เราต้องเป็นเรา

เราต้องเป็นเรา อย่าให้เรากลายเป็นของมัน – ธรรมะเพื่อการปล่อยวางจากพระไพศาล

เราต้องเป็นเรา อย่าให้เรากลายเป็นของมัน

เคยสังเกตไหมว่า เวลาเพื่อนทำกระเป๋าเงินหาย เราสามารถสรรหาเหตุผลมาได้มากมายเพื่อช่วยให้เธอทำใจ (ยังดีที่ไม่เสียมากกว่านี้ ถือว่าใช้กรรมก็แล้วกัน เงินทองเป็นของนอกกาย ฯลฯ) เราต้องเป็นเรา

ในทำนองเดียวกัน เวลาเพื่อนอกหัก ถูกแฟนทิ้ง เราก็รู้ว่าควรจะพูดอย่างไรเพื่อให้เธอปล่อยวาง แต่เวลาเราประสบเหตุอย่างเดียวกันกลับทำใจไม่ได้ เอาแต่เศร้าซึมจ่อมจมอยู่กับความสูญเสีย คำแนะนำดีๆ ที่ให้เพื่อนกลับเอามาใช้กับตัวเองไม่ได้ บ่อยครั้งก็นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าควรทำใจอย่างไร

ใช่หรือไม่ว่าสาเหตุที่เราสามารถแนะนำเพื่อนได้อย่างฉาดฉานก็เพราะเงินของเพื่อน ไม่ใช่เงินของฉัน แฟนของเพื่อน ไม่ใช่แฟนของฉัน เราจึงไม่รู้สึกทุกข์ร้อนเท่าใดนัก ปัญญาจึงทำงานได้เต็มที่ แต่เมื่อใดที่เหตุร้ายเกิดกับเงินของฉันหรือกับแฟนของฉัน อารมณ์จะท่วมท้นใจจนนึกอะไรไม่ออก

ไม่มีอะไรที่จะทรงพลังเท่ากับคำว่า “ของฉัน” ไม่ว่าความวิบัติจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม หากมันไม่เกี่ยวข้องกับ“ของฉัน”เราก็ไม่ค่อยรู้สึกรู้สาด้วย แต่ทันทีที่มีอะไรมากระทบกับ“ของฉัน”แม้เล็กน้อยเพียงใด มันกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที

หลายคนดูข่าวแผ่นดินไหวในอิหร่านที่มีคนตายนับแสนคนด้วยความรู้สึกเฉยๆ แต่จะขุ่นเคืองไปทั้งวันเมื่อพบว่ารถของตนมีรอยขีดข่วนที่ตัวถัง

สาเหตุที่ผู้คนยอมเหนื่อยยากทำงานตัวเป็นเกลียวก็เพื่อรักษาและเพิ่มพูน“ของฉัน”ให้มากที่สุด ความยึดอยากให้ทุกอย่างเป็น“ของฉัน”ทำงานอยู่ในส่วนลึกของจิตใจตลอดเวลา แม้เก้าอี้ในโรงภาพยนตร์ที่เพิ่งมานั่งได้ไม่กี่นาที เราก็เรียกว่า “เก้าอี้ของฉัน” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

แต่เราเคยสังเกตไหมว่า ทันทีที่ยึดอะไรก็ตามว่าเป็น“ของฉัน”เราจะกลายเป็น“ของมัน”ไปทันที เราจะยอมทุกข์เพื่อมัน ถ้าใครวิจารณ์เสื้อของฉัน ตำหนิรถของฉัน เราจะโกรธและจะแก้ต่างให้มัน บางครั้งถึงกับแก้แค้นแทนมันด้วยซ้ำ ถ้าเงินของฉันถูกขโมย เราจะทุกข์ข้ามวันข้ามคืนทีเดียว

คนจำนวนไม่น้อยยอมตายเพื่อรักษาสร้อยเพชรไว้ไม่ให้ใครกระชากเอาไป บางคนยอมเสี่ยงชีวิตฝ่าเปลวเพลิงที่กำลังลุกไหม้บ้านเพราะกลัวอัญมณีจะถูกทำลายวายวอด ฉะนี้แล้วควรจะเรียกว่ามันเป็น“ของฉัน”? หรือฉันต่างหากที่เป็น“ของมัน”

