าตัดหัวใจในเด็กมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยระหว่างการผ่าตัด จึงมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานน้ำหนักตัวของเด็กที่จะเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ โดยควรมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 10 กิโลกรัม คุณหมอจึงให้กลับบ้านเพื่อดูแลสุขภาพน้องให้พร้อมผ่าตัด ซึ่งใช้เวลานานเกือบปี โดยระหว่างนั้นมีการนัดตรวจสุขภาพทุกๆ 2 – 3 เดือน

แต่ในกรณีของน้องอันปัน ตรวจพบค่าเม็ดเลือดขาวสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดจนต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไปถึง 3 ครั้ง ถึงอย่างนั้นในครั้งถัดมา การผ่าตัดก็ผ่านไปด้วยดี แต่วิกฤติจริงๆที่ทั้งแม่และลูกต้องเผชิญอีกระลอก คือ การดูแลสุขภาพน้องช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด

“คุณหมอกำหนดให้น้องพักฟื้นประมาณ 10 วัน  และระหว่างนี้ต้องดูแลไม่ให้หัวใจเต้นเร็วจนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย  แต่เพราะลูกยังเล็ก  ดังนั้นหลังจากสลบเพราะฤทธิ์ยาไป 4 วันแล้วตื่นมาเห็นหน้าแม่  น้องอันปันก็เริ่มร้องไห้หนัก  พยาบาลเลยให้ฉันรีบออกจากห้องมาโดยยังไม่ได้แม้แต่สัมผัสตัวลูก  จึงได้แต่ยืนร้องไห้อยู่หน้าห้องไอซียู

“กว่าจะได้กอดลูกก็วันที่ 7 ค่ะ  ฉันเสี่ยงเข้าไปพบลูกเพราะทนต่อไปไม่ไหว  เมื่อลูกตื่นมาพบหน้าก็รีบปลอบลูกว่าอย่าร้องไห้นะลูก  ถ้าหนูร้องไห้  แม่ก็จะอยู่กับหนูไม่ได้นะเหมือนน้องอันปันจะรู้  เขาค่อยๆปรับตัว  จากที่เคยร้องไห้มากก็ร้องน้อยลง  และไม่ร้องไห้ในที่สุด”

ลูกน้อย, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, โรคหัวใจ, รักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
การสังเกตอาการผิดปกติของลูกน้อยช่วงแรกเกิดถึง 1 ปี เป็นสิ่งสำคัญ

เข้าสู่การพักฟื้น

จากนั้นอาการน้องอันปันก็ค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ และกลับมาพักฟื้นที่บ้านโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด จนทุกวันนี้น้องอันปันมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถวิ่งเล่นได้เหมือนเด็กทั่วไป โดยยังมีนัดเอกซเรย์ปีละ 1 ครั้ง

เรื่องราวของน้องอันปันเป็นอุทาหรณ์ที่ดีในการสังเกตอาการของลูกน้อยช่วงแรกเกิดถึง 1 ปี โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญอย่างหัวใจ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความผิดปกติแต่กำเนิดอีกไม่น้อยที่เพิ่งมาแสดงอาการตอนโต


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

กฎเหล็ก ป้องกันโรคหัวใจ

โรคหัวใจ ออกกำลังกายได้หรือไม่

4 อาการ เสี่ยงโรคหัวใจ ภัยใกล้ตัวคนทำงาน

ดูแล “โรคหัวใจ” ออกกำลังกายแต่พอดี

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.