สารพิษ หมายถึง สารเคมีที่มีสภาพเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านการ การรับประทาน การหายใจ หรือแม้กระทั่งการสัมผัสผ่านทางร่างกาย เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเกิดอันตรายต่อโครงสร้าง และการทำงานของร่างกาย
สำหรับความรุนแรงของสารพิษที่เราได้รับนั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของสารพิษ ปริมาณ และวิธีการที่เข้าผ่านร่างกาย ซึ่งสารพิษแต่ละตัว ความอันตรายจะมากน้อยต่างกัน และขึ้นอยู่กับบุคคลด้วย
เรามาดูว่าสารพิษจะสามารถเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกายเราได้จากทางไหนบ้าง
-
ระบบทางเดินหายใจ
สำหรับระบบทางเดินหายใจ ถือเป็นอันตรายใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามไป เพราะด้วยการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ต้องพบเจอกับสารเคมีอยู่เป็นประจำ โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ ผงซักฟอก น้ำหอม สีทาบ้าน และเครื่องปรับอากาศที่ไม่ได้ล้างเป็นระยะเวลา สิ่งต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามักมองข้ามไป
ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่กล่าวมา ปล่อยสารพิษในรูปแบบของก๊าซ และของเหลว(ระเหยเป็นไอ) ให้เราได้สูดดมเข้าไป อย่าง สารคาร์บอนมอนอกไซด์ คลอรีน แอมโมเนีย และพาราเบน เมื่อเราสูดดม ร่างกายจะดูดซึมสารพิษเหล่านี้ ผ่านเยื่อบุเมือกบริเวณคอและปอด
และส่วนใหญ่คนเราจะหายใจเฉลี่ยนาทีละ 20 ครั้ง หรือเฉลี่ยวันละ 28,800 ครั้ง ลองคิดดูว่าหากเราสูดดมนานวันเข้า จะส่งผลให้เกิดอันตรายมากแค่ไหน
-
ระบบผิวหนัง
ระบบผิวหนังของเราประกอบไปด้วย 3 ชั้น คือชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้นประสาทใต้ผิวหนัง ซึ่งถ้ามองผิวเผินอาจคิดว่า เป็นการยากที่สารพิษจะเข้าสู่ร่างกาย เพราะมันมีการป้องกันจากผิวหนังชั้นหนังกำพร้า แต่ความจริงแล้วใต้ผิวหนังของเราก็มีช่องโหว่ให้สารพิษได้เล็ดลอดเช่นกัน
เมื่อไรก็ตามที่ส่วนชั้นใต้ผิวหนัง (ลึกลงไปจากชั้นหนังแท้) เกิดการไม่ซับน้ำ ขาดคุณสมบัติของการยืดหยุ่น ชั้นผิวหนังในส่วนนี้เอง ที่เป็นแหล่งสะสมของสารเคมีอันตราย จากการหลุดลอดผ่านเข้าสู่ร่างกาย โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดสารอันตราย เช่น พาราเบน กรดโซเดียมเบนโซอิก แอมโมเนียมลอริลซัลเฟต ไตรโคลซาน โดยมากจะอยู่ในส่วนผสมของ แชมพูสระผม ครีมอาบน้ำ สบู่ ยาย้อมผม หรือครีมกันแดดซึ่งเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น
-
ระบบทางเดินอาหาร
ระบบทางเดินอาหารเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีโอกาสได้รับสารพิษ ไม่แพ้ระบบอื่นๆ ด้วยค่าเฉลี่ยของคนเรา กินอาหารปีละ 1,905 มื้อ / คน และนอกจากอาหารแล้ว เรายังมีเครื่องดื่ม เกลือแร่ ยา วิตามิน อื่นๆ อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญทำให้เราได้รับสารพิษเช่นกัน
สำหรับกระบวนการ การทำงานของระบบทางเดินอาหาร หากพูดง่ายๆ คือ เมื่อไรที่เรารับอาหาร หรือยา ตับจะผลิตเอนไซม์ มาเพื่อย่อยสลายสารเคมีไปกว่า 90% แต่ไม่ได้หมายความว่า สารเหล่านั้นจะหมดไป เพราะมันยังมีคงค้างอยู่ในตัวเราได้อยู่
ประเภทสารพิษ
- ชนิดกัดเนื้อ : ทำให้ผิวหนังเราไหม้ พอง เช่นสาร น้ำยาฟอกขาว
- ชนิดทำให้ระคายเคือง : ทำให้รู้สึกปวดแสบ ปวดร้อน อาหารเป็นพิษ เช่นสาร ฟอสฟอรัส สารหนู ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
- ชนิดที่กดระบบประสาท : ทำให้หลับลึก ปลุกไม่ตื่น ม่านตาหดเล็ก หมดสติ เช่นสาร ฝิ่น มอร์ฟีน หรือพิษจากงูบางชนิด
- ชนิดที่กระตุ้นระบบประสาท : ทำให้เกิดอาการเพ้อ ใบหน้าและผิวหนังแดง บางรายชีพจรเต้นเร็ว ช่องม่านตาขยายใหญ่ขึ้น เช่น ยาอะโทรปีน และดอกลำโพง
ที่มา : กรมแพทย์ทหารเรือ
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สารพัดอาการสยอง พร้อมเทคนิคปฐมพยาบาล เมื่อได้รับ สารพิษจากในครัวเรือน
6 WAYS ลดการรับสารพิษ ลดเสี่ยงมะเร็ง