เป็นเพราะหลงคิดว่ามันเป็น“ของฉัน”ผู้คนทั้งโลกจึงกลายเป็น“ของมัน”ไปโดยไม่รู้ตัว มีชีวิตอยู่เพื่อมัน ยอมทุกข์ก็เพื่อมัน ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่ามีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด แต่ก็ใช้เวลาไปอย่างไม่เสียดายก็เพื่อมัน ซ้ำร้ายกว่านั้นหลายคนยอมทำชั่ว อกตัญญูต่อผู้มีพระคุณก็เพื่อมัน กลายเป็นว่าถูกมันใช้ ยิ่งกว่าเป็นผู้ใช้มัน

ยิ่งยึดมั่นว่าทรัพย์สมบัติเป็นของฉัน เรากลับกลายเป็นทาสของมัน จิตใจนี้อุทิศให้มันสถานเดียว เศรษฐีนีเงินกู้คนหนึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ในวัยชรา จำลูกหลานไม่ได้แล้ว แต่สิ่งเดียวที่จำได้แม่นก็คือสมุดจดบันทึกทรัพย์สิน ทุกวันจะหยิบสมุดเล่มนี้มาพลิกดูไม่รู้เบื่อ แม้ลูกหลานจะชวนสวดมนต์หรือฟังเทปธรรมะ ผู้เฒ่าก็ไม่สนใจ จิตใจนั้นรับรู้ปักตรึงอยู่กับเงินทองเท่านั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อสิ้นลมผู้เฒ่าจะนึกถึงอะไรและจะไปสุคติได้หรือไม่
ไม่ว่าจะมีเงินทองมากมายเพียงใด เมื่อตายไปก็ไม่มีใครเอาไปได้ แม้แต่อย่างเดียว นั่นเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตเพื่อทรัพย์สมบัติ แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ หากหวงแหนติดยึดมันแม้กระทั่งในยามสิ้นลม มันก็สามารถฉุดลงอบายได้

ถ้าไม่อยากเป็น“ของมัน” ก็ควรถอนความสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็น“ของฉัน”การให้ทานเป็นวิธีการเบื้องต้นในการฝึกจิตให้ถอนความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว ถ้าให้ทานอย่างถูกวิธี ไม่เพียงเป็นประโยชน์แก่ผู้รับเท่านั้น หากยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้

ประโยชน์ประการหลังมิได้หมายถึงความมั่งมีศรีสุขในอนาคตเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ช่วยลดความยึดติดในทรัพย์“ของฉัน”แต่อานิสงส์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อเราให้โดยไม่ได้หวังอะไรกลับคืนมา หากให้เพื่อมุ่งประโยชน์แก่ผู้รับเป็นสำคัญ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นพระหรือไม่ก็ตาม และเมื่อให้ไปแล้วก็ให้ไปเลย โดยไม่คิดว่าของนั้นยังเป็นของฉันอยู่(หรือเฝ้ามองว่าทำไมหลวงพ่อยังไม่ฉันอาหาร“ของฉัน”)

การให้ทานและเอื้อเฟื้อเจือจานเป็นการสร้างภูมิต้านทานให้แก่จิตใจ ทำให้ไม่ทุกข์เมื่อประสบความสูญเสีย  ในทางตรงข้าม คนที่ตระหนี่ แม้จะมีความสุขจากเงินทองที่พอกพูน แต่หารู้ไม่ว่าจิตใจนั้นพร้อมที่จะถูกกระทบกระแทกในยามเสียทรัพย์ แม้จะเป็นเรื่องที่จำเป็นก็ตาม

ชาวอินเดียผู้หนึ่งเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวมาก วันหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากภรรยาว่าเธอปวดท้องและปวดศีรษะมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล หมอจึงสั่งตรวจเลือดและทำอัลตราซาวนด์ เพราะเกรงว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ พอรู้เช่นนี้เขาจึงสั่งให้ภรรยารีบหนีออกจากโรงพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น แล้วเขาก็โทรศัพท์ไปด่าหมอว่าเห็นแก่เงิน สั่งตรวจเลือดและทำอัลตราซาวนด์โดยไม่จำเป็น หมอพยายามอธิบายอย่างไรเขาก็ไม่ยอมเข้าใจ

ต่อมาเขามีเหตุต้องเข้าโรงพยาบาลเดียวกันนั้นเพื่อผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี เขาต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหลายวันเนื่องจากมีการติดเชื้อ ค่าใช้จ่ายจึงเป็นจำนวนมาก วันสุดท้ายที่เขาอยู่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินมาเก็บเงินจากคนไข้ถึงในห้อง ทันที่เขาเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายก็เกิดอาการช็อกและสิ้นลมคาเตียง

เงินนั้นมีไว้ใช้ แต่เมื่อใดที่เผลอใจกลายเป็นของมันไป มันก็สามารถทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตได้

 

เรื่อง: พระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.