หมีคุมะมง

เพื่อนรักหมีคุมะมง ผู้ไม่ทิ้งฝัน

เพื่อนรัก หมีคุมะมง ผู้ไม่ทิ้งฝัน

หมีคุมะมง เป็นหมีสีดำ แก้มแดง นิสัยขี้เล่นซุกซน คุณผู้อ่านบางท่านอาจเคยเห็นคลิป หมีคุมะมง ขี่มอเตอร์ไซค์บ้าง แช่อนเซ็นบ้าง เต้นระบำบ้าง ทุกกิริยาล้วนน่ารักชวนอมยิ้มไปหมด

หากกล่าวถึงจังหวัดคุมะโมะโตะเมื่อ 6 ปีก่อน พวกเราคงไม่มีใครรู้จักจังหวัดนี้ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ตาม

เมื่อมีคนถามว่า “รู้จักจังหวัดคุมะโมะโตะไหม” คนญี่ปุ่นคงตอบว่า “รู้จัก จังหวัดทางตอนใต้ใช่ไหมล่ะ” แต่แทบไม่มีใครบอกได้เลยว่า จังหวัดนี้มีอะไรโดดเด่นหรือมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ใดน่าไปบ้าง

จุดเปลี่ยนของจังหวัดเกิดขึ้นเมื่อการรถไฟญี่ปุ่นตัดสินใจสร้างรถไฟชิงกันเซนวิ่งจากโอซะกะ ผ่านฟุกุโอะกะ คุมะโมะโตะ ลงไปถึงคะโงะชิมะ เมื่อการเดินทางสะดวกขึ้น จังหวัดจึงคิดกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นมาเพื่อดึงนักท่องเที่ยวมาที่จังหวัดมากขึ้น หนึ่งในกลยุทธ์นั้นคือ การสร้างแมสคอตประจำจังหวัดที่ชื่อ “คุมะมง”

คุมะมงเป็นหมีสีดำ แก้มแดง นิสัยขี้เล่นซุกซน คุณผู้อ่านบางท่านอาจเคยเห็นคลิปคุมะมงขี่มอเตอร์ไซค์บ้าง แช่อนเซ็นบ้าง เต้นระบำบ้าง ทุกกิริยาล้วนน่ารักชวนอมยิ้มไปหมด คุมะมงกลายเป็นกระแสในญี่ปุ่นด้วยความน่ารักแบบกวน ๆ หากใครไปญี่ปุ่นจะเห็นสินค้าเกี่ยวกับคุมะมงทั่วไปแทบทุกจังหวัดตั้งแต่เหนือจรดใต้เลยทีเดียว ทำให้แมสคอตประจำจังหวัดได้กลายเป็นแมสคอตระดับประเทศไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นประเมินว่าคุมะมงสามารถสร้างรายได้ให้ธุรกิจในจังหวัดได้ถึง 4 หมื่นล้านบาทภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี (ค.ศ. 2011 - 2013)

เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ดิฉันเดินทางไปจังหวัดคุมะโมะโตะ เพื่อฟังการบรรยายเกี่ยวกับกลยุทธ์การท่องเที่ยวจังหวัดคุมะ-โมะโตะพร้อมนักศึกษาอีก 35 คน ระหว่างการบรรยาย ประโยคหนึ่งที่วิทยากรกล่าวเสมอ ๆ คือ “โชคดีที่ท่านผู้ว่าฯยอมเล่นด้วยท่านผู้ว่าฯยอมตั้งแต่นำ ‘หมี (อ่านว่าคุมะในภาษาญี่ปุ่นซึ่งพ้องกับชื่อจังหวัด)’ มาเป็นแมสคอตจังหวัด ทั้ง ๆ ที่ในจังหวัดไม่มีหมีสักตัว”

ผู้ว่าฯยอมไปออกรายการตลกชื่อดังของโอซะกะพร้อมกับหมีคุมะมงเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก หรือเมื่อลูกน้องท่านส่งหมีคุมะมงไปประชาสัมพันธ์จังหวัดโอซะกะ ทีมการตลาดก็สร้างแคมเปญให้คุมะมงไปแจกนามบัตรฝากเนื้อฝากตัวกับคนโอซะกะ โดยมีภารกิจให้คุมะมงแจกนามบัตร 10,000 ใบ แต่เนื่องจากคุมะมงเหนื่อยล้ากับภารกิจจึงหนีไป ทางทีมการตลาดต้องการทำข่าวให้ชาวโอซะกะช่วยกันตามหาคุมะมง ท่านผู้ว่าฯก็ยอมเล่นด้วยโดยจัดแถลงข่าวประกาศว่า “หมีคุมะมงหายตัวไป” และขอความช่วยเหลือให้ชาวโอซะกะช่วยกันแจ้งเบาะแส แคมเปญนั้นทำให้นักข่าวโอซะกะเห็นเป็นเรื่องสนุก และหยิบเรื่องราวของหมีคุมะมงมาทำข่าวจนเกิดกระแสคุมะมงในโอซะกะ

ใครจะเชื่อว่าผู้ว่าฯที่จบปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น จะยอมเล่นด้วยขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คุมะมงจะเรียกผู้ว่าฯว่า “เพื่อนรัก” เพื่อนรักคุมะมงคนนี้ไม่ธรรมดาค่ะ

ท่านผู้ว่าฯ คาบาชิม่า อิคุโอะ เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นลูกคนที่ 7 ในบรรดาพี่น้อง 9 คน เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี คาบาชิม่าจึงต้องปั่นจักรยานส่งหนังสือพิมพ์เพื่อช่วยหาเงินเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6

