ใบย่านาง เพิ่มความนัวจากธรรมชาติ ประโยชน์สูง
ย่านาง หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อใบย่านาง ที่มักเห็นเป็น “น้ำใบย่านาง” ที่เพิ่มรสนัวๆ ให้กับแกงอีสาน ที่จริงแล้วมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tiliacora triandra (Colebr.) Diels ลักษณะเป็นต้นเป็นเถาไม้เลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยวคล้ายใบพริกไทย ออกติดกับลำต้นแบบสลับรูปร่าง ลักษณะคล้ายรูปไข่หรือรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5 – 10 เซนติเมตร พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ในอีสานอย่างเดียว
ประโยชน์ของ ใบย่านาง
ใบย่านาง ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มความนัวให้รสชาติในอาหารจานโปรดเท่านั้น แต่มีประโยชน์มหาศาล ชนิดที่ว่าหมอยาภาคอีสานขนานนามพืชสมุนไพรชนิดนี้ว่า
ย่าหมื่นปีไม่แก่!
ใบย่านางที่จริงแล้วมีรสจืดขม สรรพคุณคือ ใช้ถอนพิษ แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด ไข้เซื่องซึม ไข้หัว ไข้พิษ ปวดหัวตัวร้อน อีสุกอีใส หัด ลิ้นกระด้างคางแข็ง และมักนำมาทำเป็นยากวาดคอแบบที่สมัยเด็กๆ เราขยาดกันนั่นแหล่ะค่ะ นอกจากนั้นยังแก้ไข้ฝีดาษ ไข้ดำแดง ได้อีกด้วย
และหากนำใบมาคั้นเป็น น้ำใบย่านาง นอกจากจะใส่แกงเพิ่มความอูมามิแบบไทยๆ แล้ว ยังสามารถใช้สระผมได้อีกด้วย โดยจะช่วยให้ผมดำ นุ่มสลวย
ส่วนราก ใช้ต้มเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น ถ้านำรากย่านางผสมรากหมาน้อยมาต้ม แก้ไข้มาลาเรียได้
ส่วนเถาย่านาง ใช้ทำเชือกหรือใช้มัดตับหญ้าคา นิยมใช้มุงหลังคาเพราะมีความเหนียวทนทาน
ปัจจุบัน ชาวอีสานนำน้ำคั้นใบย่านางมาปรุงอาหารหลายเมนู เช่น แกงอ่อม แกงเห็ด ต้มเปรอะ แกงขี้เหล็ก แกงขนุน แกงผักอีลอก แกงยอดหวาย นำไปทำอ่อมและหมก นอกจากนั้นแล้วหากอยู่ในแกงหน่อไม้ น้ำใบย่ายางจะช่วยลดระดับกรดยูริกและความขมของหน่อไม้ลงได้ รวมถึงเพิ่มคลอโรฟิลล์และเบต้าแคโรทีนให้กับอาหาร
ย่านาง ลดไข้ ลดความดันเลือด
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ใบย่านางมีวิตามินซี เส้นใยอาหาร แคลเซียม เหล็ก เบต้าแคโรทีน และวิตามินเอสูง
มีการศึกษาพบว่า สารสกัดใบย่านางมีฤทธิ์ลดไข้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum แก้ปวด ลดความดันโลหิต กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาว ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเอนไซม์ Acetylcholinesterase ลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล และมีฤทธิ์อ่อน ๆ ในการต้านอนุมูลอิสระ
ใบย่านาง แหล่งคลอโรฟิลล์พื้นบ้าน
นอกจากนี้ ในน้ำคั้นใบย่านางสีเขียวเข้มยังมีสารคลอโรฟิลล์สูง แม้ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ไม่ได้ แต่คลอโรฟิลล์มีคุณสมบัติเป็นสารแอนติออกซิแดนต์ ช่วยลดปริมาณสารก่อมะเร็งที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยมีคำแนะนำคือ ควรคั้นสดแล้วดื่มทันทีเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ขณะนี้มีการศึกษาพบสรรพคุณว่า น้ำคั้นใบย่านางช่วยลดไข้ แก้ปวด ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งได้
ล่าสุดงานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พบว่า ในใบย่านางมีสารต้านมะเร็งเต้านม เนื่องจากมีสารประกอบฟีนอลิกซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารแอนติออกซิแดนต์ ช่วยลดความเสื่อมของเซลล์
นอกจากนี้งานวิจัยของทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังพบว่า สารสกัดใบย่านางมีฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับสารสกัดใบหม่อน ใบบัวบก และอัญชัน ซึ่งเหมาะที่จะนำไปพัฒนาเป็นเวชสำอางเพื่อป้องกันผมหงอกก่อนวัยอีกด้วย
ชีวจิต เห็นว่าการกินอยู่แบบดั้งเดิมเช่นเดียวกับปู่ย่าตายายของเรานั้นแสนเรียบง่าย ประหยัด และลงตัวกับร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่สุดแล้ว เมื่อนำมาปฏิบัติควบคู่กับวิถีชีวจิต ย่อมช่วยให้สุขภาพกาย – ใจแข็งแรงได้เป็นอย่างดี
ชีวจิต 477
บทความน่าสนใจอื่น ๆ
10 สารอาหาร ห่างไกล โรคซึมเศร้า แค่กินเป็น ก็มีความสุข