อาการสยอง

สารพัดอาการสยอง พร้อมเทคนิคปฐมพยาบาล เมื่อได้รับ สารพิษจากในครัวเรือน

สารพิษจากในครัวเรือน มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำยาขัดห้องน้ำ โซเดียมคาร์บอเนต น้ำยาฟอกขาว และยาฆ่าแมลง เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราได้รับสารพิษเหล่านี้แล้ว จะต้องทำอย่างไร เรามีคำตอบ

สารพิษ หมายถึง  สารเคมีที่มีสภาพเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายโดย การรับประทาน การฉีด การหายใจ หรือการสัมผัสทางผิวหนัง แล้วทำให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย ด้วยปฏิกิริยาทางเคมี อันตรายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ คุณสมบัติ ปริมาณ และทางที่ได้รับสารพิษนั้น

การได้รับสารพิษ เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการปฐมพยาบาลที่รีบด่วน และเฉพาะเจาะจง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องประเมินจำแนกให้ได้ว่าอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้น  ว่าเกิดจากสารพิษใด นอกจากประเมินอาการแล้ว ยังจำเป็นต้องสังเกตสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยร่วมด้วย ดังนี้

  • การคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง น้ำลายฟูมปาก หรือมีรอยไหม้นอกบริเวณริมฝีปาก มีกลิ่นสารเคมีบริเวณปาก
  • เพ้อ ชัก หมดสติ  มีอาการอัมพาตบางส่วนหรือทั่วไป  ขนาดช่องม่านตาผิดปกติ อาจหดหรือขยาย
  • หายใจขัด หายใจลำบาก มีเสมหะมาก มีอาการเขียวปลายมือปลายเท้า  หรือบริเวณริมฝีปาก   ลมหายใจมีกลิ่นสารเคมี
  • ตัวเย็น  เหงื่อออกมาก  มีผื่นหรือจุดเลือดออกตามผิวหนัง

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษ

จำแนกตามวีถีทางที่ได้รับ  3  ทาง ดังนี้

  • การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางปาก
  • การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางการหายใจ
  • การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางผิวหนัง

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางปาก

ผู้ช่วยเหลือต้องทำการประเมินผู้ที่ได้รับสารพิษก่อน  แล้วจึงพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ ดังนี้

  • ทำให้สารพิษเจือจาง ในกรณีรู้สึกตัวและไม่มีอาการชัก โดยการดื่มน้ำชาซึ่งหาได้ง่าย แต่ถ้าได้นมจะดีกกว่า เพราะว่าจะช่วยเจือจางสารพิษแล้ว ยังช่วยเคลือบและป้องกันอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร
  • นำส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการล้างท้องเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหาร
  • ทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหาร ในกรณีที่ต้องใช้เวลานานในการนำส่งผู้ป่วย  เช่น  ใช้นิ้วล้วงคอ ใช้ไม้พันสำลีกวาดคอซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ รู้สึกอยากขย้อน อยากอาเจียน

ข้อห้ามในการทำให้ผู้ป่วยอาเจียน

  • หมดสติ
  • ได้รับสารพิษชนิดกัดเนื้อ เช่น กรด ด่าง
  • รับประทานสารพิษพวก น้ำมันปิโตรเลียม เช่น น้ำมันก๊าด เบนซิน
  • มีสุขภาพไม่ดี  เช่น โรคหัวใจ

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารกัดเนื้อทางปาก

กรด ด่าง เป็นสารเคมีที่พบในชีวิตประจำวัน ในครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรม เช่น กรดซัลฟริก กรดไฮโดรคลอริก  โซเดียมคาร์บอเนต

อาการและอาการแสดง คือไหม้พอง ร้อนบริเวณริมฝีปาก ปาก ลำคอและท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ และมีอาการภาวะช็อค ได้แก่ ชีพจรเบา ผิวหนังเย็นชื้น

การปฐมพยาบาล

  • ถ้ารู้สึกตัวดีให้ดื่มนม
  • อย่าทำให้อาเจียน
  • รีบนำส่งโรงพยาบาล

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพวกน้ำมันปิโตเลียมทางปาก

เป็นผลิตภัณฑ์ที่พบได้ทั้งในบ้านและโรงงานอุตสาหกรรม สารพวกนี้ได้แก่ น้ำมันก๊าด เบนซิน ยาฆ่าแมลงชนิดน้ำมัน เช่น DTT.