แม้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก แต่คาบาชิม่าก็ยังมีความฝัน เขาฝันอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือ การเป็นนักเขียนนิยาย เขาฝันอยากเขียนนิยายให้ได้ระดับเล มิเซราบล์ของวีกตอร์ อูโก เพราะชอบอ่านชอบเขียนมาก ความฝันที่สองคือ การเป็นนักการเมือง เพราะเขาหลงรักนักการเมืองชาวโรมันที่ชื่อบรูตัสจากหนังสือวีรกรรมผู้นำโรมันที่เคยอ่านตอนเด็ก ความฝันที่สามคือ การเป็นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์สีเขียวขจีแถบภูเขาอะโซะในจังหวัดคุมะโมะโตะ บ้านเกิดตัวเองทุกเช้าที่ตื่นมาทำงานจะได้มองเห็นภูเขาสวยงามลูกนี้ได้

หลังจบมัธยมปลาย เขาเข้าทำงานที่สหกรณ์การเกษตรโดยรับขนส่งปุ๋ยและเมล็ดข้าวอยู่เกือบ 2 ปี แต่คาบาชิม่าเริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะกับงานเกษตรสักเท่าไร จึงตัดสินใจทำตามความฝันที่ 3 คือ การเปิดฟาร์มปศุสัตว์ของตนเองทว่าเขาไม่มีทั้งเงินทุนและความรู้ เผอิญเวลานั้นอเมริกาให้ทุนฝึกอบรมด้านเกษตรปศุสัตว์ คาบาชิม่าจึงสมัครและได้ไปฝึกที่มหาวิทยาลัยเนแบรสกา 2 ปี

แม้งานจะหนักเท่าใดก็ตาม แต่คาบาชิม่าบอกว่า “นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมรู้สึกว่าการเรียนมันสนุกขนาดนี้” หลังจบโครงการ เขาจึงมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเนแบรสกาแต่ไม่มีเงินพอสำหรับจ่ายค่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คาบาชิม่าจึงกลับญี่ปุ่นและช่วยพี่ชายขนส่งนม จนเก็บเงินพอเป็นค่าตั๋วเดินทางไปอเมริกา และพยายามไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่นั่น

ตอนแรกคะแนน SAT เขาไม่สูงพอ เขาสอบตก โชคดีที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เขาเคยไปฝึกอบรมเห็นความตั้งใจอันแรงกล้าของเขา จึงเขียนจดหมายแนะนำเป็นพิเศษ ทำให้เขาสามารถสอบเข้าคณะเกษตรของมหาวิทยาลัยเนแบรสกาได้ตอนอายุ 24 ปี คาบาชิม่าตั้งใจเรียนเต็มที่จนสอบได้ A ทุกวิชา

“ผมตั้งใจเรียน 120 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้อาจารย์ผิดหวังในตัวผม”

เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย อาจารย์ชวนคาบาชิม่าให้อยู่ทำวิจัยต่อ คาบาชิม่าถามตัวเองว่าเขาอยากเป็นอะไรกันแน่เขานึกถึงความฝันในวัยเด็กที่อยากเป็นนักการเมือง จึงตอบปฏิเสธอาจารย์และมุ่งมั่นสอบเข้าเรียนต่อปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเรียนวิชารัฐศาสตร์การปกครองมาก่อนเลย

คาบาชิม่าสอบเข้าฮาร์วาร์ดได้ตอนอายุ 28 ปี โดยมีอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเดิมเป็นผู้เขียนจดหมายแนะนำให้ เวลานั้นคาบาชิม่าแต่งงานและมีลูกแล้ว 2 คน มหาวิทยาลัยมีเงินทุนให้เขาทำวิจัยแค่ 3 ปีเท่านั้น ปกตินักศึกษาปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ดใช้เวลาประมาณ 5 - 6 ปีจึงจะเรียนจบ แต่คาบาชิม่าใช้เวลาเพียง 3 ปี 9 เดือนก็สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด คาบาชิม่ากลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยทซึคุบะเมื่ออายุ 50 ปีจึงย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ตอนอายุ 61 ปีเขาก็ลาออกและลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2008

นี่คือเรื่องราวของผู้ว่าฯที่ไม่ลืมความฝัน ผู้ว่าฯที่เคยเป็นเด็กยากจนที่ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความฝันและกล้าลงมือทำ เขากล้าเสี่ยงไปเรียนต่อที่อเมริกาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะสอบติดหรือไม่ กล้าลองสมัครเรียนรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้น ๆ ในอเมริกา ทั้ง ๆ ที่เคยเรียนแต่เกษตรกรรมและไม่เคยเรียนเรื่องการปกครองมาก่อนเลย หลังเกษียณเขากล้าลงสมัครเป็นผู้ว่าฯและทำสำเร็จในที่สุด

เพราะ “กล้า” จึง “ก้าว” ไปได้ “ไกล” นั่นเอง 

 

เรื่อง เกตุวดี  Marumura

ขอบคุณภาพจาก commons wikimedia.org


บทความน่าสนใจ

ท้อแท้ แต่อย่า “ท้อถอย” กับ 7 ข้อคิด และ คำคมสร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟให้ชีวิต

James Kearsley ชายหนุ่มผู้ เอาชนะโรคร้าย กลายมาเป็นนักเพาะกายสร้าง แรงบันดาลใจ

เก่ง ธชย ประทุมวรรณ กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ถึงจะเกเรแค่ไหน ผมก็จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจให้ได้  เป้ วงมายด์

ขอบคุณ “ทุกคำสบประมาท” ที่ทำให้ผมมีวันนี้… ดีเจพีเค  ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.