อาการและอาการแสดง คือแสบร้อนบริเวณปาก คลื่นไส้ อาเจียน  ซึ่งอาจสำลักเข้าไปในปอดทำให้หายใจออกมามีกลิ่นน้ำมัน หรือมีกลิ่นน้ำมันปิโตเลี่ยม อัตราการหายใจและชีพจรเพิ่ม อาจมีอาการขาด ออกิเจน ซึ่งอาจรุนแรงมากมีเขียวตามปลายมือ ปลายเท้า

การปฐมพยาบาล

  • รีบนำส่งโรงพยาบาล
  • ห้ามทำให้อาเจียน
  • ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยอาเจียน ให้จัดศีรษะต่ำ เพื่อป้องกันการสำลักน้ำมันเข้าปอด

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางการหายใจ

สารพิษที่เข้าสู่ทางการหายใจ ได้แก่ ก๊าซพิษ แบ่งออกเป็น  3 ประเภท ดังนี้

  • ก๊าซที่ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการ วิงเวียน หน้ามืด เป็นลมหมดสติ ถึงแก่ความตายได้  เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ปัจจุบันพบว่าก๊าซที่ทำให้เกิดปัญหาค่อนข้างบ่อย ได้แก่ คาร์บอนมอนนอกไซด์ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง อากาศเป็นพิษ คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อหายใจเข้าไปในร่างกาย ก๊าซนี้จะแย่งที่กับออกซิเจนในการจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถไปยังเนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้ ร่างกายจึงมีอาการของการขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าช่วยเหลือไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เช่น ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตในรถยนต์
  • ก๊าซที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ คอ หลอดลม และปอด ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ตายได้ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่มีสีแต่มีกลิ่นฉุน พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้ทำกรดกำมะถัน
  • ก๊าซที่ทำให้อันตรายทั่วร่างกาย ได้แก่ ก๊าซอาร์ซีน ไม่มีสีกลิ่นคล้ายกระเทียม พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรมใช้ทำแบตเตอรี่ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะเป็นเลือด ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง

การปฐมพยาบาล

  • กลั้นหายใจและรีบเปิดประตูหน้าต่างๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท มีอากาศบริสุทธิ์เข้ามาในห้อง ปิดท่อก๊าซ หรือขจัดต้นเหตุของพิษนั้นๆ
  • นำผู้ป่วย ออกจากบริเวณที่เกิดเหตุไปยังที่มีอากาศบริสุทธิ์
  • ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ผายปอดและนวดหัวใจ
  • นำส่งโรงพยาบาล

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางผิวหนัง

สารพิษที่สามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่พบบ่อยเกิดได้แก่ สารเคมี และสารพิษที่เกิดจากการถูกสัตว์มีพิษกัดหรือต่อย  เช่น ต่อ แตน ผึ้ง ตะขาบ แมงป่อง แมงกะพรุนไฟ  งูพิษ

การปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีถูกผิวหนัง

  • ล้างด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ  อย่างน้อย 15 นาที
  • อย่าใช้ยาแก้พิษทางเคมี  เพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น
  • บรรเทาอาการปวดและรักษาช็อค
  • ปิดแผล แล้วนำส่งโรงพยาบาล

การปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีเข้าตา

  • ล้างตาด้วยน้ำนาน 15 นาที่ โดยการ เปิดน้ำก๊อกไหลรินค่อย ๆ
  • อย่าใช้ยาแก้พิษทางเคมี เพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น
  • บรรเทาอาการปวดและรักษาช็อค
  • ปิดตา  แล้วนำส่งโรงพยาบาล

 ขอบคุณข้อมูล : กรมแพทย์ทหารเรือ

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ก่อนกินต้องระวัง สารพิษที่มักปนเปื้อนในอาหาร

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.